ถ้าจะพูดถึงเรื่องของการทำตลาดโดยอินฟลูเอนเซอร์ (Influencer) คงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร เพราะการตลาดในลักษณะที่ใช้คนดัง มีชื่อเสียงนั้นเกิดขึ้นในบ้านเรามานานแล้ว เริ่มตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่มีการโฆษณาทางโทรทัศน์เราก็มักจะได้เห็นการใช้ดาราดังมาเป็นพรีเซนเตอร์ หรือในละครหลังข่าวก็มีการ Tie-in สินค้าแบบเนียนๆ อยู่บ่อยๆ แต่เมื่อยุคนี้คือยุคดิจิทัล รูปแบบของการโฆษณาโดยอินฟลูเอนเซอร์จึงหลากหลายมากขึ้น ใครที่มีความสามารถพิเศษ หน้าตาดี ไลฟ์สไตล์โดน ก็ก่อให้เกิดผู้ติดตามเป็นจำนวนมาก มีพลังในการบอกต่อ พวกเขาเลยกลายเป็นอินฟลูเอนเซอร์ไปโดยปริยาย
แต่มาถึงจุดหนึ่งที่ผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้นทั้งการหาข้อมูลก่อนตัดสินใจจนถึงการซื้อสินค้า พวกเขาเริ่มอิ่มตัวกับการโฆษณาโดยอินฟลูเอนเซอร์หรือเปล่า? แล้วธุรกิจหรือนักการตลาดที่อยากจะใช้หนทางนี้ในการแจ้งเกิดแบรนด์ยังโอเคอยู่ไหม? ถ้าไม่เชื่ออินฟลูเอนเซอร์แล้วผู้บริโภคจะเชื่อใคร?
- โอกาสทางธุรกิจจากเทรนด์อินฟลูเอนเซอร์
ล่าสุดจากงานสัมมนาการตลาด “Such Seed Marketing: 2019 Influencer ครองเมือง” ที่จัดขึ้นโดย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พูดถึงเทรนด์อินฟลูเอนเซอร์ ทางทีมนักศึกษาได้ทำการวิจัยโดยมีกลุ่มตัวอย่างสองกลุ่มคือกลุ่มนักการตลาดและกลุ่มธุรกิจที่ใช้งานอินฟลูเอนเซอร์กับกลุ่มผู้บริโภคซึ่งเป็นคนรับข่าวสารจากอินฟลูเอนเซอร์ก็ได้พบข้อมูลที่น่าสนใจ
86% หวังว่าเหล่าอินฟลูเอนเซอร์จะเป็นกระบอกเสียงในการบอกต่อ
กลุ่มนักการตลาดและนักธุรกิจที่เลือกใช้อินฟลูเอนเซอร์เนื่องจากหวังผลด้านของ Awareness หรือสร้างการรับรู้มากที่สุด พวกเขาหวังว่าเหล่าอินฟลูเอนเซอร์จะเป็นกระบอกเสียงในการบอกต่อให้คนติดตามได้รับรู้ถึงการมีอยู่ในแบรนด์นั้นๆ โดย SME ขนาดเล็กนั้นหวังยอดขายมากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการสร้างการรับรู้ในระยะยาว เพราะธุรกิจขนาดเล็กจะมีงบทางการตลาดค่อนข้างจำกัด เมื่อลงเงินไปจึงหวังผลยอดขายที่จะย้อนกลับมาเร็วๆ
Facebook มาแรงสุด! แต่ SME ยังใช้ Instagram มากกว่า
ธุรกิจขนาดใหญ่มักจะเลือกใช้ Facebook และ Youtube มากที่สุดเนื่องจากพวกเขามองว่าคอนเทนต์ที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือวีดีโอ ต่างจากธุรกิจขนาดเล็กที่จะเลือกใช้ Instagram มากกว่าเนื่องจากเขามองว่าการใช้รูปภาพดีกว่าทั้งในแง่ต้นทุนและการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าของเขา
ผู้บริโภค 48.5% เล่นสมาร์ทโฟนตลอดเวลา
สำหรับผู้บริโภคได้แบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือ Gen X 20%และ Gen Y 80% พบว่าพวกเขาส่วนใหญ่ประมาณ 48.5% มีการเล่นสมาร์ทโฟนและออนไลน์กันอยู่ตลอดเวลา ส่วน 35.9% ออนไลน์ช่วงเวลา 19.30 – ก่อนนอน อีก 8.4% มักจะออนไลน์ในช่วงเช้า นอกจากนี้เวลาที่พวกเขาเห็นรีวิวจากอินฟลูเอนเซอร์ทั้ง Gen X และ Gen Y มักจะมีการกระทำที่เหมือนกันคือ ส่วนใหญ่พอเห็นรีวิวแล้วจะเซฟเข้าเครื่องและจำไว้ก่อน ค่อยกลับมาดูทีหลัง และคนส่วนน้อยพอเห็นรีวิวแล้วไปค้นหาข้อมูลต่อทันที
3 ช สู่เป้าหมายการใช้อินฟลูเอนเซอร์
1.ช.ชอบ กับ 5 อันดับวงการอินฟลูเอนเซอร์ที่ผู้บริโภคชอบติดตามคือ 1.ท่องเที่ยว 2.อาหาร 3.แฟชั่น 4.สุขภาพ 5.การเงิน ตามลำดับ
2. ช.เชื่อ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์แบบไหน เริ่มต้นที่ Gen X ชอบคนที่มีสาระมากที่สุดให้ความรู้มากที่สุด รองลงมาคือ มีความคิดสร้างสรรค์ ปิดท้ายที่การเป็นตัวของตัวเอง ส่วน Gen Y ชอบคนที่มีสาระมากที่สุดเช่นกัน รองลงมาคือคนที่เป็นตัวของตัวเอง ปิดท้ายด้วยคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ นอกจากนี้ Gen X ยังชอบอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงในวงกว้างมากที่สุดต่างจาก Gen Y ที่ชอบอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความสามารถเฉพาะด้านไปเลย
3. ช.ช้อป ผลสำรวจพบว่า 75% ของผู้บริโภคเคยซื้อสินค้าหลังจากเห็นรีวิว สินค้าที่พวกเขาซื้อตามรีวิวมากที่สุดคือ เครื่องสำอาง รองลงมาคืออาหาร เครื่องดื่ม ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ตามลำดับ
- คนยังอินกับการโฆษณาโดยอินฟลูเอนเซอร์อยู่ไหม?
หากถามว่าแล้วตอนนี้ผู้บริโภคยังเชื่อถืออินฟลูเอนเซอร์อยู่ไหม? ถ้าหากคุณหวังผลด้านยอดขายอาจจะไม่สามารถวัดได้อย่างชัดเจน แต่ถ้าหวังผลเรื่องของการสร้างการรับรู้ การใช้อินฟลูเอนเซอร์ก็ยังได้ผลอยู่
อีกคนหนึ่งที่พูดเรื่องอินฟลูเอนเซอร์ได้อย่างน่าสนใจคือ ปอนด์-ภริษา ยาคอปเซ่น เจ้าแม่ Youtuber ตั้งแต่ยุคแรกจนมาถึงยุคปัจจุบันที่เธอได้กลายเป็นพี่สาวชาวเน็ต เพราะอยู่ในวงการมานาน หลายคนต่างก็เรียกเธอว่าเจ๊ โดยเธอบอกว่าในตอนแรกอินฟลูเอนเซอร์คือเหล่าดารา ขยับมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่คนรู้จักเยอะๆ ขยับมาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่คนรู้จักน้อยๆ เพราะคนรู้จักเยอะๆ คงโดนโฆษณาซื้อไปหมดแล้ว หลังๆ คนที่ตามน้อยๆ ก็โดนโฆษณาซื้อเหมือนกัน งั้นฟังเพื่อนดีกว่า สุดท้ายเพื่อนก็กลายเป็น Mini ที่โดนโฆษณาซื้ออยู่ดี
“ทุกวันนี้คนอยู่ด้วยความหวาดระแวงว่าใครจะมาขายของฉัน เวลาดูคลิป จะดูว่าขายของเมื่อไหร่ ก็จะปิดเมื่อนั้น ปอนด์รู้สึกว่าเราจะเชื่อคนที่เราเชื่อ คือถ้าคนนี้ผลิตงานที่มีคุณภาพออกมา เขามักจะพูดความจริง ขายของก็บอกขายของ เขาดูจริงใจอ่ะ โดนแบรนด์ซื้อโฆษณาก็จริง แต่ก็บอกมาเลยว่าขายของนะ ดังนั้นมันซีเรียสว่าถ้าจะทำโฆษณาก็เขียนมาเลยว่า Advertorial”
ในตอนนี้ผู้บริโภคเองก็หลีกเลี่ยงการดูรีวิวแบบไร้โฆษณาได้ยากขึ้น เพราะไม่ว่าอินฟลูเอนเซอร์จะใหญ่หรือจะเล็กก็โดนแบรนด์ซื้อได้เหมือนกัน เพียงแต่การรีวิวแบบที่มีความจริงใจ บอกมาเลยว่าขายของพร้อมทั้งทำคอนเทนต์ออกมาให้มีคุณภาพ มีประโยชน์หรือสร้างสรรค์สักหน่อย ก็จะทำให้ผู้บริโภคยอมรับการโดนขายของได้มากกว่าการเนียนๆ ขาย ไทอินไป แล้วก็จบ ผู้บริโภคไม่ได้อะไรเลย เขาก็จะติดแบล็กลิสต์เหล่า Content Creator หรืออินฟลูเอนเซอร์แบบนี้ทันที
ธุรกิจหรือนักการตลาดที่สนใจการทำตลาดด้วยอินฟลูเอนเซอร์ก็พยายามอย่า Hard Sell มากเกินไป ขอแค่มีความจริงใจกับผู้บริโภค ลองใช้กลยุทธ์นี้ในการทำตลาดอินฟลูเอนเซอร์กับกลยุทธ์ที่เรียกว่า ‘SEED Strategy’
- S = Sincere ผู้บริโภคต้องการความจริงใจทั้งจากแบรนด์และอินฟลูเอนเซอร์
- E= Expertise ข้อมูลเนื้อหาสาระและความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของอินฟลูเอนเซอร์
- E= Engagement นอกเหนือจากจำนวนผู้ติดตาม อินฟลูเอนเซอร์ที่ดีควรมี Engagement และความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ติดตามของพวกเขา
- D = Different มองหาอินฟลูเอนเซอร์ที่มีความโดดเด่น แตกต่าง เป็นตัวของตัวเองและมีเอกลักษณ์
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี