เครื่องประดับอัตลักษณ์..มรดกอันทรงคุณค่าของไทย

 
 
           ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับที่สำคัญของโลก เนื่องด้วยมีข้อได้เปรียบในด้านทักษะฝีมือแรงงาน ประกอบกับมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเครื่องประดับอยู่มาก เครื่องประดับของไทยจึงได้รับการยอมรับอย่างสูงในตลาดโลก ทั้งในด้านรูปแบบสินค้าที่สวยงามและคุณภาพได้มาตรฐานสากล ซึ่งศักยภาพการผลิตเครื่องประดับของไทยนั้น ไม่ได้มีเพียงเฉพาะในภาคโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น แต่ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์ของช่างฝีมือระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่มีคุณค่าและสะท้อนถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม และความเป็นชาติไทยได้เป็นอย่างดี
 

เครื่องประดับอัตลักษณ์ของไทย

 
           วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม และวัฒนธรรมอันหลากหลายของคนไทยในแต่ละภาคมีอิทธิพลและเป็นบ่อเกิดแห่งชิ้นงานศิลปะรูปแบบต่างๆ อันรวมถึงการสร้างสรรค์ชิ้นงานเครื่องประดับด้วย โดยเครื่องประดับอัตลักษณ์ของไทยนั้น ถือเป็นความพยายามของช่างฝีมือในระดับท้องถิ่นที่ได้ถ่ายทอดภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ของท้องถิ่นลงบนตัวชิ้นงาน อันเป็นการสะท้อนถึงตัวตนเอกลักษณ์ของแต่ละท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เครื่องประดับไทยอันประกอบด้วยเครื่องประดับทอง เครื่องประดับเงิน และเครื่องถม ล้วนถูกผลิตขึ้นโดยช่างฝีมือผู้ชำนาญงานและสะท้อนอัตลักษณ์ในท้องถิ่นผ่านลวดลายที่หลากหลายและงดงาม ก่อให้เกิดการจดจำและบ่งบอกได้ถึงแหล่งที่มาอันเชื่อมโยงเข้าสู่ความเป็นไทย 
 
 
เครื่องประดับทอง 

           เครื่องประดับทองโบราณมีแหล่งผลิตที่สำคัญอยู่บริเวณภาคกลางของประเทศไทย อันได้แก่ จังหวัด สุโขทัย และเพชรบุรี โดยความพิเศษของเครื่องประดับทองโบราณนั้น แตกต่างจากเครื่องประดับทองทั่วไปในเรื่องค่าความบริสุทธิ์ของทองคำที่ใช้ผลิต ซึ่งมีค่าความบริสุทธิ์สูงถึง 99.5-99.99%

         อีกทั้งยังมีการออกแบบลวดลายโดยใช้ศิลปะไทยใส่เข้าไปในตัวชิ้นงาน ทั้งเครื่องประดับทองของสุโขทัยและเพชรบุรีถือเป็นงานศิลปะขั้นสูงที่มีรากฐานทางความคิดในการผลิตและออกแบบลวดลายมาจากศิลปะแบบไทยแท้ที่มักเกี่ยวข้องกับศาสนา โบราณสถาน และวิถีชีวิตของคนไทยในสมัยก่อน แต่ถึงกระนั้น ด้วยความที่สภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้เครื่องประดับทองจากทั้งสองแหล่งมีเกร็ดรายละเอียดของลวดลายหรือเทคนิคในการผลิตที่แตกต่างกันจนเกิดเป็นอัตลักษณ์ประจำท้องถิ่นที่มีความเฉพาะตัวมากยิ่งขึ้น อาทิ การผลิตเครื่องประดับทองสุโขทัยนอกจากจะได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัยโบราณมาสร้างสรรค์เป็นลวดลายแล้ว ยังเพิ่มเทคนิคการถักทองและลงยา (Enamel) แต้มสีสันต่างๆ ได้แก่ สีแดง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีขาวลงไปบนตัวชิ้นงาน ขณะที่เครื่องประดับทองเพชรบุรีมีการใช้เทคนิคพิเศษผลิตแหวนตะไบที่มีลักษณะเป็นแหวนฝังพลอยซีกและมีการตะไบทั้งสองข้างของตัวเรือนให้เป็นร่องลึก การทำลวดลายลูกสน และลายปะวะหล่ำที่เกิดจากการดัดเกลียวลวดทองให้เป็นลวดลายคล้ายกับโคมไฟของจีน เป็นต้น

         
 
                                                                                                                                                            
เครื่องประดับเงิน 
 

          การผลิตเครื่องประดับเงินของไทย ส่วนใหญ่พบได้ในจังหวัดทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ น่าน รวมถึงสุโขทัย และสุรินทร์ ซึ่งสำหรับเครื่องประดับเงินของ เชียงใหม่ นั้น มีรูปแบบที่ได้รับอิทธิพลมาจากศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรล้านนาโบราณ ซึ่งเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมากในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 18-21

        โดยงานศิลปะแขนงต่างๆ รวมทั้งการทำเครื่องเงินมาจากแนวความคิดทางพุทธศาสนา ความเชื่อ และวรรณคดี ตลอดจนวัฒนธรรมเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวล้านนา เป็นต้น สำหรับย่านการผลิตที่สำคัญของเชียงใหม่นั้นตั้งอยู่บริเวณถนนวัวลาย (Wualai Road) ชุมชนบ้านศรีสุพรรณ (Bansrisuphan Community) อำเภอเมือง และบริเวณบ้านกาด (Bankad) ในอำเภอแม่วาง (Mae Wang District) ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมืองออกไปประมาณ 30 กิโลเมตร

        ขณะที่จังหวัด น่าน เป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับเงินอันมีที่มาจากวิถีชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมของชาวเขาชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่ของจังหวัด โดยแหล่งผลิตสำคัญตั้งอยู่บริเวณอำเภอเมือง และอำเภอปัว (Pua District) ทั้งนี้ ลวดลายบนเครื่องประดับเงินของเชียงใหม่และน่านต่างก็มีความงดงามอ่อนช้อยไม่แพ้กัน หากแต่ด้วยสภาพแวดล้อมและทัศนคติของช่างฝีมือที่แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น จึงทำให้เครื่องประดับเงินจากทั้งสองแห่งมีจุดเด่นเป็นของตนเอง โดยลวดลายของเชียงใหม่มักเกี่ยวข้องพุทธศาสนา ตำนาน ความเชื่อ วรรณคดีและวิถีชีวิตแบบล้านนา ขณะที่น่านจะเน้นลวดลายเกี่ยวกับธรรมชาติและวิถีชีวิตของชาวเขาที่ผูกพันกับการทำไร่บนที่ราบสูงและการหาของป่าเพื่อเลี้ยงชีพ เป็นต้น 

           ในส่วนของจังหวัด สุโขทัย มีแหล่งผลิตอยู่ที่อำเภอศรีสัชนาลัย (Si Satchanalai District) โดยมีกรรมวิธีการผลิตที่เป็นภูมิปัญญาประจำท้องถิ่น คือ การถักเส้นเงินเป็นเครื่องประดับ ควบคู่กับการใช้เทคนิคลงยาสีเข้าช่วย (Enamel) ซึ่งลวดลายที่ปรากฏสะท้อนให้เห็นถึงความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมของอาณาจักรสุโขทัยโบราณซึ่งเคยเป็นราชธานีแห่งแรกของไทยเมื่อราว 700 กว่าปีล่วงมา (พ.ศ. 1792-ปัจจุบัน) อาทิ ลายจากเครื่องสังคโลก (Sangkhalok Ceramic Ware) และลายจิตรกรรมฝาผนังตามโบราณสถาน เป็นต้น


            สำหรับจังหวัด สุรินทร์ ซึ่งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย และมีอาณาเขตอยู่ติดกับประเทศกัมพูชานั้น ได้รับอิทธิพลทางศิลปะแบบขอมเข้ามา จึงทำให้การผลิตเครื่องประดับเงินของสุรินทร์ซึ่งอยู่ที่อำเภอเขวาสินรินทร์ (Khwao Sinarin District) มีรูปแบบที่แตกต่างจากแหล่งผลิตอื่นอย่างสิ้นเชิง ทั้งในด้านเทคนิคการผลิตที่ส่วนใหญ่เป็นการทำลูกปัดแกะสลักลวดลาย และการทำรูปทรงที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่นอย่างดอกตะเกา (Takao) ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามภาษาเขมร ตัวดอกมีลักษณะเป็นแป้นเงินกลมและมีแฉกคล้ายดวงอาทิตย์ ซึ่งช่างที่ผลิตนิยมนำลวดมาขดเพื่อตกแต่งลวดลายลงบนตัวดอกตะเกา  
 

           
เครื่องถม (Nielloware)
 

             เครื่องถมเป็นสินค้าอัตลักษณ์ของจังหวัด นครศรีธรรมราช ซึ่งอยู่บริเวณภาคใต้ของประเทศไทย ในอดีตเครื่องถมเป็นงานหัตถศิลป์ชั้นสูงที่นิยมใช้กันในราชสำนัก แต่ปัจจุบันกลับเป็นสินค้าที่ผู้คนทางภาคใต้นิยมสวมใส่ติดตัวเพราะเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและนำความเป็นสิริมงคลมาสู่ผู้สวมใส่ ทั้งนี้ การผลิตเครื่องถมในปัจจุบันแบ่งออกเป็นหลายประเภทขึ้นอยู่กับวัสดุที่นำมาใช้ขึ้นรูป ส่วนใหญ่ทำจากเงินและทอง แล้วจึงแกะสลักลวดลายแบบไทยเข้าไป ซึ่งนิยมใช้ลายกนก (Lai Kanok) เป็นแม่แบบในการแกะสลักให้ตัดกับสีพื้นที่ลงไว้ด้วยน้ำยาสีดำ โดยเครื่องประดับที่ผลิตได้ส่วนใหญ่เป็นกำไลข้อมือ และแหวน 


 
      
 
จากท้องถิ่นสู่การสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องประดับอัตลักษณ์ไทย
 
           เครื่องประดับอัตลักษณ์ไทยมีข้อได้เปรียบสำคัญอยู่ที่จุดขายเกี่ยวกับการนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของชิ้นงานอันสะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างชัดเจน จนเกิดเป็นคุณค่าและภาพลักษณ์ที่น่าจดจำ ทั้งนี้ ด้วยความที่สินค้าผ่านการผลิตอย่างพิถีพิถันทำให้มีคุณภาพดีและมีรูปแบบที่สวยงามประณีต จึงมีฐานผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในท้องถิ่น ถือเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากที่ช่วยสร้างรายได้ให้แก่คนในท้องถิ่นจนสามารถพึ่งพาตนเองได้เป็นอย่างดี ซึ่งมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระดับประเทศให้เติบโตได้อีกทอดหนึ่ง
 
 
           เครื่องประดับอัตลักษณ์ถือเป็นงานหัตถศิลป์ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการผลิตนาน อีกทั้งต้องอาศัยความอดทนและความประณีตบรรจงสูง เนื่องจากกรรมวิธีส่วนใหญ่ต้องทำด้วยมือ มีการใช้เครื่องจักรเป็นส่วนน้อยเฉพาะในบางกระบวนการเท่านั้น จึงทำให้การผลิตต่อหนึ่งชิ้นงานใช้เวลานานถึง 2-4 สัปดาห์ ซึ่งช่างฝีมือส่วนใหญ่ผ่านการเรียนรู้และฝึกฝนทักษะมาเป็นอย่างดีจากการถ่ายทอดของบรรพบุรุษ โดยอุตสาหกรรมการผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์ส่วนมากเป็นการผลิตในครัวเรือน หรือในโรงงานขนาดเล็กที่รวบรวมเอาคนในท้องถิ่นซึ่งมีประสบการณ์และความรู้เข้ามาไว้ด้วยกัน โดยตามปกติแล้วมีจำนวนแรงงานประมาณ 5-30 รายต่อสถานประกอบการหนึ่งแห่ง ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงงานอุตสาหกรรมที่ผลิตเครื่องประดับทั่วไป ทั้งนี้ ผู้ผลิตในแต่ละท้องถิ่นมีศักยภาพในการผลิตเครื่องประดับได้ครอบคลุมเกือบทุกชนิด ทั้งต่างหู แหวน สร้อยคอ กำไลข้อมือ เข็มขัดและปิ่นปักผม 
 
 
           อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าห่วงที่ปัจจุบันช่างฝีมือในแต่ละท้องถิ่นลดจำนวนลง ภาคการผลิตต้องเผชิญกับ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ไม่ว่าจะมีสาเหตุมาจากช่างสูงวัยเกษียณอายุ แรงงานฝีมือเปลี่ยนอาชีพไปทำงานอื่นที่ สบายกว่า รวมถึงคนรุ่นใหม่ไม่สนใจฝึกฝีมืองานศิลป์เพราะขาดความอดทน เหล่านี้ทำให้เกิดความเสี่ยงว่าจะเกิด การสูญหายทางภูมิปัญญา เพราะเครื่องประดับอัตลักษณ์ถือเป็นมรดกล้ำค่าที่สะท้อนถึงความเป็นไทยได้อย่างไม่ซ้ำ รูปแบบกับเครื่องประดับของชาติอื่น ขณะเดียวกันด้วยจำนวนช่างฝีมือที่มีอยู่ก็ไม่เพียงพอต่อการผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาดให้ทันต่อความ ต้องการของผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น จึงถือเป็นประเด็นสำคัญระดับประเทศที่จะต้องเร่งแก้ไข เพื่อเป็นการ รักษาเครื่องประดับอัตลักษณ์อันทรงคุณค่าให้คงอยู่ ทั้งโดยการสนับสนุนสินค้าอัตลักษณ์ให้เป็นที่นิยมและมีชื่อเสียง ในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ ตอกย้ำภาพลักษณ์งานฝีมือช่างไทยคุณภาพสูง พร้อมขยายช่องทางการค้าเพื่อ สร้างรายได้และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจแก่ผู้ประกอบการในแต่ละท้องถิ่นเพื่อให้ยังคงยืนหยัดผลิตสินค้าอัตลักษณ์และรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่นควบคู่ไปกับการเร่งผลิตแรงงานฝีมือรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย
 
           แม้ว่าปัจจุบันปัญหาด้านแรงงานจะเป็นข้อจำกัดต่อการผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์ แต่เชื่อว่าหากทุกภาคส่วนได้ตระหนักถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทยและร่วมมือกันอนุรักษ์สืบสานอย่างจริงจังแล้ว ทักษะเชิงช่างในการผลิตเครื่องประดับอัตลักษณ์ย่อมได้รับการสืบทอดให้คงอยู่เป็นมรดกของประเทศไทยสืบไป
 
 
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน