จากขวดไวน์เปล่าๆ ธรรมดาที่จะเอาไปขายต่อก็ไม่ได้ ไปหลอมใหม่ก็ไม่ได้ ใครจะคิดว่าจะเป็นตัวสร้างแรงบันดาลใจให้กับ สาม เอกมหาชัย นักธุรกิจด้านทำเครื่องประดับส่งออกจากแดนล้านนา เกิดไอเดียผุดแบรนด์ CHARM ที่นำเอาขวดไวน์จากเมืองนอกมาทำการตัดและเจียให้กลายเป็นของตกแต่งทั้งบนโต๊ะอาหารหรือตามสถานที่ต่างๆ ได้อย่างไม่เหมือนใคร ถ้าอยากรู้ว่าเป็นยังไง มาฟังจากปากของเขากัน
... ปัญหาด้านการกำจัด เป็นที่มาของการครีเอท ...
ปัญหาหนึ่งที่เห็นจากเพื่อนที่เป็นเอเย่นไวน์อยู่ที่เชียงใหม่คือ เรื่องของการนำเอาขวดไวน์ไปทิ้ง เนื่องจากพวกรับซื้อของเก่านั้นไม่รับซื้อ เพราะว่าไม่สามารถเอาไปหลอมใหม่ได้ หรือว่าจะเอาไปทิ้งตามกองขยะ คนเก็บขยะก็ไม่อยากได้เพราะเอาไปขายต่อไม่ได้ ซึ่งจะแตกต่างจากพวกขวดแก้ว ขวดเหล้า หรือขวดเบียร์ ที่จะมีโรงงานรับซื้อกลับไป
“ขวดไวน์พวกนี้นั้นมีส่วนผสมของเนื้อแก้วที่ไม่เหมือนกัน ถ้าเอาไปหลอมก็ต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น การใส่สารบางอย่างเพื่อให้เนื้อแก้วเข้ากันได้ ไม่อย่างนั้นมันจะแตก เพราะฉะนั้นมันเลยเอาไปหลอมขึ้นรูปแบบปกติไม่ได้ โรงหลอมเขาก็ไม่รับกลับไป เลยกลายเป็นปัญหา แต่ในขณะเดียวกันก็จุดประกายให้เราเกิดไอเดียของการนำเอาขวดไวน์พวกนี้มาดีไซน์เป็นของตกแต่งบนโต๊ะอาหารและของตกแต่งบ้าน”
... ตัดเป็นรูปทรงได้หลากหลาย แต่ที่ไม่เหมือนใครคือ การตัดแนวตรงยาวตั้งแต่หัวจรดท้าย …
โปรดักต์ของเราจะเป็นการนำเอาขวดไวน์ของต่างประเทศมาตัดใน Shape หรือรูปร่างที่ไม่เหมือนใคร โดยต้องทำการลอกฉลากหรือส่วนที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์เดิมออกทั้งหมด เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในเรื่องแบรนด์ดิ้งของทางเจ้าของ ซึ่งจุดแข็งของ CHARM คือ เราสามารถตัดได้ Shape หรือรูปทรงที่หลากหลายกว่า โดยส่วนใหญ่เขาจะตัดกันแค่แนวขวาง หรือ ตัดเป็นทรงแก้วปกติ ซึ่งมีขั้นตอนไม่ยุ่งยากมากนักเพียงแค่ใช้ที่กรีดกระจกกรีดรอบๆขวด แล้วเอาไปผ่านน้ำร้อน น้ำเย็น หรือไปเคาะให้มันแตกแล้วนำไปลับคม
“แต่ความเป็นเอกลักษณ์ของเรานั้นอยู่ที่เราสามารถตัดในแนวยาวจากปากขวดไปยังก้นขวดได้ โดยใช้เครื่องจักรที่นำเข้าจากต่างประเทศและเครื่องเจียที่เราคิดขึ้นเองเพื่อใช้ในงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งความหนาของตัวขวดแต่ละขวดก็มีผลต่อการดีไซน์ เพราะถ้าขวดยิ่งหนาก็จะยิ่งตัดได้ง่ายขึ้น หรือถ้าเป็นขวดที่ค่อนข้างบาง การตัดก็จะค่อนข้างยากขึ้นมาหน่อย”
… ดีไซน์ที่หลากหลาย ก่อให้เกิดฟังก์ชั่นการใช้งานอย่างมากมาย ...
ผลงานดีไซน์ของเราสามารถนำไปใช้งานได้หลายอย่าง เช่น ถ้าตัดตามยาวก็ใช้เป็นกระถางต้นไม้ เป็นภาชนะหรือถาดรองใส่ขนมกินเล่น ใส่พวกค็อกเทลได้ อย่างร้านอาหาร ร้านกาแฟก็นำไปเสิร์ฟใส่ขนมปังเป็นสแน็คเล็กๆ หรือถ้าตัดตามขวางให้เป็นทรงแก้วปกติก็สามารถนำไปทำเป็นโคมไฟ เป็นที่ครอบเทียน นำไปเข้าคู่เพิ่มความเก๋กับงานจักสานหรืองานไม้ได้ ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะนำไปประยุกต์ใช้เป็นอะไร เพราะมีฟังก์ชั่นและดีไซน์ที่ค่อนข้างกว้าง ดังนั้นจึงสามารถนำไปใช้งานได้อย่างหลากหลาย
“ลูกค้าของเราเลยมีทั้งคนทั่วไปที่ชื่นชอบในงานดีไซน์ที่ไม่เหมือนใคร รวมไปถึงกลุ่มผู้บริโภคที่เป็นสถาปนิกที่รับตกแต่งบ้าน ตกแต่งสวน โดยจะนำเอางานของเราไปตกแต่งหรือประยุกต์ต่อ นอกจากนี้กลุ่มคนรุ่นใหม่ยังเป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา เพราะมีแนวโน้มที่จะไม่ยึดติดในความเชื่อแบบเดิมๆอย่างการไม่ให้เอาแก้วแตกเข้าบ้านนั่นเอง”
นับเป็นอีกหนึ่งผลงานดีไซน์ ที่ทางแบรนด์อยากครีเอทเพื่อสะท้อนให้เห็นในอีกมุมว่า การรีไซเคิลนั้นไม่จำเป็นจะต้องยึดติดอยู่ที่พลาสติกเพียงอย่างเดียว เพราะถึงแม้ว่าขวดแก้วจะไม่ใช่วัสดุที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม แต่ก็สามารถก่อให้เกิดปัญหาเรื่องของขยะล้นได้
“อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคงานดีไซน์จากการรีไซเคิลในบ้านเรานั้นยังถือว่ามีไม่มาก หากเทียบกับต่างประเทศที่มีความนิยมในงานประเภทนี้และมีการนำไปใช้จริง เพราะคนส่วนใหญ่ยังมองว่าขวดแก้วพวกนี้เป็นขยะ จะนำไปใช้ตกแต่งบ้านก็รู้สึกตะขิดตะขวงใจ ซึ่งก็ต้องอาศัยเวลาและการสร้างการรับรู้ แต่ด้วยความที่แก้วเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในตัวเอง จึงสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าได้ด้วยการนำเอาไอเดียใหม่ๆมาต่อยอด”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี