แบรนด์ที่ดีและแข็งแรงนั้นไม่ได้เกิดจากความรักเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยกลยุทธ์การตลาดและความเข้าใจเพื่อผลักดันให้แบรนด์ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง วันนี้มาดู 7 ทริคทำแบรนด์ให้สตรองตามแบบฉบับของ สุพัจนา ลิ่มวงศ์ นักออกแบบและเจ้าของแบรนด์ La Orr เครื่องประดับแฮนด์เมดจากผ้าไหมที่ได้ใจทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่กัน
ใจต้องรัก
การทำแบรนด์ต้องเริ่มจากเราสนใจอะไรและรักอะไร เพราะการทำแบรนด์เหมือนการมีลูก เราต้องเลี้ยงประคบประหงม คือถ้าไม่ได้ชอบ ไม่ได้รัก ไม่ได้สนใจสิ่งนั้นจริงๆ เราจะอยู่กับมันไม่ได้นาน การมีใจรักยังเป็นตัวกระตุ้นให้แบรนด์มีความสนุกในการทดลองทำสิ่งใหม่ เกิดความท้าทาย ไม่เบื่อและไม่ทิ้งแบรนด์ไป
เป้าหมายต้องมีและต้องชัดเจน
การทำแบรนด์ให้สตรองต้องเริ่มจากการตั้งโจทย์ในใจว่าอยากให้แบรนด์ของเรามีทิศทางเป็นอย่างไร อย่างทางแบรนด์ La Orr เองนั้นมีการตั้งโจทย์ไว้ตั้งแต่แรกว่าจะทำงานคราฟต์ของไทยให้มีความร่วมสมัย โมเดิร์น ดูมีความเป็นแฟชั่น แล้วยึดคอนเซปต์นี้มาตลอด แม้ใช้วัสดุดั้งเดิมอย่างผ้าไหมแต่ด้วยลุค ด้วยสี โครงสร้างต่างๆทำให้สามารถใช้ได้จริงในปัจจุบัน ตอนแรกที่คนเห็นจะดูสะดุดตาด้วยสีและรูปทรงก่อน ยิ่งพอรับรู้ว่าทำมาจากผ้าไหม คนก็จะยิ่งตื่นเต้น เป็นจุดที่เหมือนเราเอาสิ่งที่คนมองว่ามันเป็นเรื่องไกลตัว กระเถิบให้มาเป็นเรื่องใกล้ตัวและใช้งานได้จริงในปัจจุบัน
ความอดทนต้องมา
แน่นอนว่าแบรนด์จะแข็งแรงและประสบความสำเร็จต้องเผชิญกับปัญหาและอุปสรรค แต่สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องมีคือความอดทน อย่างปัญหาและอุปสรรคของทางแบรนด์ในช่วงแรกของการทำธุรกิจคือ การขาดความเข้าใจจากตัวผู้บริโภค ช่วงแรกๆที่พอพูดว่าทำเครื่องประดับจากผ้าไหม คนอาจจะยังไม่ยอมรับ คนอาจจะยังใม่ค่อยเก็ทเท่าไหร่ ทำไมเครื่องประดับต้องทำจากผ้าไหม แล้วมันจะออกมาเป็นยังไง มันจะดูเชยหรือเปล่า ด้วยความที่ว่ามันมีคำว่าผ้าไหมทำให้เราจะนึกถึงความเป็นผู้ใหญ่ ความเป็นทางการ บางคนพอได้ยินแค่นี้ก็ไม่สนใจเลย ดังนั้นเราก็ต้องใช้ความอดทนค่อยๆทำให้เขารู้จักงานของเรามากขึ้นเรื่อยๆ
มองความต้องการของลูกค้า
แม้การดีไซน์สินค้าจะมาจากแรงบันดาลใจและความชอบส่วนตัวของนักออกแบบ แต่หากอยากให้แบรนด์สตรอง ตีตลาดได้ ทางแบรนด์ต้องคำนึงถึงความต้องการของลูกค้าด้วย อาจมีการลดสเกลให้เป็นของที่ขายได้และให้คนทั่วไปใช้ได้จริงในทุกๆวัน
ฟังเสียงลูกค้า
แบรนด์จะก้าวเดินไปได้อย่างไรถ้าไม่รับฟังเสียงของลูกค้าเลย ดังนั้นการรับฟังฟีดแบค คำแนะนำ คำติชมจากลูกค้าแล้วนำมาปรับปรุงงานอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นส่วนสำคัญของการทำแบรนด์ให้เติบโต ทำให้ผู้ประกอบการมองเห็นปัญหาหรืออะไรบางอย่างที่ทางแบรนด์อาจจะละเลยไป เช่น ลูกค้าชมว่าสินค้าสวยแต่ไม่ซื้อ แบรนด์ก็ต้องมาดูว่าที่เขาไม่ซื้อนั้นเป็นเพราะอะไรโดยอาศัยเอาคำติชมเหล่านั้นมาปรับปรุง
สร้างความน่าเชื่อถือ
หนึ่งในกลยุทธ์ของการทำแบรนด์ให้สตรองคือการหารางวัลต่างๆมาการันตีเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและดึงความสนใจจากลูกค้า เช่น ของทางแบรนด์พอบอกว่าเป็นเครื่องประดับผ้าไหมที่มีรางวัลการันตี คนก็จะเริ่มคิดว่าทำไมแบรนด์ถึงได้รางวัล อย่างน้อยคนก็จะเริ่มฉุกคิดว่าอยากเห็นสินค้าและมีความอยากรู้ในตัวแบรนด์มากขึ้น
จับมือต่างแบรนด์
ยุคนี้หนีไม่พ้นเคมเปญการโคแบรนด์ซึ่งถือเป็นกลยุทธ์การตลาดที่มีประสิทธิภาพอย่างหนึ่ง อาจจะไม่ได้เป็นการพีอาร์หรือประชาสัมพันธ์โดยการขายของเป็นชิ้นๆ ลงเป็นโฆษณา แต่ว่าเป็นการพีอาร์ตัวแบรนด์ในลักษณะที่ว่าแบรนด์เราจะสร้างความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา จะมีของใหม่ๆ ของแปลกๆออกมาให้คนได้ตื่นเต้นเสมอ ดังนั้นการโคแบรนด์จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการสร้างโอกาสการเติบโตของแบรนด์ สมมติเราอยู่แบรนด์เดียว เราก็จะมีกลุ่มลูกค้าของเราอยู่กลุ่มหนึ่ง ถ้าเราไปโคกับอีกแบรนด์อย่างน้อยลูกค้าก็กลายเป็น 2 กลุ่ม ซึ่งลูกค้าของแบรนด์นี้ก็จะสนใจว่ามาโคกับแบรนด์นี้หรอ คล้ายๆว่าเป็นการแลกเปลี่ยนลูกค้ากัน เป็นพันธมิตร วินวินทั้งคู่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี