​บทเรียนจากคูเวต เมื่อ Influencer ทำพัง จนแบรนด์ต้องพากันเท!




cr.Youtube - ซอนดอส อัล กัตตัน บิวตี้บล็อกเกอร์สาวชาวคูเวต
 

     เทรนด์การตลาดอย่างหนึ่งในยุคดิจิทัลที่หลายแบรนด์นิยมทำ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย นั่นคือ การอาศัย Influencer หรือผู้มีอิทธิพลในโลกโซเชียลมีเดีย ซึ่ง influencer เหล่านี้จะมีผู้ติดตามจำนวนมากผ่านช่องทางต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตราแกรม หรือทวิตเตอร์ การใช้ influencer จึงเป็นหนทางที่ง่ายและเร็วในการผลักดันแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก แต่หลายครั้งก็เกิดเหตุพลิกผัน แทนที่จะส่งเสริมแบรนด์ influencer หลายคนกลับก่อดราม่า สร้างความไม่พอใจให้ผู้ติดตาม จนแบรนด์ที่สนับสนุนต้องพากันถอนตัวก็มี
 
 
     ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นในคูเวต “ซอนดอส อัล กัตตัน” บิวตี้บลอกเกอร์สาวแห่งคูเวต ที่มีผู้ติดตามในอินสตาแกรมมากถึง 2.3 ล้านคน ได้ตกเป็นเป้าวิจารณ์อย่างหนักหน่วงกรณีที่เธอโพสต์คลิปแสดงความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่มีผลบังคับใช้เมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการปกป้องแรงงาน กฎหมายระบุให้นายจ้างไม่มีสิทธิ์ยึดหนังสือเดินทางของลูกจ้างชาวต่างชาติ และอนุญาตให้ลูกจ้างได้มีวันหยุดพักผ่อนสัปดาห์ละ 1 วัน
               
 
     โดยซอนดอสกล่าวว่าจะปล่อยให้ “คนใช้” ในบ้านเก็บพาสปอร์ตเองได้อย่างไร ถ้าพวกนี้หนีกลับประเทศ ใครจะรับผิดชอบ ที่เลวร้ายคือพวกนี้จะได้หยุดพักสัปดาห์ละวัน ด้วยความสัตย์จริง เธอไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้แม้แต่น้อย พลันที่คลิปวิพากษ์กฎหมายแรงงานที่รัฐบาลคูเวตแก้ไข เพื่อร่วมมือกับรัฐบาลฟิลิปปินส์ ในการคุ้มครองแรงงานฟิลิปปินส์จำนวนมากที่เข้าไปทำงานเป็นแม่บ้านในคูเวต
               
 
     ด้วยทัศนคติและคำพูดที่ส่อให้เห็นถึงความคิดว่าซอนดอสที่มองแรงงานต่างชาติเป็นเพียงทาสหรือคนรับใช้ และการขาดเมตตาจิตทำให้ influencer ผู้มีอิทธิพลในแวดวงความงามคูเวตถูกโจมตีอย่างหนักไม่เฉพาะจากคนทั่วไป แม้กระทั่งผู้ติดตามเธอนับล้านคนก็ไม่ปลื้ม บางองค์กร เช่น Migrante International ซึ่งเป็นตัวแทนของแรงงานฟิลิปปินส์ในต่างประเทศประณามว่าเป็นคำพูดที่น่ารังเกียจและเรียกร้องให้เธอออกมาขอโทษ
               
 
     ฝ่านซอนดอส นอกจากไม่ขอโทษ ไม่แสดงท่าทีสำนึกยังไล่ตอบโต้คนที่เข้ามาต่อว่าเธออีกด้วย ผลคือ บรรดาสินค้าที่เคยร่วมงานกับเธอต่างพากันถอนตัวเป็นแถว อาทิ Max Factor Arabia แบรนด์เครื่องสำอางดังที่ระบุว่า รู้สึกช็อคกับคำพูดของซอนดอสจึงขอระงับการทำงานกับเธอ โฆษกแม็กซ์ เผยว่าทางบริษัทซีเรียสกับประเด็นอันอ่อนไหวนี้มาก
 
 
     ขณะที่ M. Micallef แบรนด์น้ำหอมจากฝรั่งเศสก็ “เท” เน็ตไอดอลสาวเช่นกันโดยระบุแค่ว่า “รู้สึกเสียใจอย่างสุดซึ้งที่ต้องระงับความสัมพันธ์ในทันที” ด้าน Chelsea Beautique แบรนด์เครื่องสำอางจากอังกฤษตัดสินใจถอดคลิปทุกคลิปของซอนดอสออกจากแชนเนลต่างๆ ของบริษัท มองว่าพฤติกรรมของบิวตี้บลอกเกอร์สาวไม่สอดรับกับปรัชญาของแบรนด์ ยังไม่พอ ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมแบรนด์ Phyto จากสหรัฐฯ ได้ทวีตแนะนำตัวแทนจำหน่ายในคูเวตให้คว่ำบาตรซอนดอส
               
 
     จะเห็นว่าจุดประสงค์ของการใช้ influencer คือเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์และทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในด้านบวก แต่เมื่อเกิดเรื่องอื้อฉาวกับ influencer ที่เป็นตัวแทน บรรดาแบรนด์ต่างๆ ต้องพากันชิ่งหลบเพื่อลดทอนความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับแบรนด์ แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะควบคุม ดังนั้น ในการจ้าง influencer สิ่งที่ต้องระวังเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบต่อแบรนด์ได้แก่ เรื่องอื้อฉาวอันเกิดจากพฤติกรรมส่วนตัวของเน็ตไอดอล ทางแบรนด์จึงควรสื่อสารกับเจ้าตัวให้ชัดเจน และวางกรอบให้ influencer ปฏิบัติตามคร่าวๆ เป็นการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ดีกว่ามาแก้ไขในภายหลัง


 
ที่มา
www.arabianbusiness.com/culture-society/401389-brands-cut-ties-with-kuwaiti-blogger-sondos-al-qattan-over-filipino-worker-comments
www.thisisinsider.com/instagram-star-fired-by-brands-for-comments-on-servants-passports-and-days-off-2018-7



www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน