นาทีนี้หากไม่พูดถึง live-streaming หรือการไลฟ์สดบนอินเตอร์เน็ตเพื่อเข้าถึงผู้ชมจำนวนมากก็ดูจะตกกระแสไปหน่อยเพราะการไลฟ์สด นอกจากเป็นเครื่องมือในการเพิ่มยอดขายสินค้า ยังเป็นช่องทางการจำหน่ายที่ผู้บริโภคสามารถรับชมและแสดงความคิดเห็นได้แบบเรียลไทม์ นำไปสู่พฤติกรรมที่เรียกว่า See Now, Buy Now ทั้งนี้ บรรดาแบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ท้องถิ่นของจีนเองต่างทานกระแสไม่ไหวและหันมาไลฟ์กันเป็นแถว
การไลฟ์สดได้กลายเป็นรูปแบบยอดนิยมในจีน หลังจากที่มีการไลฟ์สดเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน แต่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนแพลทฟอร์มนี้จะแพร่หลายยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมแฟชั่น ทั้งแบรนด์เล็ก แบรนด์ใหญ่ อย่างอาลีบาบา อี-คอมเมิร์ซอันดับ 1 ของจีนก็ไลฟ์สดบน “เถาเป่า” แพลทฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ของบริษัทตั้งแต่ปี 2016 ทำให้พบว่า 80% ของผู้ชมเป็นผู้หญิง ครึ่งหนึ่งของผู้ชมจำนวนดังกล่าวเป็นลูกค้ากลุ่ม Gen Z หรือ post-millennials และคนกลุ่มนี้โดยมากคลิกสั่งออร์เดอร์ช่วง 20.00-22.00 น.
ไม่ใช่แค่อี-คอมเมิร์ซระดับยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา เว็บซื้อขายสินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกายมือสองในเซี่ยงไฮ้อย่าง Pawnstar ก็กระตุ้นยอดขายด้วยการไลฟ์สดผ่าน WeChat สัปดาห์ละ 4 ครั้ง มีผู้ชม 2-3 หมื่นราย อายุเฉลี่ย 20-35 ปีและเป็นกลุ่มผู้หญิงที่อาศัยในเมืองรองทั่วจีน ซึ่งการไลฟ์สดของ Pawnstar ส่งผลให้ยอดขายเพิ่มขึ้นคิดเป็น 30% ของยอดขายทั้งหมด
รายงานระบุว่าหากเป็นการไลฟ์สดรายการใหญ่ๆ อาจเรียกผู้ชมได้มากหลายสิบล้านคน เช่น การไลฟ์สดงานเซี่ยงไฮ้ แฟชั่นวีคที่ร่วมกันระหว่างทีมอลล์ (อีกแพลทฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ของอาลีบาบา) กับเลเบลฮู้ด ซึ่งเป็นแพลทฟอร์มแสดงสินค้าเมื่อปลายเดือนมี.ค.ที่ผ่านมามียอดวิวเกือบ 90 ล้านวิว นับเป็นช่องทางการเข้าถึงผู้ชมที่ดีช่องทางหนึ่งของบรรดาดีไซเนอร์อิสระที่หากเป็นเมื่อก่อนคงทำไม่ได้ขนาดนี้
สำหรับแพลทฟอร์มหลักๆ ที่มีการไลฟ์สดเป็นประจำ ประกอบด้วยเถาเป่า, ทีมอลล์ม, ไชน่าเหว่ยป๋อ, เจดีดอทคอม และยังมีเว็บเล็กเว็บน้อยอีกมากที่ทำการไลฟ์เช่นกัน เอไลซ่า ฮาร์คา ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียของเรดแอนท์ เอเจนซี่ดิจิทัลให้ความเห็นว่าการไลฟ์สดเป็นเทรนด์ระดับโลกที่มีมาระยะหนึ่งและตอนนี้กำลังเป็นที่นิยมในจีน หลาย ๆ แชนเนลได้ปรับเพื่อให้เหมาะกับวัฒนธรรมของกลุ่ม Gen Z ที่เปิดกว้างในการวิพากษ์วิจารณ์และเป็นเป้าหมายสำคัญของการทำการตลาดแบบผสม หากวางแผนดี ๆ การไลฟ์สดจะเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างมาก
ด้านปีเตอร์ ซู บลอกเกอร์ผู้มีอิทธิพลในวงการแฟชั่นเซี่ยงไฮ้และได้รับเชิญไปแสดงความเห็นในหลายสื่อกล่าวว่าเหว่ยป๋อซึ่งเป็นโซเชียลมีเดียที่สำคัญของจีนยังเป็นช่องทางหลักที่ผู้คนใช้งาน เข้าถึงและทำให้สมาชิกจำนวนมากได้เข้ามาพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์และสามารถตอบโต้กับแบบทันทีทันใด และไม่ใช่เฉพาะแบรนด์ท้องถิ่นของจีนที่ใช้วิธีนี้ แบรนด์แฟชั่นจากต่างชาติ เช่น จิออร์จิโอ อาร์มานี หรือเมซี่ และเลน ครอวฟอร์ดก็เตรียมไลฟ์สดเพื่อเข้าหาลูกค้าจีนแผ่นดินใหญ่เช่นกัน
ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งในการไลฟ์สดของแชนเนลต่าง ๆ คือการจ้าง KOL (Key Opinion Leader) หรือผู้มีอิทธิพลในการแสดงความเห็นในโลกโซเชียลมาเป็นพิธีกรดำเนินรายการ และเนื่องจากการไลฟ์สดมีข้อจำกัดเรื่องเวลา จึงมีผลต่อจิตใจของผู้ชม นำไปสู่การช้อปแบบ See Now, Buy Now กล่าวคือเวลาในการไลฟ์ที่ไม่ยาวนาน นอกจากเหมาะกับผู้ชนที่ความสนใจสั้น ยังเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้ผู้ชมตัดสินใจซื้อในเวลาอันรวดเร็วนั่นเอง
ว่าด้วยเรื่องการไลฟ์สดจากขอบรันเวย์ ข้อมูลชี้มีมานานเกือบ 10 ปีแล้ว โดยก่อนหน้านั้น การจัดแฟชั่นวีคเพื่อแสดงคอนเลคชั่นของเหล่าดีไซเนอร์มักจำกัดผู้เข้าชมว่าเป็นบุคคลในวงการแฟชั่นหรือเซเลบเท่านั้น แต่การมาถึงของโซเชียลมีเดียทำให้กระแสเปลี่ยนไป เพื่อเข้าถึงผู้ชมจำนวนกว้างขึ้น จึงมีการไลฟ์สด โดยเมื่อปี 2009 การไลฟ์สดเกิดขึ้นข้างเวทีแสดงคอลเลคชั่นสปริง/ซัมเมอร์ 2010 ในปารีสของเอล็กซานเดอร์ แมคควีนที่ตัวดีไซเนอร์เป็นคนไลฟ์เองเลย จากนั้นก็ตามด้วยงานโชว์ของแบรนด์อื่น เช่น มาร์ค จาคอบ และเบอร์เบอรี จนกระทั่งปี 2011 วงการแฟชั่นอ้าแขนรับการไลฟ์สดเต็มตัว เรียกได้ว่าแทบไม่มีแบรนด์แฟชั่นไหนไม่ไลฟ์ และท้ายที่สุดการไลฟ์สดก็ได้แพร่หลายไปยังฝั่งจีนจนถึงบัดนี้
อ้างอิง
www.racked.com/2015/9/10/9279091/new-york-fashion-week-live-stream-shows
www.scmp.com/lifestyle/fashion-beauty/article/2144730/chinas-live-streaming-fashion-boom-woos-gen-z-buyers
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี