ช่วงหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ grocery store ในไทยเติบโตสูง และพัฒนารูปแบบร้านค้าอย่างต่อเนื่อง จนการแข่งขันเริ่มรุนแรงมากขึ้น ต่างเร่งขยายสาขากันอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดเล็ก
ภาพที่เห็นบ่งชี้ได้อย่างชัดเจน ถึงกลุ่มของร้านสะดวกซื้อกำลังเติบโตแซงหน้าไฮเปอร์มาร์เก็ต นำไปสู่โมเดลการพัฒนารูปแบบของ grocery store ให้มีขนาดเล็กลง อีกทั้งกฎหมายผังเมืองสร้างข้อจำกัดในการเปิดสาขาขนาดใหญ่ ส่งผลให้ร้านค้าขนาดเล็กผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เพราะไร้ข้อจำกัดด้านพื้นที่ และช้ต้นทุนต่ำกว่าโมเดลอื่นๆ
ทว่า ภาวะการแข่งขันที่ดุเดือดรุนแรงเช่น จึงเกิดคำถามว่า “ธุรกิจค้าปลีก grocery store ถึงจุดอิ่มตัวแล้วหรือยัง?” ซึ่งหากดูจากอัตราการเข้าถึง modern grocery store ไทยจากจำนวนสาขาต่อประชากร เทียบกับประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย อย่าง ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี หรือ สิงคโปร์ ที่ตลาดค่อนข้างอิ่มตัวแล้ว พบว่าไทยยังมีโอกาสได้ไปต่อ โดยเฉพาะโมเดลขนาดเล็ก อย่างซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ
ยิ่งซุปเปอร์มาร์เก็ต ไทยมีความหนาแน่นของสาขาน้อยกว่าประเทศพัฒนาแล้วถึงราว 10 เท่า! เมื่อพิจารณาโอกาสขยับขยาย grocery store ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยประเมินจากจำนวนสาขาในทำเลต่างๆ ร่วมกับปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ เช่น กฎหมายผังเมือง โครงการคมนาคมขนส่ง การขยายตัวของที่อยู่อาศัย ระดับรายได้และพฤติกรรมของผู้บริโภค พบว่า ตลาดในกรุงเทพฯ ค่อนข้างอิ่มตัว สำหรับร้านค้าขนาดใหญ่อย่าง ไฮเปอร์มาร์เก็ต แต่ในบางทำเลยังมีศักยภาพขยายสาขาได้ ส่วนร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ยังมีหลายเขตที่สามารถขยายสาขาได้เพิ่มเติม ขณะที่ตลาดต่างจังหวัด ยังมีโอกาสขยายสาขาได้อีกมากในหลายจังหวัด
เหตุผลสำคัญที่ตลาดค้าปลีก grocery store ประเภทซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อในกรุงเทพฯ ยังไม่อิ่มตัว ส่วนหนึ่งมาจากการขยายตัวของที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียม ความหนาแน่นของซุปเปอร์มาร์เก็ตในบางทำเล เช่น เขตพระโขนง สวนหลวง ยานนาวา หลักสี่ สายไหม บางแค คลองสาน จึงยังมีความหนาแน่นน้อยน้อยกว่าค่าเฉลี่ย
แน่นอนอว่า เทรนด์การเติบโตของที่อยู่อาศัยในรูปแบบห้องชุดที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคอาหารเปลี่ยนแปลงไป เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก นิยมซื้อสินค้าใกล้บ้าน ซื้อครั้งละจำนวนไม่มาก เน้นใช้จ่ายอาหารสำเร็จรูปและทานอาหารนอกบ้านเป็นสัดส่วนสูงถึงราว 70% ของการใช้จ่ายด้านอาหารทั้งหมด ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อจึงเป็นรูปแบบที่ตอบโจทย์
ส่วนตลาดต่างจังหวัดยังมีศักยภาพเติบโตสูง โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีประชากรจำนวนมากและจังหวัดที่อยู่ติดชายแดน ยังมีหลายจังหวัดที่มีการเติบโตของ GPP ในสาขาค้าปลีกสูงถึงราว 8-10% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมีความหนาแน่นของร้าน grocery store ค่อนข้างน้อยเช่น อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ ขอนแก่น เชียงใหม่ ตาก สระแก้ว หนองคาย และนครศรีธรรมราช
นอกจากนี้ จังหวัดที่อยู่ติดชายแดนเป็นอีกหนึ่งโอกาสที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าบางจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่มากนัก แต่เป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการเข้าไปขยายสาขาได้ เช่น ตาก สระแก้ว หนองคาย และมีบางจังหวัดที่การค้าชายแดนเติบโตสูง แต่ยังมีสาขา grocery store ไม่มากนัก เช่น บุรีรัมย์ เชียงราย และอุดรธานี ส่งผลให้ grocery store ยังมีโอกาสไปเปิดสาขาได้ โดยเฉพาะไฮเปอร์มาร์เก็ตที่เป็นที่นิยมสำหรับผู้บริโภคประเทศเพื่อนบ้านที่นิยมเข้ามาใช้จ่ายซื้อสินค้าเป็นปริมาณมาก
อย่างไรก็ตาม สนามแข่งขันที่ดุเดือดเช่นนี้ ทำให้ยอดขายต่อตารางเมตรเติบโตน้อยลง แนวโน้มการแข่งขันจึงเริ่มเป็นในลักษณะข้าม segment เน้น one-stop shopping และ niche market ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง ร้านค้าปลีกรูปแบบต่างๆ ไม่เพียงแต่แข่งขันกันเองในรูปแบบเดียวกัน แต่จะต้องแข่งขันกับรูปแบบอื่นมากขึ้น โดยจะเป็นการแข่งขันทั้งในด้านราคาและสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค
ไม่เพียงเท่านั้น Online grocery เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ไม่ควรมองข้าม ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีก grocery store หลายรายหันมาขยายช่องทางนี้มากขึ้น อีกทั้ง รูปแบบของ virtual store (ห้างเสมือนจริง) แบบของประเทศเกาหลีใต้ก็น่าสนใจ สำหรับตลาดกรุงเทพฯ ที่มีความพร้อมของการให้บริการ 3G การใช้ smartphone มากขึ้น และส่วนต่อขยายรถไฟฟ้ายังครอบคลุมค่อนข้างมาก การนำช่องทางการนำเสนอสินค้านี้มาปรับใช้ร่วมกับโมเดลการส่งสินค้าเช่นการส่งสินค้าถึงบ้าน หรือการเลือกรับสินค้าที่จุดนัดรับก็สามารถทำได้
การเป็น first mover ในตลาดนี้และทำได้ดีก่อนคู่แข่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดได้มากขึ้น แม้ว่าจะเป็นการแย่งชิงส่วนกันเองกับการขายภายในร้าน (cannibalize) จากการที่ผู้บริโภค shift จากร้านค้าสู่การซื้อของผ่านช่องทาง online แต่ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเข้าสู่สนามแห่งนี้ ซึ่งหากยังคงมีแต่ช่องทางดั้งเดิม อาจจะถูกคู่แข่งที่ประสบความสำเร็จในช่องทางนี้แย่งตลาดไปก็เป็นได้
ข้อมูล : SCB Economic Intelligence Center (EIC)
Create by smethailandclub.com