Woodcut งานภาพพิมพ์โบราณที่เกิดจากการแกะสลักไม้เป็นลวดลายต่างๆ เพื่อใช้เป็นแม่พิมพ์ และจึงนำมาพิมพ์ลงบนกระดาษ ซึ่งกว่าจะได้ออกมาแต่ละชิ้นต้องค่อนข้างใช้เวลานาน แต่ด้วยเสน่ห์ของงานทำมือที่มีจังหวะหนักเบาไม่เท่ากัน ลวดลายที่สร้างสรรค์ออกมาได้อย่างอิสระ บวกกับเอกลักษณ์ของลายไม้แต่ละชิ้นที่ต่างกัน เป็นรายละเอียดทางความรู้สึกที่งานเครื่องพิมพ์สมัยใหม่ไม่สามารถให้ได้ จึงไม่แปลกที่งานภาพพิมพ์จากไม้แกะสลักชิ้นนี้จะดึงดูดสายตา ไม่ว่าพบเห็นที่ใดก็ตาม
ด้วยความหลงใหลในเสน่ห์ของภาพพิมพ์โบราณดังกล่าว พรยมล สุทธัง (แพงคำ) และ ชญานิษฐ์ ม่วงไทย (ซีเพีย) สองสาวเพื่อนซี้ ศิษย์เก่าคณะจิตรกรรม สาขาภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงได้จับมือกันเปลี่ยนจาการถ่ายทอดบนแผ่นกระดาษมาเป็นผืนผ้า โดยผ่านของใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเสื้อยืดหรือกระเป๋า ภายใต้ชื่อแบรนด์ Print now เพื่อให้คนทั่วไปสามารถสัมผัสและรู้จักกับเสน่ห์ของงาน woodcut ได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ทำให้ศิลปะกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น แต่ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับตนเอง ไม่แพ้งานศิลปะที่ถูกแขวนวางไว้ในแกลลอรี่ แม้จะขายในราคาเพียงหลักร้อยก็ตาม
“เริ่มมาจากตั้งแต่สมัยเรียนปริญญาตรี ตอนนั้นมีงานของมหาวิทยาลัย เราได้ทดลองทำงานภาพพิมพ์จากวู้ดคัตออกมาขาย โดยพิมพ์ลงบนเสื้อยืด ปรากฏว่าขายดีมาก เสียงตอบรับดี จนมาเรียนปริญญาโท มีเวลาว่าง อยากหาอะไรทำของตัวเอง เลยทดลองทำออกมาอีกครั้งไปฝากขายที่หอศิลป์ BACC ปรากฏว่าได้รับการตอบรับที่ดีเช่นเคย จึงคิดกันว่าอยากทำเป็นแบรนด์ขายออกมาจริงจัง โดยพยายามปรับเทคนิคชิ้นงานให้ออกมามีคุณภาพ และคงทนมากยิ่งขึ้น”
แพงคำและซีเฟียเล่าถึงความยากของการนำงานวู้ดคัต ที่ปกติจะพิมพ์ลงบนกระดาษมาใส่เป็นลวดลายบนผืนผ้าว่าเหมือนเป็นการทำงานชิ้นเดียวในสองขั้นตอน โดยขั้นแรก คือ ทำงานวู้ดคัดและพิมพ์ลงบนกระดาษ ต่อจากนั้นนำภาพพิมพ์ที่ได้ไปทำบล็อกสกรีนอีกครั้งหนึ่ง เมื่อได้บล็อกสกรีนแล้ว จึงนำไปสกรีนลงบนตัวเสื้อและกระเป๋าอีกทีหนึ่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เทคนิคพิเศษเฉพาะตัวและประณีตในการทำ เนื่องจากงานสกรีนผ้าทั่วไปมักเก็บรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของภาพได้ไม่เท่ากับวู้ดคัต
“ในช่วงแรกที่ทดลองทำ เราใช้สีสำหรับพิมพ์วู้ดคัต แต่พอเปลี่ยนจากกระดาษมาใส่ลงบนผ้า การยึดติดจะไม่ดีเท่าเดิม เพราะสีสำหรับวู้ดคัตเป็นสีที่แห้งเร็ว ทำให้ซึมลงเนื้อผ้าได้ไม่ดีเท่าที่ควร พอนำไปซักบ่อยๆ อาจเกิดการหลุดร่อนบ้าง ลูกค้าหลายคนก็เคยกลับมาบอก ดังนั้นเมื่อต้องทำเป็นแบรนด์ขายจริงจัง เราจึงพยายามหาวิธีแก้ปัญหาให้งานออกมามีความคงทนมากยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญ คือ ต้องให้ได้รายละเอียดใกล้เคียง ไม่แตกต่างจากงานวู้ดคัตที่เราทำ จึงลองใช้วิธีทำภาพพิมพ์จากวู้ดคัตออกมาก่อน และจึงนำไปทำบล็อกสกรีน และค่อยพิมพ์ลงบนตัวเสื้ออีกครั้งหนึ่ง จะได้สีคงทนเหมาะกับเนื้อผ้ามากกว่า ซึ่งลองไปให้ร้านทำบล็อก ร้านสกรีนเสื้อที่ไหนลองดู เขาก็บ่นว่าทำไม่ได้หรอก งานละเอียดขนาดนี้ แต่สุดท้ายเราก็ลองทำด้วยตัวเองออกมาจนได้”
จึงอาจกล่าวได้ว่าคุณค่างานของ Print now ไม่แตกต่างจากการทำงานศิลปะขึ้นมาชิ้นหนึ่งที่ต้องใช้เวลาตั้งแต่การสร้างสรรค์คอนเซปต์ การแกะสลักไม้ ทำบล็อก พิมพ์ลาย โดยทั้งคู่พยายามสร้างเป็นลวดลายที่เข้าใจได้ง่าย เช่น รูปแมว สัตว์ป่า ดอกไม้ เพื่อให้จับต้องได้ง่ายขึ้น โทนสีที่ใช้เป็นสีพื้น เช่น ดำ ขาว น้ำเงิน ปัจจุบันจำหน่ายที่ร้านหนังสือ Booksmith, หอศิลป์ BACC
“ศิลปะถ้าเราไม่จำกัดมัน คิดออกมานอกกรอบ โดยไม่หวงงาน ยังไงก็สามารถตอบโจทย์ชีวิตเราได้ การทำงานของเราเหมือนเป็นการนำงาน fine art มาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันให้สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น โดยผ่านข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ อาทิ เสื้อยืด กระเป๋า หลายคนมองว่าเอางานศิลปะมาทำแบบนี้ไม่คุ้ม สู้ไปวางขายในแกลลอรี่ดีกว่า ได้ราคาดีกว่า แต่เรามองว่าเราอาจทำงานขายเพียงหลักร้อย แต่ถ้าหลายคนรวมกันก็ได้ไม่ต่างจากขายงานอยู่ในแกลลอรี่หรู คนก็ได้เห็นงานเรามากขึ้น งานสามารถกระจายออกไปได้มากกว่า รับใช้ผู้คนได้มากกว่า”
FB/IG printnoww
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี