ช่วงที่ผ่านมาหลายคนอาจจะมีโอกาสได้เห็นแบรนด์เครื่องดื่มขวดใส ที่ใส่แบล็กโกโก้ลงไปจนดำสนิท ดูพรีเมียมสุดๆ แถมแพ็กเกจจิ้งดูเรียบเก๋สะดุดตาที่ชื่อ Ratana (ราทะนา) โดยความจริงแล้วราทะนาได้อินสไปเรชั่นมาจากชื่อของคุณยายที่ชื่อว่ารัตนา เจ้าของแบรนด์อย่าง มิเชล โกล์ ได้เริ่มต้น Ratana มาจากการที่เธออยากทำเครื่องดื่มอร่อยๆ ที่ดีต่อสุขภาพให้คุณยายของเธอได้รับประทานโดยไม่ต้องเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจากน้ำตาล
“ปกติเป็นคนชอบขายของออนไลน์อยู่แล้ว เคยขายตั้งแต่ตอนมัธยมต้น ทำเคสโทรศัพท์ขาย ทำถุงผ้าขาย คือเราเป็นคนชอบคิดอะไรใหม่ๆ ทีนี้คุณยายของเรา เขามีภาวะเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน เราเลยคิดว่าอยากจะทำเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพ ควบคุมน้ำตาล แล้วตอนนี้เราก็มองว่าเทรนด์สุขภาพพวกนี้มันมาแรง 1-2 ปีก่อนก็มาแรง ตอนนี้ก็ยังมาแรงอยู่ แล้วในอนาคตเราก็คิดว่ามันจะยังไม่หายไปไหนง่ายๆ เลยกลายมาเป็น Ratana”
จุดเด่นของโกโก้จาก Ratana มิเชลได้เล่าให้ฟังว่า อยู่ที่ตัววัตถุดิบอย่างแบล็กโกโก้จะให้กิมมิก รสชาติที่ดีกว่าโกโก้ ส่วนไขมันจะน้อยกว่า ซึ่งแบล็กโกโก้ที่ Ratana เลือกใช้นั้นถูกส่งตรงมาจากญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเปลี่ยนการชงด้วยน้ำตาลเป็นหญ้าหวานที่ยังคงความอร่อยเอาไว้อย่างครบถ้วนแถมยังดีต่อสุขภาพอีกด้วย
ด้วยรสชาติที่เข้มข้น หอมโกโก้และยังหวานน้อย ทำให้ลูกค้าติดใจจนกลายเป็นแฟนประจำของ Ratana แต่ทว่าในเรื่องของ First Impression ก็ทำได้ดีจากตัวแพ็กเกจจิ้งของแบรนด์ ที่จะเน้นความเรียบเก๋ ดูดีมีสไตล์ จนลูกค้าหลายคนบอกว่าเหมือนแพ็กเกจจิ้งเครื่องสำอาง ดูน่าสนใจแถมยังทำให้ใครหลายคนหยิบมาถ่ายรูปก่อนทานพร้อมทั้งแชร์ลงบนโลกโซเชียลจนกลายเป็นการช่วยร้านโปรโมตไปในตัว
สำหรับช่องทางในการขายของแบรนด์ Ratana มิเชลได้ฉีกกฎการเริ่มต้นที่ใครหลายคนบอกว่าให้เริ่มจาก Facebook หรือ Instagram ที่มองว่าน่าจะขายได้ง่ายกว่าแต่เธอกลับเริ่มต้นจากใน Twitter
“ตอนเริ่มต้นเราเริ่มจากใน Twitter เพราะเรารู้สึกว่าใน Twitter คู่แข่งยังน้อย ปกติแล้วคนอาจจะเริ่มจากใน Facebook หรือ Instagram แต่เรามองว่า Twitter คนน่าจะเข้าถึงได้ง่ายกว่าสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น คนก็จะสามารถ Retweet แล้วมันก็จะกระจายไปในวงกว้าง อย่างตอนนี้ Facebook เองคู่แข่งเยอะแล้วคนก็เห็นโพสต์ยากขึ้น ยิ่งถ้ามีคนติดตามน้อยด้วย สำหรับ Twitter เองคือคนในนั้นจะไม่ได้สนใจจำนวน Follower ถ้าโพสต์น่าสนใจเขาก็จะ Retweet กันไปเรื่อยๆ เราไม่ต้องลงโฆษณาเยอะแยะ ตอนแรกเราก็มีส่งของไปให้ Beauty Blogger ด้วย เขาบอกว่าถ้าสินค้าน่าสนใจก็จะบอกต่อให้ ซึ่งพอเขา Tweet ให้เรา ก็มีคนมา Retweet ต่อไปอีก ทำให้คนรู้จักเรามากขึ้น ลูกค้ากลุ่มแรกเลยก็มาจากใน Twitter จากนั้นเราก็ไปทาง Instagram และ Facebook”
โดยมิเชลได้แนะนำการทำตลาดสำหรับแบรนด์ต่างๆ ผ่าน Twitter ว่าต้องมีรูปภาพที่สวยงาม ดูดี รวมทั้งการใช้ภาษาบนโลก Twitter จะต่างจากการช่องทางอื่น ควรเน้นภาษาที่กระชับ เข้าใจง่าย พูดคุยเหมือนเพื่อนและไม่ควรใช้ภาษาทางการมากเกินไป
ในตอนนี้นอกจากช่องทางออนไลน์แล้ว แบล็กโกโก้ของ Ratana ยังได้ขยายสู่ออฟไลน์ด้วยการฝากขายตามร้านสุขภาพต่างๆ มากขึ้นเพื่อทำให้เธอสามารถขยับขยาย จากเดิมที่เริ่มต้นขายออนไลน์ มีการนัดรับสินค้ากับลูกค้าตามรถไฟฟ้า เธอจะจำกัดได้แค่วันละ 40 ขวดเนื่องจากแบกไปส่งไม่ไหว แต่ในตอนนี้จำนวนผลิตต่อวันอยู่ที่เกิน 100 ขวดเพื่อส่งตามร้านรวมทั้งออเดอร์ออนไลน์ที่จะส่งผ่านไลน์แมน ทำให้แบล็กโกโก้ของเธอเริ่มเข้าสู่ลูกค้าวงกว้างมากขึ้น และในอนาคตหลังจากที่มิเชลเรียนจบ เราอาจจะได้เห็นคาเฟ่แบล็กโกโก้ที่แสนอร่อยของ Ratan จากโลกออนไลน์มาสู่ออฟไลน์แบบเต็มตัว
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี