การจะทำให้ผู้บริโภคเลือกใช้สินค้าสักชิ้น และอยู่กับแบรนด์ไปนานๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าแบรนด์จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้าได้มากแค่ไหน ซึ่งบรรจุภัณฑ์ ถือเป็นหน้าด่านที่จะสร้างความประทับใจทันทีที่สินค้าถึงมือผู้รับ ซึ่งบรรจุภัณฑ์ที่ดีนั้นนอกจากจะช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ดูสวยงามแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสื่อสารกับลูกค้า และสร้างแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ
จากประสบการณ์ในวงการออกแบบบรรจุภัณฑ์มากว่า 10 ปี ทำให้ จ๊อบ-วิทยา เหรียญชัยพิทักษ์, เติ้ล-ณิชยา อนันตวงษ์ และ ทุ้ย-ธีภัทร์ เตชะมหพันธ์ มองเห็นว่า การที่ SME จะได้บรรจุภัณฑ์ที่ดีเหมาะกับสินค้านั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มักพบกับปัญหาใหญ่ 2 ประการ คือ 1.การหาดีไซเนอร์เพื่อมาออกแบบแพ็กเกจจิ้งให้สวย 2.หาโรงงานผลิต เพราะส่วนใหญ่จะรับผลิตออร์เดอร์ใหญ่จำนวนหลักหมื่น มีผู้ผลิตที่จะทำออร์เดอร์เล็กๆ น้อยราย ปัญหาดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจรับออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ในชื่อ Loco Pack ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อม SME ให้ได้เจอกับดีไซเนอร์และโรงงาน
จ๊อบบอกว่า ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่มีทักษะการออกแบบที่ดี แต่ไม่เข้าใจรายละเอียดการทำบรรจุภัณฑ์ เพราะค่อนข้างเป็นเรื่องเฉพาะ แม้จะได้อาร์ตเวิร์กที่สวยงามแต่เมื่อส่งให้โรงงาน กลับผลิตไม่ได้ต้องส่งกลับไปแก้แบบ สุดท้ายแล้วแบบที่แก้ไปมาเรียบร้อยพร้อมผลิตแต่โรงงานเพิ่งเสนอราคา ซึ่งเกินจากงบประมาณที่คิดเอาไว้ เมื่อมาถึงขั้นตอนนี้อาจเสียเวลาไปแล้ว 2 เดือนโดยที่ยังไปไม่ถึงกระบวนการผลิตด้วยซ้ำ
Loco Pack แก้ไขปัญหานี้โดยการสร้างรูปแบบการสื่อสารผ่านระบบออนไลน์ 100 เปอร์เซ็นต์เมื่อเข้าไปในเว็บไซต์ SME จะทราบได้ทันทีว่าต้องใช้งบประมาณการผลิตบรรจุภัณฑ์เท่าไร เพียงแค่ระบุว่าต้องการกล่องขนาดเท่าไร และต้องการออปชันอะไรบ้าง ก็จะมีแถบแสดงราคาขึ้นมาให้ลูกค้าเลื่อนดูราคาได้ตั้งแต่ผลิตจำนวน 100 ชิ้นไปจนถึง 10,000 ชิ้น และเลื่อนไปที่จุดไหนแล้วได้ราคาดีที่สุด
“เรามีกล่อง 2 แบบ ถ้าเป็นกล่องลูกฟูกแบบไปรษณีย์เราจะมีขนาดมาตรฐานให้เลือกได้ แต่ถ้าต้องการกล่องที่ปรับขนาดได้ตามต้องการ ก็จะแสดงผลให้เห็นทันทีว่าหากลดขนาด 1 เซนติเมตร ราคาจะลดลงไป 0.1 บาท หรืออยากได้ออปชันอื่นเพิ่มเติม เช่น ต้องการสปอตยูวี ระบบก็จะคำนวณให้ว่าราคาเพิ่มเป็นเท่าไร เป็นต้น เราทำให้โปร่งใส 100 เปอร์เซ็นต์ และให้ลูกค้าจ่ายเฉพาะต้นทุนเท่าที่จำเป็น ซึ่งเมื่อก่อนเป็นกระบวนการที่ขึ้นอยู่กับคนคิดราคาเป็นหลัก แต่ตอนนี้เราเอาอำนาจนี้มาอยู่ในมือของ SME”
เว็บไซต์คือ หน้าบ้านของ Loco Pack ให้ลูกค้าใช้บริการง่ายที่สุด ขณะที่หลังบ้านแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ Pool ของดีไซเนอร์ฟรีแลนซ์ และ Pool ของโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์ที่รอการจับคู่ให้ทำงานตรงตามความต้องการของลูกค้า เพราะลูกค้าแต่ละคนมีสไตล์ที่แตกต่างกัน เมื่อกรอกแบบฟอร์มบนเว็บไซต์แล้วว่ามีความต้องการด้านกราฟิกอย่างไรบ้าง เธอจะเป็นคนเลือกว่างานแต่ละสไตล์ต้องส่งให้ดีไซเนอร์คนใดออกแบบลวดลายให้ออกมาสะท้อนความเป็นแบรนด์ของลูกค้ามากที่สุด เมื่อออกแบบแล้วจึงเลือกโรงงานที่สามารถผลิตตามแบบได้เพราะแต่ละแห่งมีความเชี่ยวชาญและเครื่องมือการผลิตต่างกัน เช่น บางโรงงานใช้เครื่องพิมพ์ออพเซ็ต บางแห่งใช้เครื่องพิมพ์อิงค์เจ็ต เป็นต้น
“SME จะมีความต้องการในใจอยู่แล้ว เขาแค่ต้องการเครื่องมือให้คุยงานขึ้น สิ่งที่เขาต้องการไม่ได้หวือหวา หลังบ้านเราจะส่งเทมเพลตที่พร้อมผลิตให้กับดีไซเนอร์ทำอาร์ตเวิร์กให้สวยงาม ไม่ต้องกังวลว่าถ้าพิมพ์จริงออกมาแล้วจะพับกล่องได้ไหม เราแก้ปัญหานี้ให้โดยการทำเป็นมาตรฐานไว้ เมื่อส่งกลับมาให้ลูกค้าพิจารณาแล้วจะส่งแบบไปให้โรงงานผลิตทันที เราแยกงานออกเป็น 2 ส่วน คือ งานออกแบบและงานผลิต งานออกแบบใช้เวลา 5-7 วันทำดราฟแรกและลูกค้าสามารถแก้ไขได้ 3 ครั้ง ส่งผลิตใช้เวลาไม่เกิน 20 วัน จากเดิมที่ต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างโรงงานกับดีไซเนอร์เราพยายามทำให้วิ่งเป็นเส้นตรง แล้วจบตรงที่ลูกค้าได้บรรจุภัณฑ์ในเวลาที่สั้นที่สุด ฉะนั้นต้นทุนการทำบรรจุภัณฑ์ลดลงทั้งในแง่งบประมาณและเวลา” จ๊อบพูดถึงกระบวนการทำงานตั้งแต่ต้นจนจบให้กับลูกค้าหนึ่งราย
ปัจจุบัน Loco Pack เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษ แต่ก้าวต่อไปพวกเขามองอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง และเริ่มหาพาร์ตเนอร์ที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ประเภทขวดหรือหลอดครีม และเริ่มคิดค้นโซลูชันสำหรับบรรจุภัณฑ์เหล่านี้ เพื่อเป้าหมายในอนาคตจะสามารถเสิร์ฟลูกค้าได้ตั้งแต่หลอดใส่สินค้า ออกแบบตราสินค้า ฉลากและกล่อง SME แค่ไปหาโรงงานผลิตเครื่องสำอาง หลังจากนั้นก็พร้อมทำการตลาดต่อได้ทันที
“เราไม่ได้จำกัดอยู่แค่กระดาษ ในอนาคตเราจะทำเรื่องแพ็กเกจจิ้งทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นอะไรก็ตาม เราอยากให้ SME ที่เขามีผลิตภัณฑ์ดีๆ มีแบรนด์ของตัวเอง มีแบรนด์ที่ทำให้เขาขายสินค้าได้มากขึ้น” จ๊อบทิ้งท้ายถึงอนาคตของ Loco Pack ที่เกี่ยวพันถึงอนาคตของ SME ไทยด้วยเช่นเดียวกัน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี