Text : ไศลธร เหมะสิขัณฑกะ
Photo : วิภาวดี พิสุทธิ์สิริอภิญญา
ด้วยแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่เกิดจากความสงสัยว่า ทำไมประเทศไทยรณรงค์ลดการใช้ภาชนะโฟมมาเป็นสิบๆ ปี แต่ถึงวันนี้โฟมก็ยังถูกใช้กันอย่างแพร่หลาย ในขณะที่นานาประเทศทั่วโลกเขาสามารถ ลด ละ เลิก การใช้โฟมได้สำเร็จแล้ว นี่เองที่จุดประกายให้สองพี่น้อง ภัฏ และ ภัทรวุฒิ เตชะเทวัญ ก่อตั้งธุรกิจ TP Packaging Solution ขึ้น เพื่อเปลี่ยนโลกบรรจุภัณฑ์ไทยให้เป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกได้อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างรายได้ถึงเดือนละ 1 ล้านบาท
“ในหลายๆ ประเทศแก้ไขปัญหาเรื่องการใช้โฟมโดยภาครัฐเป็นผู้ออกคำสั่งบังคับใช้ เช่น จีนและสหรัฐอเมริกา มีกฎหมายว่าห้ามใช้บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากโฟม ซึ่งกฎหมายลักษณะนี้ใช้ไม่ได้ผลในบ้านเรา เพราะความต่างในด้านไลฟ์สไตล์ ยกตัวอย่างเรื่องต้นทุน บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกจะมีต้นทุนประมาณ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่พ่อค้าแม่ค้าบางรายอาจมีรายได้แค่ 5,000-6,000 บาทต่อเดือนเท่านั้น จึงกลายเป็นปัญหาว่า ทำไมเขาจึงไม่ได้ใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ดังนั้น เมื่อเรามีปัญหาที่เกิดจากความแตกต่างด้านวิถีชีวิตไม่เหมือนกับประเทศอื่น เราก็ต้องหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่แตกต่างจากประเทศอื่นด้วย โดยแทนที่จะออกกฎหมายบังคับใช้ ทำไมไม่หาวิธีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาให้กับพวกเขาแทน ช่วยให้ธุรกิจการเงินและชีวิตของเขาดีขึ้นเมื่อเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ เราจึงต้องไม่มองแค่จะทำอย่างไรให้พ่อค้าแม่ค้าเปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก แต่ต้องมองว่าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกของเรา จะเข้าไปช่วยส่งเสริมธุรกิจของพวกเขาอย่างไรด้วย”
ด้วยความรู้สึกที่อยากแก้ไขปัญหาสังคมในเรื่องนี้ คนหนุ่มทั้งสองเลยอาสามาเป็นส่วนหนึ่งที่จะค้นหาทางออกให้ โดยในตอนนั้น ภัทรวุฒิทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมด้านกระดาษและแพ็กเกจจิง ส่วนภัฏอยู่ในธุรกิจให้คำปรึกษา และทั้งสองคนเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออกที่แก้ไขได้เสมอ จึงเริ่มลงพื้นที่สำรวจเพื่อเก็บข้อมูลว่า อะไรคือสาเหตุที่ทำให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาด ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการใช้งานโฟมมากที่สุด ถึงยังไม่เปลี่ยนมาใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ปัญหานี้เกิดจากอะไรกันแน่ ด้วยแนวคิดแบบกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ที่เริ่มตั้งแต่ ตีกรอบกำหนดปัญหา ตั้งสมมุติฐาน ทดลอง วิเคราะห์ และสรุปผล
ภัทรวุฒิเล่าว่า เขาและน้องชายเริ่มต้นด้วยการทำตัวเหมือนเป็นเซลส์แมนคนหนึ่ง ที่หอบเอาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไปเสนอขายจริงๆ และแน่นอนว่า กระแสตอบรับไม่ดีพอ เนื่องจากยอดขายเดือนแรกทำได้แค่ 200 บาทเท่านั้น ทั้งคู่จึงลงลึกไปที่รายละเอียดว่า ทำไมลูกค้าจึงปฏิเสธ คำตอบคือ ราคาแพงไป ซึ่งคำตอบนี้ตรงกับข้อสมมุติฐานว่าหากต้นทุนต้องสูงขึ้นเพราะบรรจุภัณฑ์ราคาแพงเมื่อนำไปใช้ ธุรกิจของพ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้จะดีขึ้นหรือไม่ ยอดขายร้านค้าจะพุ่งสูงตามไหม แต่นั่นไม่ใช่แค่สมมุติฐานเดียว เพราะไอเดียแนวทางการแก้ไขปัญหาของพวกเขาไม่ได้จบแค่เรื่องราคาต้นทุน ดังนั้น สมมุติฐานใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจจึงเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะการจะแก้ไขปัญหาต้องมองให้ครบทุกมิติ
“เราตั้งสมมุติฐานและทดสอบกับหลายๆ วิธีการ เช่น เอาป้ายไปตั้งที่ร้านซึ่งใช้โฟมแล้วก็เอาบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกไปฝากไว้ที่ร้านเขา เพื่อทดสอบว่าหากผู้บริโภคมาแล้วยอมจ่ายเพิ่มอีก 5 บาท เพื่อเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์รักษ์โลกคนจะยอมเปลี่ยนหรือไม่ ซึ่งผลที่ออกมาถือว่าใช้ได้เพราะผู้บริโภคกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ยอมเปลี่ยน จากที่เราลองทดสอบวิธีนี้ที่เยาวราชดูทำให้เห็นว่า มีโอกาสที่ผู้บริโภคจะหันมาใช้ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ได้ แต่เราต้องมองให้ครบทุกมิติว่าปัญหาเกิดขึ้นจากส่วนใด”
ภัฏเล่าว่า ปัจจุบันยอดขายของบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกอยู่ที่ประมาณเดือนละ 1 ล้านบาท และมีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ประมาณ 2 เท่าต่อเดือน ซึ่งปีนี้เขาตั้งเป้าว่าจะมียอดขายแตะ 20 ล้านบาท ทั้งนี้ เขากล่าวถึงจุดแข็งที่ทำให้ TP Packaging Solution มียอดขายที่เติบโตจากเดือนละ 200 บาทกลายเป็นเดือนละ 1 ล้านบาทว่า พวกเขาไม่ได้ใช้วิธีการว่าจะดำเนินธุรกิจอย่างไรมาเป็นตัวเริ่มต้น แต่ใช้การมองว่าเวลานี้คนกำลังเผชิญกับปัญหาอะไร แล้วนำปัญหานั้นมาตั้งสมมุติฐานเพื่อหาแนวทางแก้ไข ธุรกิจของพวกเขาจึงไม่ใช่แค่การทำบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมออกมาขาย แต่เป็นการนำโซลูชั่นเข้ามาแก้ไขปัญหาตอบโจทย์ธุรกิจให้กับคนที่ทำธุรกิจ และยังสามารถตอบแทนสังคมได้ด้วย ที่สำคัญที่สุดคือการลงพื้นที่เข้าไปพบลูกค้าจริงๆ ไปเห็นปัญหาที่ลูกค้าเผชิญจริงๆ แล้วนำมาวิเคราะห์ว่าจะแก้ไขปัญหานั้นอย่างไร
“บางเคสเราเลือกใช้โซลูชั่นที่เป็นบัตรเครดิตต่างๆ เพื่อช่วยให้เงินทุนหมุนเวียนดีขึ้น หรือเรื่องของการเก็บสต็อกสินค้า ตอนที่เราลงพื้นที่ไปดูบรรจุภัณฑ์โฟมจะกินเนื้อที่มากกว่าบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกถึง 4 เท่า ซึ่งพื้นที่ที่เพิ่มขึ้นมาก็คือต้นทุน ดังนั้น เมื่อเราลดการใช้พื้นที่นี้ลงไปก็ทำให้พวกเขาลดต้นทุนได้เช่นกัน ซึ่งแนวทางนี้แม่ค้าจะยังไม่เข้าใจแต่ภาคธุรกิจและการตลาดจะมองออก เราจึงหาแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เขาเข้าใจว่าพื้นที่ตรงนี้สามารถนำมาก่อประโยชน์ให้ถึงที่สุดได้ ธุรกิจของเราจึงไม่ใช่แค่การเข้าไปเสนอขายบรรจุภัณฑ์ แต่เรานำเอาความรู้ทางด้านธุรกิจมาประยุกต์ใช้ เพื่อแนะแนวพ่อค้าแม่ค้าให้เขาสามารถเปลี่ยนชีวิตตัวเองให้ดีขึ้นได้”
พวกเขามองว่า นี่คือแนวคิดที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะคำว่านวัตกรรมไม่ได้จำกัดอยู่แค่การประดิษฐ์สิ่งของขึ้นมาเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงการสร้างวิธีคิดใหม่ๆ กระบวนการใหม่ๆ ที่อุตสาหกรรมยังไม่เคยมี และสามารถแก้ปัญหาของอุตสาหกรรมนั้นได้
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: MARKETING
เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air
จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน