ทุกวันนี้เราเริ่มเห็นหลายๆ แบรนด์ที่มีความแตกต่างกันหันมาจับมือทำงานร่วมกันหรือทำการ Co-Brand มากขึ้น มาฟังมุมมองในเรื่องนี้กับ ภูมิศักดิ์ เฑียรฆประสิทธิ์ Visual & Commercial Director / Founder แบรนด์ PAINKILLER เสื้อผ้าผู้ชายที่มีเอกลักษณ์การออกแบบแนว Romantic Minimal ที่อยู่ในวงการมากว่า 10 ปีโดยเป็นที่ยอมรับและมีชื่อเสียงในหลายประเทศ
การ Co-Brand เป็นการสร้างโอกาส
การ Co-Brand ไม่เรียกว่าเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่เป็นโอกาสที่ดี เพราะการร่วมมือกันมันทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดระหว่างกัน อีกทั้งไม่ใช่ว่าทุกแบรนด์จะทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งเราที่เป็นแบรนด์แฟชั่นทำเสื้อผ้า แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำรองเท้าได้ ทำกระเป๋าได้ ดังนั้น การที่แบรนด์ได้ร่วมมือกันเป็นการเปิดโอกาสในการสร้างไลฟ์สไตล์ ทุกวันนี้ถ้าลองสังเกตดูร้านเสื้อผ้าจะไม่ได้ขายเฉพาะเสื้อผ้าแล้ว มันต้องมีหลายๆ อย่างเข้ามาขายอย่างเครื่องหอม สกินแคร์ กระเป๋า หนังสือ ทุกอย่างที่เป็นไลฟ์สไตล์โปรดักต์ เป็นไปไม่ได้หรอกที่แบรนด์ๆ หนึ่งจะทำได้ทุกอย่าง หรือทำได้ดี เพราะฉะนั้นการร่วมมือกันเลยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเครื่องมือกันและกัน และทำให้โปรดักต์ที่เกิดขึ้นมาใหม่มันน่าสนใจและดีขึ้น
เพิ่มการเรียนรู้
การ Co-Brand ช่วยทำให้เกิดการเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ เพราะแต่ละโปรดักต์ แต่ละดีไซน์เนอร์ ต่างทำงานออกมาเพื่อการค้าขาย ซึ่งของแต่ละอย่างจะมีการขายได้หรือขายไม่ได้ไม่เท่ากัน บางโปรดักต์ขายดีมาก ในขณะที่บางโปรดักต์ขายไม่ได้เลยแม้ว่ามีดีไซน์สวยมาก ดังนั้นการร่วมมือกับต่างแบรนด์จะช่วยให้เราสามารถเรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจระหว่างกันได้อย่างเรื่องการตั้งราคา การเลือกเป้าหมายลูกค้าหรือตลาดในการขายของ เพราะการทำโปรดักต์ออกมาดีมันก็ต้องขายได้ด้วย
ความคุ้มค่าต้องมี
แต่อย่างไรก็ตาม การที่แบรนด์ต่างๆจะทำของมาขายร่วมกันนั้น ต้องเห็นถึงความคุ้มค่าของการที่มาอยู่ด้วยกันซึ่งต้องมีการส่งเสริมซึ่งกันและกัน ทำให้งานดีไซน์ออกมาดีขึ้นและมีคุณค่ามากยิ่งขึ้น
ความท้าท้าย
หนึ่งในอุปสรรคของการร่วมงานกับแบรนด์รุ่นใหม่ คือ หลายๆ แบรนด์ไม่มีประสบการณ์ในเชิงพาณิชย์จริงๆ เพราะการทำของออกมาขายมันต้องขายได้จริง ไม่ใช่ดีแค่มีดีไซน์ที่สวย ความท้าท้ายเลยมาอยู่ที่การบาลานซ์เรื่องของดีไซน์ว่าควรจะอยู่ตรงไหน ทำยังไงให้ไม่สูญเสียความเป็นตัวเองด้วยเวลาไป Co-Brand กับคนอื่น บางแบรนด์พอไปร่วมกับแบรนด์อื่นแล้วจุดยืนของตัวเองหายไป
นอกจากนี้ ภูมิศักดิ์ ยังฝากถึงข้อคิดในการทำแบรนด์ให้แข็งแกร่งพร้อมเดินหน้าอย่างมั่นคงว่า
ความสม่ำเสมอจะทำให้แบรนด์อยู่รอด
ความสม่ำเสมอในสิ่งที่เราทำ การไม่หลงทางจากสิ่งที่เราตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นจะทำให้แบรนด์มีจุดแข็งและอยู่รอดได้ เช่นการทำเรื่องของแบรนด์ การรักษาภาพลักษณ์ของแบรนด์อย่างสม่ำเสมอ บางแบรนด์อาจจะไม่ได้ดังภายในเดือนสองเดือน หรือปีสองปี แต่ถ้าสามารถทำให้แบรนด์มีความสม่ำเสมอ เชื่อว่าวันหนึ่งจะมีคนเห็นเองว่าเป็นแบรนด์ที่ดี โดยผู้บริโภคจะรู้สึกมั่นคงและมั่นใจที่จะเลือกโปรดักต์ของเราไปใช้หรือเอาไปขายต่อ
ในบ้านต้องสนับสนุน
การที่แบรนด์หรือดีไซเนอร์ต่างๆจะสามารถไปเติบโตได้ในต่างประเทศ ต้องได้รับการสนับสนุนจากคนในบ้านก่อน ต้องแข็งแรงจากข้างในก่อน ถ้าเราได้รับการสนับสนุนจากคนไทย วันหนึ่งจะทำให้การออกแบบของเราไปสู่ระดับสากลได้โดยไม่ยาก
อย่าทิ้งความเป็นตัวเอง
แม้จะเจออุปสรรคแค่ไหน สิ่งที่แบรนด์ไม่ควรละทิ้ง คือความเป็นตัวตนหรือเอกลักษณ์ของแบรนด์ ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ พัฒนาอยู่ตลอดเพื่อทำให้โปรดักต์ตัวเองมีความเหมาะสม ตรงกับกลุ่มเป้าหมายของแบรนด์จริงๆ จะช่วยผลักดันให้แบรนด์ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ทุกคนตอนเริ่มทำแบรนด์มักมีความฝันสวยหรูว่าแบรนด์ฉันเป็นประมาณนี้นะ ของเป็นประมาณนี้ จะขายคนแบบนี้ แต่พอทำไปทำมากลับขายไม่ได้ แล้วก็ไปเปลี่ยน คิดว่าถ้ามาทำแบบนี้ก็จะขายได้ โดยที่เสียความตั้งใจ ความชัดเจนของตัวแบรนด์ ภาพลักษณ์ของแบรนด์หายไป พอสุดท้ายแล้วก็เหมือนกับคนที่ไม่ได้มีตัวตนจริงๆ เพราะเอกลักษณ์ของเรามันหายไป ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ต้องอยู่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี