ช่วงนี้เห็นกระแสข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมถูกพูดถึงกันเข้มข้นมากขึ้น อาทิ มาตรการลดใช้ถุงพลาสติกในกลุ่มประเทศสมาชิก EU ที่กำหนดให้ใช้ได้ไม่เกิน 90 ใบต่อคนต่อปี ภายในปี 2562 และ 40 ใบต่อคนต่อปี ภายในปี 2568 นโยบายประกาศยกเลิกใช้หลอดพลาสติกทุกสาขาของสตาร์บัคส์ ภายในปี 2563 โดยจะเปลี่ยนมาใช้ฝาพลาสติกรีไซเคิลที่มีช่องเปิดเล็กๆ ไว้สำหรับดื่มแทน บวกกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่เองที่ใส่ใจรักษ์โลกกันมากขึ้น ทำให้หลายธุรกิจต่างหันมาปรับตัวเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น PLA หรือ พลาสติกจากชีวภาพ คือ หนึ่งในคำตอบ และกำลังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของผู้ประกอบการในธุรกิจต่างๆ อยู่ในขณะนี้ โดยเฉพาะร้านกาแฟที่ต้องมีการใช้หลอดและแก้วพลาสติกปริมาณค่อนข้างมากในแต่ละวัน
ทำความรู้จักกับ PLA
พลาสติก PLA หรือ Polylactic Acid เป็นพลาสติกชีวภาพสามารถย่อยสลายได้ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ด้วยการนำวัตถุดิบธรรมชาติดังกล่าวไปเปลี่ยนให้เป็นแป้ง จากนั้นจึงนำไปผ่านกระบวนการหมัก โดยใช้แบคทีเรีย จนได้ออกมาเป็นกรดแลคติก ซึ่งกรดแลคติกนี่เอง คือ โมโนเมอร์ที่นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตเม็ดพลาสติก โดยนำไปผ่านกระบวนการ Polymerization ได้ออกมาเป็นโพลีเมอร์ชื่อว่า ‘Polylactic Acid’ โดยผู้ริเริ่มผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ PLA รายใหญ่ของโลกนั้น คือ สหรัฐอเมริกา ซึ่งนับวันความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพนี้จะมีแนวโน้มสูงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากการผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั่นเอง โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินไว้ว่าในปี 2020 ความต้องการใช้พลาสติกชีวภาพทั่วโลกอาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.3 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปี 2012 ที่มีเพียง 0.4 ล้านตันเท่านั้น
จุดกำเนิดในเมืองไทย
สำหรับในเมืองไทยนั้น การใช้พลาสติก PLA เริ่มต้นขึ้นได้ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว โดยมีสถาบันการศึกษา และหน่วยงานจากภาครัฐหลายแห่งให้ความสนใจทำการวิจัย ในช่วงนั้นเริ่มมีผู้ประกอบการ เองให้ความสนใจใช้บรรจุภัณฑ์จากพลาสติก PLA เช่นกันทั้งรายเล็กและรายใหญ่ อาทิ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำไปใช้ในกลุ่มผลิตภัณฑ์แช่เย็นอาหารสด หรืออย่างบริษัท แดรี่โฮม จำกัด ผู้ผลิตนม ไอศกรีม และโยเกิร์ตชื่อดังแห่งจังหวัดนครราชสีมาเองที่เริ่มมีการทดลองนำมาใช้กับถ้วยใส่โยเกิร์ตในปี 2558 และพัฒนาต่อมาเรื่อยในส่วนของถ้วยไอศกรีม และขวดนม หรือกาแฟดอยช้าง เริ่มนำแก้ว PLA มาใช้กับเครื่องดื่มเป็นรายแรกๆตั้งแต่ปี 2557 แต่การใช้บรรจุภัณฑ์ PLA ในยุคนั้นยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมและแพร่หลายมากนัก เนื่องจากมีต้นทุนราคาที่สูงกว่าบรรจุภัณฑ์ทั่วไปอยู่หลายเท่า
แต่ในปัจจุบันนี้ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีเพิ่มมากขึ้น หลายธุรกิจจึงหันมาให้ความสำคัญกับการลดใช้พลาสติกประเภทครั้งเดียว (single-use plastics) รวมถึงการแสวงหาวัสดุจากชีวภาพเข้ามาใช้ทดแทน พลาสติก PLA จึงเริ่มได้รับความสนใจและถูกนำมาใช้เพิ่มมากขึ้น โดยบรรจุภัณฑ์จาก PLA ที่มีขายส่วนใหญ่ในทุกวันนี้ยังคงเป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ ทั้งบรรจุภัณฑ์สำเร็จรูปและเม็ดพลาสติก แม้จะมีการเปิดตัวโรงงานผลิต PLA ขึ้น ซึ่งเกิดจากการเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติ แต่ยังคงเป็นการผลิต เพื่อจำหน่ายออกไปยังต่างประเทศมากกว่า แต่มีข่าวแว่วมาว่าในอนาคตอีกไม่นานนักอาจมีการลงทุนเพิ่มเติมจากภาครัฐเอง เพื่อให้เกิดการใช้งานแพร่หลายมากขึ้น รวมถึงส่งออกไปขายยังทั่วโลก โดยไทยเองได้เปรียบในแง่ของการเป็นแหล่งพืชวัตถุดิบที่ดีไม่ว่าจะเป็นข้าวโพด หรืออ้อย ทำให้มั่นใจได้ว่ามีวัตถุดิบเพียงพอ
Cr : Goodwill
พลาสติก PLA ต่างจากบรรจุภัณฑ์พลาสติกอื่นยังไง
ปัจจุบันนี้การจำหน่ายบรรจุภัณฑ์จาก PLA ไม่ว่าจะเป็นหลอด แก้วกาแฟพร้อมฝา ช้อนส้อม ฯลฯ สามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น มีบริษัทผู้จัดจำหน่ายเกิดเพิ่มมากขึ้น มีให้เลือกทั้งขายส่งและขายปลีก ทำให้สามารถทดลองนำไปใช้งานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการรายย่อยหรือ SME
หากกล่าวถึงคุณสมบัติของบรรจุภัณฑ์พลาสติกทั่วไปและบรรจุภัณฑ์จาก PLA แล้ว อาทิ แก้ว PET และแก้ว PLA ที่เป็นพลาสติกใส พบว่าคุณสมบัติการใช้งานแทบไม่แตกต่างกันเลย คือ มีความใส น้ำหนักเบา และมีความยืดหยุ่นเหมือนกัน ต่างกันเพียงการย่อยสลาย ซึ่งหากเป็นพลาสติกทั่วไปอาจใช้เวลาการย่อยสลายเป็นนับร้อยๆ ปี จากพลาสติกย่อยมาเป็นไมโครพลาสติก ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและผู้คนในที่สุด แต่หากเป็นแก้วพลาสติก PLA จะใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี อาจ 1 – 5 ปี หรือมากกว่านั้น ก็สามารถย่อยสลายได้หมดแล้ว เนื่องจากผลิตมาจากวัตถุดิบธรรมชาติ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม จุลินทรีย์ อุณหภูมิ ความชื้นที่เหมาะสม
ในส่วนของแก้วกาแฟ หนึ่งในสินค้าที่มีการใช้งานค่อนข้างมากพอๆ กับหลอด ก็ได้มีการออกแบบให้เหมาะสมกับการใช้งานที่มีความหลากหลายรูปแบบตามความต้องการของลูกค้าด้วย โดยมีให้เลือกทั้งแบบที่เป็นพลาสติกใสคล้ายแก้ว PET และแก้วกระดาษที่เคลือบด้านในด้วย PLA เพื่อกันการซึมของน้ำแทนการใช้ PE ที่ผลิตมาจากกระบวนการปิโตรเคมีซึ่งย่อยสลายได้ยาก
Cr : Goodwill
ในด้านราคานั้น Goodwill หนึ่งในแบรนด์บรรจุภัณฑ์ เพื่อสิ่งแวดล้อมและพลาสติกชีวภาพ PLA ได้เปิดเผยข้อมูลว่า ราคาของบรรจุภัณฑ์ PLA ในทุกวันนี้ถูกลงมากว่าในอดีตมาก และ จากเดิมที่ลูกค้าต้องสั่งซื้อล็อตใหญ่ ปัจจุบันสามารถสั่งซื้อปลีกได้แล้ว โดยหากเปรียบเทียบราคากับบรรจุภัณฑ์ทั่วไปในท้องตลาดที่รูปร่างหน้าตาคล้ายคลึงกันแล้วนั้น บรรจุภัณฑ์จาก PLA จะมีราคาสูงกว่าไม่มาก
“ราคาของบรรจุภัณฑ์จาก PLA ในทุกวันนี้ถือว่าถูกลงมากและสามารถหาซื้อได้ง่ายขึ้น ในอดีตถ้าเทียบกับราคาบรรจุภัณฑ์ PET ทั่วไปอาจสูงมากกว่าเท่าตัว แต่ปัจจุบันนี้ จะสูงกว่า ประมาณ 60-80% เท่านั้น ในด้านความสนใจของกลุ่มลูกค้าที่สอบถามเข้ามา ก็มีเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะปีนี้ ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ลูกค้าเริ่มถามว่าสินค้าจาก PLA นั้นมีอะไรอยู่บ้าง ราคาเท่าไหร่ เพื่อจะได้นำไปคิดคำนวณกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ว่าเหมาะที่จะใช้กับผลิตภัณฑ์ของเขาไหม ทั้งที่จากเดิมนั้นแทบจะไม่มีเลย หรือ ไม่ค่อยมีคนรู้จักด้วยซ้ำไป อาจเป็นเพราะกระแสข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่ออกมามากขึ้น เช่น การประกาศยกเลิกการใช้หลอดและพลาสติกใช้แล้วทิ้งของกลุ่มประเทศ EU การตรวจพบเศษพลาสติกจำนวนมากในซากสัตว์น้ำที่เสียชีวิตของกลุ่ม NGO หรือแม้แต่การทำโฆษณาถ่ายทอดเกร็ดความรู้จากเคมีภัณฑ์ต่างๆ ของปตท.ในช่วงฟุตบอลโลกที่ผ่านมา กลายเป็นระลอกคลื่นที่คอยกระตุ้นให้เขาเกิดความสนใจเพิ่มมากขึ้น”
โดยกล่าวเพิ่มเติมว่าลูกค้าส่วนใหญ่ที่เข้ามาสอบถามส่วนใหญ่ คือ กลุ่มร้านกาแฟ ร้านอาหาร ที่มีความสนใจเกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงยินดีที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม และขณะเดียวกันก็ช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เด่นชัดยิ่งขึ้น ร้านเหล่านี้ส่วนมากจะมีแบรนด์ของตัวเอง ขายสินค้าเพื่อสุขภาพ ขายสินค้าพรีเมียม ต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้นตรงนี้ จึงอยู่ในระดับที่สามารถยอมรับได้
อยากใช้ PLA ต้องทำยังไง
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจอยากใช้บรรจุภัณฑ์จาก PLA หรือผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทางแบรนด์ Good Will ได้ให้ความเห็นไว้ดังนี้
“สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการลดการใช้พลาสติก และอยากจะหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เรามองว่าไม่จำเป็นที่เขาจะต้องกระโดดจากพลาสติกไปเป็น PLA 100% ทันทีเลยก็ได้ เพราะหลายคนยังไม่สามารถรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาได้ในทันที หรืออาจไม่เหมาะสมกับราคาสินค้าที่จำหน่าย วิธีการง่ายๆ คือ เมื่อยังไม่สามารถเปลี่ยนใหม่หมดได้ทันที ก็ให้ลองเริ่มจากลดปริมาณการใช้งานพลาสติกลงไปก่อน ยกตัวอย่างเช่นกล่องอาหาร 1 กล่อง จากเดิมที่ใช้กล่องเป็นพลาสติกร้อยเปอร์เซ็นต์ เราลองเปลี่ยนมาใช้กล่องที่ส่วนหนึ่งเป็นกระดาษ เช่น ตัวกล่อง แต่ฝาที่ปิดยังคงเป็นพลาสติกใสเหมือนเดิม เพื่อเอาไว้โชว์อาหารที่อยู่ด้านใน เท่านี้เราก็สามารถลดการใช้งานพลาสติกลงได้กว่า 70 - 80 % แล้ว หรือเปลี่ยนฝาแก้วกาแฟร้อนจากพลาสติกเป็นฝากระดาษก็เป็นเรื่องง่ายๆ หรืออย่างกรณีแก้วกาแฟ ถ้าจะเปลี่ยนจากแก้วใส PET มาเป็นแก้วใส PLA เลย ซึ่งต้นทุนเพิ่มขึ้นประมาณ 70 % หากคิดว่าต้นทุนสูงเกินไป ก็ลองเปลี่ยนเป็นแก้วกระดาษที่เคลือบด้วย PLA ก่อนไหม เพราะต้นทุนสูงกว่าแก้วกระดาษที่เคลือบด้วย PE ซึ่งเป็นพลาสติกไม่ย่อยสลาย เพียง 20-30% เท่านั้น ด้วยวิธีง่ายๆแบบนี้ เราก็ได้ช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กับการดำเนินธุรกิจของเรา”
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี