การตลาดดิจิทัลสำหรับร้านกาแฟยุค 4.0

Text : ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช



 
     คงเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริงไปนัก หากจะบอกว่า โลกกำลังติดกาแฟ (งอมแงม) เพื่อนผมหลายคนถึงกับบอกว่า เขาอยู่ไม่ได้แน่ ถ้าไม่มีกาแฟให้ดื่ม (ทุกวัน) ยิ่งถ้าพูดถึงตัวธุรกิจด้วยแล้ว มันหอมหวนไม่แพ้กลิ่นกาแฟกันเลยทีเดียว และนั่นทำให้ไม่เป็นเรื่องแปลกอีกเช่นกัน ที่ธุรกิจร้านกาแฟมีให้เห็นตั้งแต่ระดับเจ้าของคนเดียว (Solopreneur) ไปจนถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติที่ขยายสาขาไปทุกหย่อมหญ้า โอกาสของร้านกาแฟเล็กๆ ถ้าอยู่ในทำเลดีก็ไปต่อได้ แต่ถ้าไม่ใช่ หรือไม่ดีเท่าที่ควร งานนี้เราลองมาดูกันว่า การตลาดดิจิทัลจะช่วยให้ร้านกาแฟของคุณประสบความสำเร็จได้อย่างไรบ้าง?


ร้านกาแฟกับการสร้างแบรนด์ดิจิทัล
               

     หากคุณเป็นเจ้าของร้านกาแฟเปิดใหม่ที่อาจจะยังไม่ได้ให้บริการดิลิเวอรี นอกจากการตกแต่งร้านให้น่าสนใจ ไปจนถึงเมนูที่สร้างสรรค์แล้ว สิ่งที่คุณไม่ทำไม่ได้เลยก็คือ การสร้างแบรนด์ เพราะมีผลต่อความสำเร็จของธุรกิจโดยตรง ซึ่งการเลือกใช้สื่อดิจิทัล น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่สุด โดยเฉพาะการทำให้ร้านกาแฟของคุณเป็นที่รู้จัก และน่าจดจำสำหรับกลุ่มเป้าหมายที่อยู่บริเวณรอบๆ ร้านในรัศมี 1-3 กิโลเมตร เท่าที่สัมผัสส่วนใหญ่ใช้การสร้างเพจบนเฟซบุ๊ก (Facebook Page) เป็นหลัก เพราะน่าจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าการแจกใบปลิวแนะนำร้าน


     แถวสำนักงานผมมีร้านกาแฟให้เห็นอยู่ไม่น้อยเช่นกัน เรียกว่ามีตั้งแต่เป็นแค่บู๊ธเล็กๆ ไปจนถึงเป็นร้าน ที่นอกจากจะมีกาแฟแล้ว ยังมีขนม และอินเทอร์เน็ตให้ใช้อีกด้วย กลยุทธ์ของร้านที่เป็นบู๊ธจะใช้วิธีผูกมิตรกับลูกค้า เอาใจสารพัด ไปจนถึงให้เบอร์โทรศัพท์สั่ง (ตอนหลังใช้ Line) ก่อนที่ลูกค้าจะเดินถึงร้าน (ที่เป็นบู๊ธ) เสียด้วยซ้ำ แถมลูกค้าที่สั่งเยอะ ยังให้บริการหิ้วไปส่งถึงที่ ถ้าไม่ไกลเกินไปนัก เรียกว่างัดสารพัดวิธี ร้านเล็กระดับนี้ต้องให้บริการเยอะกว่า เพราะต้องการขายให้ได้มากๆ เนื่องจากราคาถูกกว่า แถมยังขึ้นราคาได้ยาก เพราะมีเพดานราคาค้ำอยู่ด้วย


     ในขณะที่ร้านกาแฟที่ใหญ่ขึ้นมาหน่อย แบบมีที่นั่งสบายๆ พร้อม Wi-Fi ให้เล่น ร้านพวกนี้จะใช้ Facebook Page เป็นเครื่องมือหลัก ใช้สร้างแบรนด์ เพื่อเชิญชวนให้ลูกค้า (ลูกเพจที่เช็กอินที่ร้าน) กลับมาเยี่ยมเยือนเป็นประจำ สำหรับการรักษาระดับยอดขาย ไปจนถึงใช้โฆษณาโปรโมชัน เพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงเงียบ (โดยเฉพาะร้านค้าที่อยู่ในอาคารสำนักงาน ช่วง 09:30-11:30 น.จะเงียบเป็นพิเศษ) ตลอดจนแนะนำเมนูใหม่ (ที่ใหญ่ และแพงขึ้น) เพื่อให้ลูกค้าเดิมได้ลองก่อน ไปจนถึงสร้างโอกาสดึงลูกค้าใหม่ การสร้างและดูแลแฟนเพจ ตลอดจนซื้อโฆษณา เพื่อให้โพสต์ไปถึงกลุ่มเป้าหมายทั้งเก่าและใหม่เป็นสิ่งที่ต้องทำต่อเนื่อง


     แต่จะดีกว่านี้ ถ้าเราใช้การตลาดอีเมลเข้ามาเสริม การขออีเมลลูกค้าใหม่ที่หน้าร้าน โดยมีส่วนลด หรือให้ของเล็กๆ น้อยๆ เพื่อส่งโฆษณาบนเฟซบุ๊ก ไปชักชวนให้กลับมาเยี่ยมเยือนอีกครั้ง หรือแม้แต่สั่งซื้อผ่านออนไลน์ หากมีบริการจองหรือดิลิเวอรี ก็จะเป็นสิ่งที่ทำได้อีกเช่นกัน ซึ่งส่วนตัวผมไม่อยากให้ปล่อยโอกาสนี้ผ่านไปอย่างน่าเสียดาย การที่ลูกค้าเข้ามาร้านกาแฟของเราครั้งแรก นอกจากเช็กอิน ไลค์เพจแล้ว การได้อีเมลลูกค้ามาด้วย จะช่วยให้ธุรกิจมีโอกาสเปลี่ยนลูกค้าหน้าใหม่ให้กลายเป็นขาประจำ ซ้ำยังช่วยเพิ่มโอกาสเพิ่มยอดขายได้อีกด้วย


อยากใหญ่ ใช้แค่ “เพจ” ไม่พอ
           
   
     ถึงตรงนี้ ผมอยากจะท้าทายคุณผู้อ่านที่มีร้านกาแฟซึ่งมีคุณสมบัติเบื้องต้น คือ มีหน้าร้านที่ดูดี สถานที่น่านั่ง รับรองลูกค้าได้ไม่แพ้ร้านผู้นำตลาด เมนูกาแฟหลากหลาย ไปจนถึงขนมน่ารับประทาน พร้อมด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แถมยังมีแผนขยายสาขาในอนาคตด้วย โอกาสในการสร้างแบรนด์ เพื่อชนยักษ์ใหญ่ของคุณมาถึงแล้ว เพราะถ้าไม่ทำ ทั้งแบรนด์หรูนอกประเทศ และแบรนด์กลางในประเทศ คงไม่ปล่อยเราไว้แน่ สิ่งที่ผมจะแนะนำกับทุกท่านก็คือ ลำพังแค่การเปิดเพจเฟซบุ๊กอย่างเดียวคงไม่พอสู้รบปรบมือแน่ ควรเพิ่มช่องทางการสร้างแบรนด์ให้กว้างขึ้น และดูน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
          
     
     นอกจากมีเพจและอีเมลลูกค้าแล้ว ผมขออนุญาตแนะนำให้พัฒนาเว็บไซต์ที่ช่วยให้ร้านกาแฟของคุณน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น ซึ่งต้องไม่เพียงแต่ให้ข้อมูลบริการของทางร้านเท่านั้น แต่ควรมีคอนเทนต์ เพื่อสร้างชุมชนของร้าน และสร้างภาพความเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องของกาแฟไปด้วยพร้อมกัน คอนเทนต์หลักควรเป็นเรื่องของคุณค่า (สนุก ให้ข้อคิด มีสาระที่เป็นประโยชน์ ทิป ฮาวทู ไม่เคยรู้มาก่อน และเกี่ยวข้องกับลูกค้ากับกาแฟทั้งทางตรงและทางอ้อม เช่น ถ้าอยากกระตุ้นสมอง เพื่อใช้ความคิดอย่างเร่งด่วน กาแฟช่วยได้ ฯลฯ) กาแฟที่มีต่อกลุ่มเป้าหมาย จากนั้นนำคอนเทนต์ในเว็บไซต์ไปแชร์บนเฟซบุ๊ก เพื่อเพิ่มพลังของแบรนด์ ประเด็นที่ผมแนะนำให้เพิ่มส่วนของเว็บไซต์ (ที่ดูได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ) ไม่ได้แค่ต้องการเพิ่มอำนาจแบรนด์ไว้ต่อกรกับยักษ์ใหญ่เท่านั้น แต่มันยังเพิ่มโอกาสในการสร้างยอดขายได้อย่างน่าสนใจอีกด้วย เพราะการเปิดเว็บไซต์เท่ากับเรากำลังเพิ่มช่องทางการค้นพบธุรกิจเราจากเซิร์ชเอนจินอย่าง Google ซึ่งแม้วันนี้เราจะเริ่มเห็นเพจไปปรากฏบนหน้าผลลัพธ์การค้นบ้างแล้ว แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับผลลัพธ์ที่เป็นลิงก์ของหน้าเว็บไซต์


จะหาร้านกาแฟยังถามกู๋
         
     
     ไม่น่าเชื่อว่า ทุกวันนี้มีการค้นหาคีย์เวิร์ดคำว่า “ร้านกาแฟ” บน Google หลายหมื่นครั้งต่อเดือน หรือถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกาแฟทั้งหมดมีการค้นหามากกว่าล้านครั้งกันเลยทีเดียว ถ้าเราไม่สร้างโอกาสเพิ่มเติมตรงนี้ ผมคิดว่าน่าเสียดายไม่ใช่น้อย การสร้างคอนเทนต์บนเว็บไซต์ของทางร้านให้ติดผลการค้นด้วย SEO โดยใช้คีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับแบรนด์ และสินค้าบริการ (ร้านกาแฟ+สถานที่ตั้ง+เมนูยอดนิยม ฯลฯ) รวมถึงไม่ลืมที่จะยืนยันตัวตนธุรกิจของคุณกับทาง Google ที่ http://www.google.com/business เพื่อปักหมุดบน Google Map ให้หน้าร้านค้นพบได้ง่ายยิ่งขึ้น โอกาสได้ลูกค้าใหม่ของธุรกิจร้านกาแฟของคุณจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก ยิ่งหาก Google แสดงผลลัพธ์การค้นของคุณตั้งแต่แผนที่ ลิงก์เว็บไซต์ หรือลิงก์แฟนเพจ 2 ใน 3 อย่างนี้ ผู้บริโภคจะรู้สึกว่า ร้านกาแฟของคุณน่าสนใจ ยิ่งคอนเทนต์ของคุณมีความเป็นตัวตน และให้คุณค่ากับลูกค้าได้ โอกาสขยายธุรกิจของทางร้านก็จะเพิ่มมากขึ้นไปด้วย เพราะฉะนั้นหากไม่เหลือบ่ากว่าแรงเกินไปนัก การเพิ่มช่องทางนี้ ไม่ควรมองข้าม


แฟนเพจ อีเมล เว็บไซต์ และ SEO
               

     ส่วนตัวผมว่า ร้านกาแฟยังสามารถสร้างโอกาสจากการใช้ช่องทางดิจิทัลได้อีกมากมาย เพราะปัจจุบันส่วนใหญ่ยังคงใช้แค่แฟนเพจเป็นหลัก หรือถ้ามีอีเมล (อย่าลืมชื่อลูกค้าด้วย สำคัญมาก) ก็อาจจะเก็บไว้เฉยๆ ไม่ได้ใช้สร้างโอกาสมากนัก เช่น การทำโปรโมชันผ่านไดเรกเมล (อีเมลที่ระบุชื่อผู้รับ มีโอกาสถูกเปิดมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์) ไปจนถึงการใช้อีเมล เพื่อยิงโฆษณาไปยังลูกค้ากลุ่มนี้โดยตรงบนเฟซบุ๊ก สำหรับกลยุทธ์ที่ผมแนะนำเพิ่มในบทความนี้คือ การพัฒนาเว็บไซต์ที่มาพร้อมกับคอนเทนต์ (ส่วนใหญ่ทำเป็นบล็อกที่อยู่ภายในเว็บไซต์) ไม่ใช่โปรโมตร้านอย่างเดียว เพื่อสร้างโอกาสเซิร์ชเจอ (SEO) บน Google ด้วย โดยเฉพาะร้านกาแฟระดับกลางถึงระดับบนที่ต้องการเติบโต และขยายธุรกิจในอนาคต ขอฝากเป็นไอเดียให้คุณผู้อ่านได้ลองไปคิดตามดู หากยังคิดไม่ออก ลองค้นคำว่า “ร้านกาแฟ” หรือ Coffee Shop แล้วเลือกหาผลลัพธ์ที่เป็นลิงก์ของเว็บไซต์ร้านกาแฟ (ไม่ใช่ลิงก์ของไดเรกทอรีแนะนำ) คลิกเข้าไปดู แล้วคุณจะเห็นว่า มีร้านกาแฟทั้งไทยและเทศที่ทำเว็บไซต์กันจริงจังไม่แพ้เพจจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน