ส่องธุรกิจขนส่งทางถนนปีม้าโอกาสเติบโตสูง

 
 
 
     ภาพรวมของธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยในปี 2556 ที่ผ่านมา มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการขยายตัวของธุรกิจในท้องถิ่นตามภูมิภาคต่างๆ และการกระจายตัวของธุรกิจรายใหญ่จากส่วนกลางไปยังภูมิภาคยังคงมีความคึกคักอย่างต่อเนื่อง ทำให้ความต้องการวัตถุดิบในการผลิตสินค้าและความต้องการสินค้ามีมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้การขนส่งทางถนนเติบโตตามไปด้วย แต่ทั้งนี้ ยังคงมีประเด็นที่ภาคธุรกิจขนส่งยังคงเผชิญความเสี่ยงอยู่คือ ปัญหาจากผลกระทบในการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานที่สูงขึ้น และปัญหาต้นทุนราคาเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 
 
     การขยายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาคและการค้าชายแดน...โอกาสของธุรกิจขนส่งทางถนนปี 2557 
 
     สำหรับในปี 2557 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธุรกิจขนส่งทางถนนน่าจะเติบโตตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กระจายตัวสู่ภูมิภาคมากขึ้น โดยมีปัจจัยหนุน ได้แก่ การขยายการลงทุนของภาคเอกชนไปยังภูมิภาค
 
     ในปี 2557 นี้ มองว่า ผู้ประกอบการธุรกิจรายใหญ่ยังคงจะขยายการลงทุนไปยังภูมิภาค โดยความสำคัญของการเติบโตของความเป็นเมือง (Urbanization) ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดการลงทุนไปยังต่างจังหวัด โดยเฉพาะธุรกิจค้าปลีกและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่เพื่อรองรับอุปสงค์ของประชากรในภูมิภาค 
 
     นอกจากนี้ การจะก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2 ปีข้างหน้านี้ จะทำให้การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV เนื่องจากจะมีการลดภาษีนำเข้าลงเหลือร้อยละ 0
 
     ทั้งนี้ เพื่อต้อนรับการเปิดเสรีดังกล่าว ที่ผ่านมาไทยได้มีความร่วมมือในการพัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงกับประเทศในภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากเส้นทางอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion หรือ GMS) อาทิ เส้นทาง R3A ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้ (North South Economic Corridor :NSEC) ที่ได้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งระหว่างจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) กับกรุงเทพมหานครผ่านสปป.ลาว
 
     โดยล่าสุดเมื่อธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาได้มีการเปิดใช้สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 4 (เชียงของ-ห้วยทราย) นอกจากนี้ ภายหลังจากการเปิด AEC มีแนวโน้มที่ภาคเอกชนของไทยจะเข้าไปลงทุนในประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะ CLMV เพิ่มมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีความได้เปรียบของต้นทุนแรงงาน ทั้งนี้ จะทำให้การขนส่งปัจจัยการผลิตต่างๆ ระหว่างประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น 
 
     ดังนั้น การขนส่งทางถนนจึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยสัดส่วนการขนส่งทางถนนระหว่างประเทศของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นลำดับจากร้อยละ 5.2 ของการขนส่งระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด ในปี 2550 เป็นร้อยละ 11.1 ในปี 2555  จึงนับเป็นโอกาสที่ดีของผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งทางถนน ซึ่งปัจจุบันก็ได้มีผู้ประกอบการขนส่งไทยรายใหญ่หลายรายเริ่มเข้าไปลงทุนดำเนินธุรกิจขนส่งในประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เมียนมาร์ 
 
       นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจขนส่งผ่านทางเส้นทาง R3A ไปยังจีน ทั้งนี้ AEC ไม่เพียงแต่ส่งผลบวกแก่การขนส่งระหว่างประเทศเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้จังหวัดที่มีเส้นทางการเชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับกรุงเทพมหานครพาดผ่านได้รับอานิสงส์จากกิจกรรมการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและสินค้าต่างๆ ตามไปด้วย
 
     อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการขยายตัวของธุรกิจขนส่งทางถนน ยังคงมีความท้าทายที่ผู้ประกอบการไทยยังคงต้องเผชิญอยู่ 
 
ธุรกิจขนส่งทางถนนปี 2557... ยังคงเผชิญความท้าทาย 
 
       สำหรับ ปัจจัยท้าทายของธุรกิจขนส่งในปี 2557 นี้ ยังคงต้องจับตามองปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่อาจมีความยืดเยื้อ จนอาจส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวม และทำให้การบริโภคเกิดการชะลอตัว ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมต่อธุรกิจขนส่ง อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน ภาคการขนส่งและกระจายสินค้ามีการปรับตัวในการบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ ซึ่งน่าจะรับมือกับความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อระบบคมนาคมขนส่งในบางพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ ยังคงมีปัญหาธุรกิจเฉพาะของธุรกิจขนส่งทางถนน อาทิต้นทุนการประกอบการธุรกิจทางถนนมีแนวโน้มสูงขึ้น
 
     ในปี 2557 นี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งไทยต้องเผชิญยังคงเป็นปัญหาที่ต่อเนื่องมายาวนาน คือปัญหาต้นทุนในการประกอบกิจการที่สูงจากค่าแรงและราคาพลังงาน โดยแม้ว่าในปี 2557 จะไม่ได้รับผล
 
      กระทบจากการที่ต้องปรับตัวรับค่าแรง 300 บาทอย่างเช่นปีที่ผ่านมา แต่ยังคงต้องประสบกับภาวะขาดแคลนแรงงานในภาคโลจิสติกส์ ทั้งในระดับวางแผนและระดับปฏิบัติการ โดยเฉพาะในขั้นตอนที่ต้องพึ่งพาแรงงานคน อาทิ การขับรถส่งสินค้า เป็นต้น ซึ่งภาวะดังกล่าวทำให้ผู้ประกอบการต้องมีการปรับขึ้นค่าจ้างเพื่อดึงดูดกำลังแรงงาน  
 
     นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามแนวทางการดำเนินนโยบายอุดหนุนราคาพลังงานของภาครัฐ ซึ่งอาจจะส่งผลต่อแนวโน้มของราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น โดยได้มีการปรับขึ้นราคาก๊าซ LPG 0.5 บาท/กิโลกรัม/เดือน มาตั้งแต่เดือนกันยายน 2556 ที่ผ่านมา ตลอดจนความเป็นไปได้ที่จะมีการขยับราคาน้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) ในอนาคตอันใกล้ จากปัจจุบันที่มีการตรึงราคาไว้ไม่เกิน 30 บาท/ลิตร และ 10.50 บาท/กิโลกรัม 
 
     โดยสรุป ธุรกิจขนส่งทางถนนของไทยยังคงมีโอกาสอีกมาก โดยได้รับอานิสงส์ทั้งจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อตอบสนองความเติบโตของความเป็นเมืองในต่างจังหวัดและความร่วมมือในภูมิภาคอาเซียนเพื่อรองรับการเปิด AEC โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจังหวัดหัวเมืองหลัก และจังหวัดการค้าชายแดน ส่งผลให้มีความต้องการสินค้าที่สูง จึงเป็นโอกาสของ ธุรกิจคลังสินค้าและศูนย์กระจายสินค้า
 
     เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว และเป็นการลดต้นทุนในการจัดเก็บสินค้า และการขนส่ง นอกจากนี้ ธุรกิจรถห้องเย็น เพื่อใช้ในการขนส่งสินค้าประเภทอาหาร เช่น พืชผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ อาหารทะเล ฯลฯ ไปยังห้างสรรพสินค้าที่มีแนวโน้มขยายตัวไปยังต่างจังหวัด และเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศเช่น สปป.ลาว และมณฑลยูนนานของจีนตามเส้นทาง R3A ก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าจะยังสามารถเติบโตได้อีกมาก
 
     ทั้งนี้ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อป้องกันการเข้ามาแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของผู้ประกอบการอาเซียนและผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศในตลาดที่มีโอกาสจากการเปิด AEC 
 
     ท้ายที่สุด เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบทางด้านภูมิศาสตร์ที่มีพรมแดนติดกับประเทศอาเซียนถึง 4 ประเทศ และมีทางออกสู่ทะเลทั้งทางฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน จึงเป็นจุดแข็งสำคัญที่ไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางถนนของภูมิภาคอาเซียนได้ ทั้งนี้ ต่างชาติหวังที่จะใช้ไทยเป็นฐานในการขนส่งทางถนนเชื่อมโยงกับการขนส่งทางทะเลเพื่อส่งสินค้าออกสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะผู้ประกอบการมาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ที่อาจจะเข้ามาลงทุนแข่งขันในไทยภายหลังการเปิด AEC 
 
     ดังนั้น ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการขนส่งทางถนนอย่างเป็นรูปธรรม โดยการจัดระเบียบโครงสร้างรถบรรทุกในประเทศให้เกิดความเข้มแข็ง และปรับปรุงแก้ไขกฎหมายขนส่งให้สอดคล้องกับความตกลงระหว่างประเทศแต่ยังคงเอื้อต่อผู้ประกอบการไทย เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขันให้บริการขนส่งทางถนนภายในประเทศเอาไว้ อาทิ การจัดเก็บค่าธรรมเนียมจากรถของประเทศภาคีอื่นๆ ที่เข้ามาวิ่งในเขตประเทศไทย
 
      เช่นเดียวกับ สปป.ลาว เวียดนาม และจีน ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ไทยเป็นเพียงเส้นทางผ่านในการขนส่งสินค้าและถูกใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคมของบริษัทต่างชาติเท่านั้น
 
 
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน