เรื่อง : ชนัญญารักษ์ เพ็ชร์รัตน์
กรรมการผู้จัดการ ดีเอชแอล เอ๊กซ์เพรส ประเทศไทย และภาคพื้นอินโดจีน
ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME นับว่ามีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจไทย ทั้งทางด้านการ สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ การส่งออก การจ้างงาน และการสร้างโอกาสการทำธุรกิจให้แข็งแกร่ง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้ประกอบการ SME มีการจ้างงานคิดเป็นร้อยละ 78 และช่วยเสริมสร้างจีดีพีนอกภาคเกษตร คิดเป็นร้อยละ 43 และมีการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 30
แต่อย่างไรก็ดี ความต้องการภายในประเทศที่มีความไม่แน่นอน จึงทำให้เจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยมุ่งหาลู่ทางใหม่ๆ เพื่อนำผลิตภัณฑ์และบริการของตนออกไปสู่ตลาดต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งการก้าวสู่ตลาดโลก จึงถือได้ว่าเป็นการสร้างลู่ทางการเติบโตที่มีอนาคต
สำหรับการทำธุรกิจนอกประเทศนั้น ล้วนมีปัจจัยและความท้าทายมากมายที่ต้องคำนึงถึง ลองคิดดูว่า การทำธุรกิจระดับโลกนั้นต้องเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง สินค้าจะถูกส่งไปถึงมือของลูกค้าที่อยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งได้อย่างไร ธุรกิจขนาดเล็กที่ต้องใช้เวลาในการขนส่งนานหลายวันหรือหลายสัปดาห์จะสามารถรักษาสถานะของเงินสดให้มีความแข็งแกร่งได้อย่างไร ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงการรับมือกับอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ความรู้เรื่องกฎหมายการค้าและพิธีการศุลกากร หรือผู้ประกอบการต่างๆ จะสามารถสานความสัมพันธ์ทางการค้ากับพันธมิตรคู่ค้าต่างชาติได้อย่างไร
“การขนส่ง” คือ องค์ประกอบหนึ่งในการนำสินค้าออกสู่ตลาดโลก จะพบว่าตลาดการค้าในปัจจุบันมีความเป็นสากลมากขึ้น ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์และบริการที่สมบูรณ์แบบและครบวงจรก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และอาจจะมีมากกว่าความสามารถในการจัดเก็บสินค้าและขนส่งในรูปแบบเดิม ทำให้ธุรกิจต่างๆ หันไปขอรับคำแนะนำและความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับตลาดเป้าหมายจากผู้ให้บริการโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น ซึ่งการทำงานร่วมกับพันธมิตรด้านโลจิสติกส์ที่มีพื้นที่ให้บริการอย่างกว้างขวาง ถือเป็นกลยุทธ์เชิงรุกที่ธุรกิจ SME นำมาใช้ในการเรียนรู้และทำความเข้าใจต่อตลาดการค้าต่างประเทศได้ โดยสามารถศึกษาหาลู่ทางในการขยายธุรกิจ เพื่อขยายช่องทางใหม่ๆ ในเขตการค้าเสรีได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนั้น การกำหนดตลาดเป้าหมายสำหรับการส่งออกและนำเข้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องรู้กฎและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่างๆ อาทิ ระเบียบพิธีการศุลกากร กฎหมายการค้าและการขนส่ง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ และกฎหมายดังกล่าวไม่ได้เป็นการควบคุมวิธีการขนส่งสินค้า แต่เป็นการกำหนดประเภทสินค้าที่จัดส่งออกไป
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจะพบว่า การขาดความรู้เกี่ยวกับระเบียบพิธีการศุลกากร ภาษีนำเข้า และภาษีอื่นๆ ถือเป็นอุปสรรคสำคัญของ SME ในการก้าวสู่ตลาดโลก ดังเช่น การจัดทำสลากสินค้าว่า “ตัวอย่างสินค้า” โดยไม่ระบุว่าเป็นสินค้าตัวอย่างของผลิตภัณฑ์ใด จะส่งผลให้สินค้าชนิดนั้นถูกยึดไว้ที่ด่านศุลกากรและอาจถูกปรับเป็นเงินสด หรือเกิดการสูญหายได้ และนี่คือเหตุผลที่ว่าทำไม SME จึงต้องมีความรู้อย่างละเอียดเกี่ยวกับระเบียบศุลกากร ภาษีนำเข้า ระยะเวลาในการดำเนินการและความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในการจัดส่งสินค้าไปยังตลาดแต่ละแห่ง ซึ่งการมอบหมายให้บริษัทผู้ให้บริการเดินพิธีการศุลกากรเป็นผู้ดูแลและดำเนินการแทน ซึ่งใช้ระบบออนไลน์ในการจัดการเอกสารการขนส่งสินค้าและพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับรายละเอียดของสินค้า ถือเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ดีเพราะจะช่วย SME ลดภาระด้านบริหารการจัดการโลจิสติกส์ ทั้งยังช่วยลดอัตราความผิดพลาดและย่นระยะเวลาในการจัดการสินค้าที่ชายแดนได้
นอกจากนี้ โลจิสติกส์ยังมีบทบาทสำคัญสำหรับธุรกิจ SME ในการบริหารกระแสเงินสดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการสินค้าคงคลัง จะทำให้บริษัทต่างๆ มีกระแสเงินสดเหลือสำหรับใช้ในการดำเนินงานที่จำเป็นอื่นๆ การใช้บริการขนส่งสินค้าแบบมีกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนจะช่วยให้บริษัทต่างๆ สามารถขยายกิจการได้