อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมศักยภาพที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ก่อให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกือบ 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานถึง 800,000 คน ด้วยภูมิปัญญาการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีให้มีความสวยงามเพิ่มขึ้น อีกทั้งช่างฝีมือเจียระไนอัญมณี รวมถึงช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับมีทักษะความชำนาญเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับใน 10 อันดับแรกของโลก
ส่วนการค้าในประเทศเองก็คึกคักจากแรงซื้อของคนในประเทศและนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศไทยปีละกว่า 30 ล้านคน รวมถึงนักธุรกิจต่างชาติจำนวนไม่น้อยที่เดินทางเข้ามาซื้อ อัญมณีและเครื่องประดับในไทย คาดว่าจะมีมูลค่าการค้าในประเทศสูงเกือบเท่ากับมูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับไทยโดยรวม รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าว จึงได้กำหนดวิสัยทัศน์โดยวางเป้าหมายให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกภายในอีก 5 ปีข้างหน้า
สถานการณ์การผลิต
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นอุตสาหกรรมครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เป็นการผลิตเพื่อส่งออกร้อยละ 80 ส่วนอีกร้อยละ 20 เป็นการจำหน่ายภายในประเทศ ปัจจุบันมีผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับที่จดทะเบียนอยู่ในระบบราว 2,200 ราย และอีกนับพันรายเป็นธุรกิจในครัวเรือน
สำหรับโครงสร้างอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย จำแนกเป็น
1) อุตสาหกรรมเจียระไนพลอยสี ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมในครัวเรือน ใช้เครื่องมือเครื่องจักรผลิตอย่างง่ายไม่ซับซ้อน จึงใช้เงินลงทุนไม่สูงนัก และช่างฝีมือไทยมีทักษะและความชำนาญในการเจียระไนพลอยสีเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงผู้ประกอบการมีเทคนิคในการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีด้วยการหุงหรือเผาพลอยด้วยความร้อน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของไทยที่ยังไม่มีประเทศใดสามารถทำได้ทัดเทียม ทั้งนี้ คาดว่ามีการจ้างงานในอุตสาหกรรมเจียระไนพลอยสีเกือบ 20,000 คน โดยผู้ประกอบการเจียระไนพลอยสีและช่างฝีมือส่วนมากจะกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าพลอยสีอย่างกรุงเทพฯ จันทบุรี และตาก
2) อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร เป็นธุรกิจที่ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก เนื่องจากเครื่องมือที่ใช้ในการเจียระไนเพชรค่อนข้างซับซ้อน และใช้เทคโนโลยีสูง จึงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ประกอบกับมีต้นทุนฝึกช่างเจียระไนใหม่ที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้อุตสาหกรรมเพชรเจียระไนไทยส่วนใหญ่เป็นของบริษัทต่างชาติที่ย้ายฐานการผลิตมาตั้งโรงงานในไทย อาทิ เบลเยียม อิสราเอล เป็นต้น เพื่ออาศัยแรงงานมีฝีมือของไทยแต่มีค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าในประเทศของตนมาก รวมถึงใช้สิทธิประโยชน์จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการจ้างงานช่างฝีมือเจียระไนเพชรกว่า 4,000 คน
3) อุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับ ไทยมีชื่อเสียงในการผลิตเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน โดยช่างฝีมือไทยมีความสามารถผลิตสินค้าด้วยความประณีตและสวยงามเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ส่งผลให้ไทยเป็นผู้ส่งออกเครื่องประดับเงินใน 2 อันดับแรกของโลกมานานนับทศวรรษ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกต่างประเทศและบางส่วนจำหน่ายในประเทศ จึงมีการผสมผสานระหว่างการผลิตสินค้าด้วยมือและใช้เครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีค่อนข้างสูง โดยทั่วไปมักผลิตสินค้าแบบรับช่วงผลิต (Sub-Contract) หรือก็คือ การรับจ้างผลิตสินค้าตามคำสั่งของผู้ว่าจ้าง มีเพียงไม่กี่รายที่ผลิตสินค้าและจำหน่ายในแบรนด์ของตนเอง ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กมีจำนวนมากที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตเครื่องประดับซึ่งมักจะผลิตสินค้าโดยใช้แรงงานมีฝีมือและใช้เครื่องมือเครื่องจักรอย่างง่าย เน้นจำหน่ายสินค้าในประเทศ
ศักยภาพและความพร้อมของไทย
หากพิจารณาถึงศักยภาพและความพร้อมของไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก สามารถสรุปปัจจัยส่งเสริมต่อการบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ ดังนี้
1) ความสามารถในการเผาพลอย: แม้ว่าปัจจุบันไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบอัญมณีเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ แต่จากการเป็นเจ้าของเทคนิคการปรับปรุงคุณภาพพลอยสีด้วยความร้อน อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ยังไม่มีประเทศใดทัดเทียม ทำให้พลอยก้อนจากทั่วโลกกว่าร้อยละ 80 ถูกส่งมาปรับปรุงคุณภาพที่ไทย และช่วยให้ประเทศไทยยังคงมีวัตถุดิบอัญมณีไหลเวียนเข้าออกอย่างต่อเนื่อง
2) แรงงานทักษะฝีมือสูง: ไทยมีแรงงานเจียระไนพลอยสี เพชร และช่างฝีมือผลิตเครื่องประดับที่มีทักษะ ความชำนาญ และความประณีตในการผลิตค่อนข้างสูงเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก รวมถึงแรงงานใหม่ก็สามารถฝึกสอนได้ง่าย และพัฒนาทักษะฝีมือได้ในเวลาอันรวดเร็ว จึงนับเป็นจุดแข็งที่สำคัญและยังเป็นหนึ่งในปัจจัยดึงดูดให้บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย อาทิ Pandora Production Co.,Ltd. ซึ่งเลือกไทยเป็นฐานการผลิตเครื่องประดับเงินเพียงแห่งเดียวที่กระจายสินค้าไปทั่วโลก Rosy Blue Diamond Co., Ltd. ผู้ผลิตเพชรรายใหญ่ของโลกสัญชาติเบลเยียม ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในหลายอำเภอในจังหวัดพิษณุโลก และ Abbeycrest PLC บริษัทรายใหญ่สัญชาติอังกฤษ ซึ่งดำเนินธุรกิจออกแบบ ผลิต และจำหน่ายเครื่องประดับทองและเครื่องประดับเงิน ตั้งฐานการผลิตอยู่ในจังหวัดลำพูน เป็นต้น
3) ผู้ประกอบการเชี่ยวชาญการค้าและปรับตัวได้ไว: ผู้ประกอบการกิจการอัญมณีและเครื่องประดับไทยเชี่ยวชาญในการทำธุรกิจและหมั่นพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ทั้งด้านการแสวงหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต และการตลาด รวมถึงความเอาใจใส่ต่อลูกค้าทุกรายเสมือนเป็นญาติมิตรของตนเอง ซึ่งสร้างความประทับใจและช่วยคงความสัมพันธ์กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี
4) ความพร้อมด้านทำเลที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐาน: ประเทศไทยมีทำเลที่ตั้งเชื่อมโยงกับทุกภูมิภาคของโลก มีระบบโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภค และระบบการขนส่งที่ดี โดยไทยมีสนามบินในประเทศและนานาชาติหลายแห่ง รวมถึงระบบถนนที่เชื่อมโยงทุกจังหวัด จึงทำให้การเดินทางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศสะดวก มีโรงแรมที่พักหลากหลายระดับให้เลือกใช้บริการ อีกทั้งยังมีธรรมชาติที่งดงามและสถานที่ท่องเที่ยวติดอันดับโลกจำนวนมาก
5) พื้นที่การค้ากระจายอยู่ทั่วประเทศ: ไทยมีย่านค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของต่างชาติหลายแห่ง โดยแหล่งสำคัญคือ ตลาดพลอยจันทบุรี (ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองจันทบุรี บริเวณถนนตรีรัตน์ ถนนศรีจันทร์ และตรอกกระจ่าง) ตลาดพลอยแม่สอด (ตั้งอยู่บนนถนนประสาทวิถี อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก) และย่านการค้าในกรุงเทพฯ บริเวณถนนสีลม ถนนเจริญกรุง ถนนเยาวราช และถนนข้าวสาร นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ตั้งอยู่ในเขตปลอดอากร เช่น ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี และนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี (Gemopolis) อีกทั้งไทยยังมีงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับนานาชาติ (Bangkok Gems and Jewelry Fair) ซึ่งจัดขึ้นปีละ 2 ครั้งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ และกันยายน
6) หน่วยงานเฉพาะทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับที่เข้มแข็ง: สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ หรือ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยให้แข่งขันได้ในตลาดโลก ผ่านการรับประกันคุณภาพมาตรฐานสินค้า สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ พัฒนาคุณภาพบุคลากรในอุตสาหกรรมแบบครบวงจร และการให้บริการข้อมูลข่าวสารความเคลื่อนไหวในตลาดโลกแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงไทยยังมีสมาคมและชมรมเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของภาคเอกชน เพื่อดำเนินกิจกรรมเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม
7) การส่งเสริมสนับสนุนอย่างจริงจังจากภาครัฐ: รัฐบาลไทยได้ให้การส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยมาอย่างต่อเนื่องนานนับทศวรรษ โดยออกมาตรการส่งเสริมทั้งด้านภาษี การเงิน การตลาดทั้งในและต่างประเทศ และลดขั้นตอนกฎระเบียบต่างๆ เพื่อทำให้การค้าเป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับภาคเอกชนอย่างใกล้ชิด โดยเปิดรับฟังปัญหาและหาแนวทางแก้ไขอุปสรรคการค้าต่างๆ อีกทั้งยังได้มอบหมายให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือผู้ประกอบกิจการอัญมณีและเครื่องประดับครอบคลุมทุกด้านอีกด้วย
ดังนั้น ด้วยทักษะฝีมือแรงงานของไทยที่มีความชำนาญสูงทั้งการเจียระไนอัญมณีและผลิตเครื่องประดับ อีกทั้งผู้ประกอบการไทยเองมีการพัฒนาศักยภาพการผลิต การตลาด ตลอดจนได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อช่วยขจัดอุปสรรคทางการค้าเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันแก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย ปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกภายในอีก 5 ปีข้างหน้านี้
ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ
สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน)