มองไปรอบตัวคุณอาจจะเห็นแบรนด์ใหม่เกิดขึ้นมากมาย เราอยู่ในยุคที่ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วไปหมด ถ้าคุณหยุดเดินแค่ก้าวเดียวก็อาจจะทำให้คุณตามหลังคนอื่นแล้ว ยิ่งการทำตลาด พอคุณเฟ้นหาวิธีใหม่ๆ มาถึงจุดหนึ่งก็อาจจะทำให้คุณเริ่มตัน คิดอะไรไม่ออก ไม่ว่าทำอะไรก็ดูเหมือนคู่แข่งจะทำไปหมดแล้ว เราจึงต้องมองหากลยุทธ์ใหม่ๆ เพื่อมาทำให้ธุรกิจของคุณหลุดออกจากทางตัน สโรจ เลาหศิริ Chief Marketing Officer จากดิจิทัลเอเจนซี Rabbit's Tale ที่ได้นำสูตรสมการตลาดสั้นๆ ที่สามารถให้ผู้ประกอบการนำไปพลิกแพลงเพื่อได้ไอเดียใหม่ๆ ทางการตลาดถึง 54 ไอเดีย
“เชื่อไหมว่าทุกวันนี้เราเดินเข้าไปในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง เราจะเจอแบรนด์กว่า 72,000 ยี่ห้อ เราอยู่บนโลกที่ทางเลือกเยอะขึ้น เพราะการเข้ามาของเทคโนโลยีและสิ่งต่างๆ ทำให้คนเข้าถึงข้อมูลที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ ทุกอย่างมันไวขึ้น แม้แต่เราเดินทางไปไหน เราก็เจอโฆษณาประมาณ 4,000 โฆษณาต่อวัน วันนี้เราจึงจำเป็นมาก ที่ต้องสร้างความแตกต่างให้เราโดดเด่นและคิดนำหน้าคู่แข่ง ถ้าเรามองในตลาดแล้วเห็นว่าคู่แข่งทำแบบไหนและเราเอามาทำตลาด แสดงว่าเราจะตามหลังเขาทันที เพราะวันนี้ทุกคนเดินไปข้างหน้า”
เพราะฉะนั้นการสร้างความแตกต่างให้ตัวเองจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในตอนนี้ อย่างการทำตลาดแบบสุดขั้วก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้ธุรกิจของคุณเกิดสิ่งใหม่ สโรจจึงนำเสนอสูตรสมการสั้นๆ ที่เกิดจากการ X กันของ Competitive Strategy (กลยุทธ์ทางการแข่งขัน) กับ Marketing Mixes (ส่วนผสมทางการตลาด) จะได้เท่ากับไอเดียใหม่กว่า 54 ไอเดีย
โดย Competitive Strategy มีทั้งหมด 6 อย่างด้วยกันคือ
1.Differentiation หรือความแตกต่าง แต่ต้องแตกต่างอย่างมีคุณค่าให้กับผู้บริโภค บางคนแตกต่างแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ลูกค้าลูกค้า
2.Cost Leadership หรือต้นทุนราคา ต้องดูเรื่องการทำราคาให้ถูกเพื่อขายได้ในราคาที่ถูกกว่า
3.Speed หรือความรวดเร็ว เราอยู่ในโลกของปลาเร็วกินปลาช้า
4.Data Driven เมื่อเรามีดิจิตอล สิ่งที่สำคัญคือข้อมูล การเก็บข้อมูล คนมักเข้าใจผิดว่าดิจิตอลเป็นแค่สื่อ แต่ที่มากกว่าคือการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการแข่งขัน
5.Accessibility การทำให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์เข้าถึงง่าย ไปไหนก็เจอ กระจายสินค้าให้มากที่สุด วันนี้ดิจิตอลเข้ามาเปิดโอกาสเราทำ E-commerce ถ้าสินค้าเราเสิร์ชเมื่อไหร่ก็เจอ เราก็ได้เปรียบในการแข่งขัน แม้ว่าจะทำการตลาดดังแต่สินค้าหาซื้อยาก เราก็ขายไม่ได้
6.Collaboration การร่วมมือกับพันธมิตรใหม่ๆ ยังมีการ Collaboration Strategy อีกมากมายที่จะช่วยคุณฝ่าทางตัน หัวเดียวอาจจะไม่รอด แม้แต่ Alibaba ยังมีการ Collaboration ใหม่อยู่เรื่อยๆ
ส่วน Marketing Mixes ที่จะนำมาคูณกับ Competitive Strategy มีทั้งหมด 9P ด้วยกัน
1.Proposition จุดยืนของธุรกิจที่เป็นเอกลักษณ์
2.Product สินค้าที่ขายต้องสอดคล้องกับจุดยืน
3.Package แพ็คเกจของสินค้า หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ วิธีการนำเสนอ
4.Price ราคาหรือส่วนลด อาจจะมีวิธีการทำราคาหรือโปรโมชั่นที่แตกต่าง
5.Place ช่องทางการขาย
6.Promotion หลายคนเข้าใจผิดว่าโปรโมชั่นในส่วนผสมของการตลาดคือส่วนลด แต่โปรโมชั่นคือการสื่อสารการตลาดทั้งหมด เป็นการโฆษณาสินค้าของคุณออกไป
7.Process กระบวนการของสินค้าและบริการ บางทีคุณเข้าไปร้านค้า อาจจะมีวิธีการดูแลลูกค้าที่แตกต่าง บางร้านไม่มีพนักงานมาจดออเดอร์ต้องเดินตามช่องทางที่จัดไว้ หรืออีเกียบังคับให้คุณเดินเป็นดูสินค้าตามเส้นทาง
8.People ทรัพยากรมนุษย์ของบริษัท คนที่ทำงาน
9.Physical Evidence พูดถึงร้านค้าของเรา รวมทั้งเว็บไซต์ ประสบการหน้าร้านรวมถึงโลกออนไลน์ สมมติเวลาเข้าไปในเว็บผ่านมือถือ แต่โหลดเว็บไม่ติด รูปไม่ขึ้น ถือว่าประสบการณ์ในเว็บไม่ดี ลูกค้าก็เดินออก
ทั้ง 2 ส่วนจะมาผสมรวมกันกลายเป็นไอเดียใหม่ๆ (Competitive Strategy) X (Marketing Mixes) = ไอเดียใหม่ เป็นสมการที่จะช่วยให้คุณฝ่าทางตันทางธุรกิจของตัวเอง โดยสโรจได้ยกตัวอย่างของการทำสมการนี้มาจากหลายๆ ธุรกิจด้วยกัน
(Differentiation) X (Proposition) = ร้านแฮมเบอร์เกอร์ชื่อ Homeburg ที่มีคนจองคิวเต็มเอี๊ยด 2-3 เดือนติดต่อกัน เกิดจากเจ้าของเป็นคนชอบแฮมเบอร์เกอร์และคิดว่าแฮมเบอร์เกอร์ในตลาดยังไม่พอดี เขาจึงวางคอนเซ็ปต์การทำแฮมเบอร์เกอร์ตามสูตร ที่ใช้เวลาต่อชิ้นถึง 15 นาที แต่ด้วยความที่ไม่อยากให้คนรอนานจึงรับคนแค่ 4 คนใน 1 ชั่วโมง จุดเด่นอีกอย่างคือแฮมเบอร์เกอร์ของเขามีความเป็นโฮมเมด ค่อยๆ ทำทีละชิ้น เมื่อลูกค้ากินเสร็จก็ให้จ่ายเงินเท่าไหร่ก็ได้ตามที่ลูกค้าพอใจ อร่อยมากก็จ่ายเยอะ จนราคาแฮมเบอร์เกอร์เด้งไปที่ชิ้นละ 500 บาทเลยทีเดียว
(Differentiation) X (People) = ร้านสถานีมีหอย ร้านขายซีฟู้ดที่ตลาดนัดหัวมุม จุดเด่นคือการนำพนักงานในร้านที่มี Six-pack แต่งตัวเป็นสาวเซ็กซี่มาเต้นทุกครึ่งชั่วโมง ทำให้ลูกค้ามาต่อคิวเยอะมากแถมยังถ่ายรูปลงโซเชียลเป็นการโปรโมทร้านไปในตัว
(Speed) X (Package) = แบรนด์น้ำส้มชื่อ InterMarche ของต่างประเทศที่ทำการตลาดบรรจุภัณฑ์ด้วยความเร็ว เขาจะระบุเวลาที่คั้นน้ำส้มลงบนแพ็คเกจจิ้งเลยเพื่อให้ลูกค้ารู้ว่าน้ำส้มนี้คั้นตอนไหน กี่โมง เช่น คั้นเวลา 08.15 ก็ใส่เวลานี้ลงบนขวดเลย
(Data Driven) X (Price) = โรงละครจากประเทศสเปนที่ประสบปัญหารัฐบาลขึ้นภาษีการแสดงทำให้เขาขึ้นราคาบัตรชมโชว์ คนจึงหายไปถึง 30% เขาจึงเปลี่ยนกลยุทธ์ด้วยการให้คนเข้าไปดูโชว์และเก็บเงินตามจำนวนครั้งที่คนหัวเราะหรือที่เรียกว่า Pay per laugh หัวเราะครั้งหนึ่งจ่าย 30 เซ็น เป็นไอเดียสนุกๆ ทำให้คนเพิ่มขึ้นถึง 35%
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี