ปัจจุบันมีผู้ประกอบการด้านไอซีทีขนาดกลางและเล็ก (SMEs) มากกว่า 45,000 ราย แบ่งเป็นขนาดกลางกว่า 6,000 ราย ขนาดเล็ก 39,000 ราย แต่ส่วนใหญ่มีปัญหาเหมือนกันคือการหาแหล่งเงินทุนเพื่อขยายกิจการ เนื่องจากเป็นธุรกิจ ที่มี "ปัญญาเป็นสินทรัพย์" ที่ไม่สามารถจับต้องหรือตีราคาค่างวดได้ยากเย็น
อย่างไรก็ตาม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เตรียมจัดตั้งกองทุนสำหรับสนับสนุนแหล่งเงินทุนให้ SMEs ด้านไอซีทีแล้ว แต่กว่าจะเสร็จเรียบร้อยคงต้องใช้เวลาอีกเป็นปีจึงจะเป็นรูปเป็นร่างระหว่างนี้เอสเอ็มอี "ไอซีที" จะหาแหล่งเงินทุนจากไหนได้บ้าง ?
"อัจฉริยา อักษรอินทร์" ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไอซีทีขนาดกลางและย่อย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยว่า การจัดตั้งกองทุนสนับสนุน SMEs ด้านไอซีทีไทยคาดว่าจะใช้เงินตั้งกองทุนไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อช่วยแก้ปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการได้ แต่การร่วมทุน (Venture Capital : VC)
และ Private Equity หรือ PE ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากการจัดอันดับความน่าสนใจในการลงทุนรูปแบบ VC/PE ของนักลงทุนต่างชาติ พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 34 จากทั้งหมด 80 ประเทศ ลดลงจาก 6 ปีก่อนถึง 6 อันดับ
แม้ไทยจะยังดีกว่าอินโดนีเซียที่อยู่ลำดับที่ 48 แต่น่าสนใจน้อยกว่าประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียที่อยู่ในอันดับที่ 4 และที่ 18 ตามลำดับ เนื่องจากประเทศไทยขาดการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมต่าง ๆ โดยมีสัดส่วนการใช้งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาเพียง 0.2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ทั้งที่อุตสาหกรรมไอซีทีมีผลต่อการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจของประเทศ และทำให้ประเทศสามารถแข่งขันในระดับสากลได้
ด้าน "จริมจิต เกิดบ้านชัน" ผู้ช่วยคณบดีคณะบริหารธุรกิจ และหัวหน้าสาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ กล่าวว่า แนวทางจัดทำแผนธุรกิจเพื่อการระดมทุนมวลชน (Crowd Funding) จากทั่วโลกโดยอาศัยช่องทางเครือข่ายออนไลน์เป็นอีกช่องทางใหม่ที่ในต่างประเทศใช้กันมากและเหมาะกับธุรกิจไอซีที โดยในสหรัฐอเมริกาใช้การระดมทุนนี้กว่า 400 กรณี เพียงแต่ต้องระวังไม่ให้อาชญากรแฝงตัวเข้ามาในช่องทางนี้ด้วย
ฟากเจ้าของเงินทุน "ธวัชชัย ยงกิตติกุล"เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ระบุว่า สถาบันการเงินมีการปล่อยสินเชื่อให้ SMEs อยู่แล้ว แต่จะได้รับอนุมัติหรือไม่ สำคัญที่ตัวผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบการต้องรู้ว่าตนเองทำอะไร สินค้านี้มีตลาดรองรับหรือไม่ มีแผนธุรกิจชัดเจน จากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยมักรู้วิธีการผลิตแต่ไม่รู้วิธีขายหรือรายละเอียดอื่น ๆ ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จ เช่น คนผลิตแก้วกาแฟแต่กลับไม่เคยดื่มกาแฟ จึงไม่รู้ว่าแก้วที่ผลิตมาดื่มยาก เพราะถือจับลำบาก เป็นต้น
ขณะที่การแปลงทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเงินทุนในต่างประเทศทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายสนับสนุน แต่ประเทศไทยการผลักดันร่างกฎหมายยังไม่สำเร็จ ทำให้ผู้ประกอบการที่มีแต่ทรัพย์สินทางปัญญาจึงยังมีอุปสรรคบ้างในการพัฒนาผลิตภัณฑ์มาฟังความคิดเห็นของผู้ประกอบการไอซีทีบ้าง
"ปฐม อินทโรดม" กรรมการผู้จัดการบมจ.เออาร์ไอพี (ARIP) กล่าวว่า เริ่มทำธุรกิจสิ่งพิมพ์โดยใช้เงินทุนจากญาติพี่น้องและสินเชื่อจากธนาคาร ต่อมามองว่าสิ่งพิมพ์ลดบทบาทลงจึงเปลี่ยนธุรกิจเป็นด้านออนไลน์แทน แต่การหาเงินทุนในประเทศไทยมาสนับสนุนเป็นเรื่องยากจึงต้องหาผู้ลงทุนจากต่างชาติแทน
แต่จากประสบการณ์พบว่าไม่ยากเกินไป ขอเพียงแค่มีแผนธุรกิจชัดเจน และสามารถอธิบายให้เห็นภาพชัดเจน โดยเงินทุนที่ได้ทำให้การขยับขยายธุรกิจทำได้ดีขึ้น จนมาเริ่มจัดงานอีเวนต์
"คอมมาร์ต" ซึ่งในอดีตเป็นงานที่สามารถสร้างเงินได้ทุกตารางนิ้ว ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำ แต่เวลาผ่านไปธุรกิจเริ่มคงตัว รายได้ไม่ดีเหมือนเดิมในฐานะผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทันสถานการณ์อยู่เสมอ เช่น ปัจจุบันเริ่มขยายไปธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์ โดยเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์สำหรับใช้บนแท็บเลตเด็กประถมสิ่งสำคัญคือธุรกิจไอซีทีไม่มีสูตรตายตัว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ทำให้แหล่งทุน
จับต้องไอเดียธุรกิจให้ได้ กว่า 98% ของธุรกิจนี้สินค้าเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ อย่างเว็บไซต์วงใน "Wongnai" ใครจะคิดว่าจะหารายได้จากการทำรีวิวอาหารได้ และการพัฒนาก็ต้องตามใจแหล่งทุนบ้าง อย่าง "Ookbee : อุ๊คบี" ที่ทำ E-book ก็ทำสินค้าที่เอื้อต่อแหล่งทุนอย่างเอไอเอสให้มีรายได้จากโมบายอินเทอร์เน็ต รวมถึงคิดเผื่อเทรนด์ในอนาคตด้วย
"ธนชาติ นุ่นนนท์" นักวิชาการด้านไอซีทีกล่าวว่า อันที่จริงแล้วเงินทุนเป็นเรื่องรอง แต่ผู้ประกอบการไอซีทีควรมองว่าจะทำผลิตภัณฑ์อย่างไรให้ดีและตอบรับตลาดต่างประเทศด้วย หากทำได้ดีจะดึงดูดแหล่งเงินทุนได้ด้วย
"การทำธุรกิจต้องมีล้มเหลวเพื่อเป็นประสบการณ์ อย่างเกมแองกรี้เบิร์ดกว่าจะประสบความสำเร็จล้มเหลวมากว่า 51 ครั้ง แต่ผู้ประกอบการไทยโดนฝังหัวว่าถ้าทำธุรกิจล้มไม่ควรทำอีก ซึ่งน่าเสียดายเพราะนักพัฒนารุ่นใหม่ ๆ มีแนวคิดแปลก แตกต่างจากเมื่อก่อนมาก"
ขอบคุณที่มา : ประชาชาติธุรกิจ