ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ประเมินการส่งออกของไทยทั้งปีโตได้ถึง 5.5-6.0% โดยส่งออกครึ่งปีหลังขยายตัวจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเป็นสำคัญ ชี้ความเสี่ยงครึ่งปีหลังที่ต้องติดตาม คือ ความผันผวนของค่าเงิน ที่จะกระทบธุรกิจเกษตร อาหาร ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาและเครื่องสำอางได้
การส่งออกไทยฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2559 โดยในครึ่งปีแรกของปี 2560 ขยายตัวได้ถึง 7.8% มากสุดในรอบ 6 ปีคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 113,547 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2559 และเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคการผลิตในตลาดโลกที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจากไตรมาส 3 ปี 2559 ส่งผลให้การส่งออกไทยเติบโตได้ทุกกลุ่มสินค้าและทุกตลาดส่งออกสำคัญ
สำหรับการส่งออกไทยในครึ่งปีหลัง ศูนย์วิเคราะห์ฯ คาดว่า มีแนวโน้มเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงจากครึ่งปีแรก โดยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.5-4.0% ด้วยผลของฐานสูงในช่วงครึ่งหลังของปี 2559 ซึ่งอัตราการขยายตัวดังกล่าว เป็นผลมาจากความต้องการของประเทศคู่ค้าที่มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องเป็นหลัก นำโดยประเทศในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ กลุ่มอาเซียน CLMV จีน และญี่ปุ่น
ทั้งนี้เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศดังกล่าวมีเสถียรภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกาที่ยังคงมีประเด็นทางการเมือง และความไม่แน่นอนในนโยบายการคลัง และกลุ่มยูโรโซนที่ยังคงมีความเสี่ยงด้านการเมืองจากการเลือกตั้งในประเทศอิตาลีที่จะเกิดขึ้นในระยะต่อไป ขณะที่ราคาน้ำมันดิบจะมีบทบาทน้อยลงต่อการขยายตัวของมูลค่าการส่งออก จากราคาน้ำมันดิบตลาดโลกในครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 50-55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ซึ่งเป็นช่วงที่ใกล้เคียงกับครึ่งหลังปี 2559 ที่ประมาณ 48-56 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวได้แข็งแกร่ง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยางพารา เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์ และอาหาร ทำให้การส่งออกไทยทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 5.5-6.0%
อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีหลังประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือ ความผันผวนของค่าเงินบาท ซึ่งเป็นผลมาจาก 1) ภาวะเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก 2)ความเสี่ยงการเมืองและความผิดหวังในการดำเนินนโยบายการคลังของสหรัฐฯ และ3)ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจมีประกาศลดขนาดวงเงินเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลในเดือนกันยายน 2560 ก่อนที่นโยบายผ่อนคลายทางการเงินปัจจุบันจะสิ้นสุดในเดือนธันวาคมปีนี้ ดังนั้น จึงเป็นที่น่าสนใจว่าธุรกิจประเภทใดของไทยมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากความผันผวนของค่าเงินบาท
ศูนย์วิเคราะห์ฯ ได้ประเมินผลกระทบความผันผวนของค่าเงินผ่านการวิเคราะห์โครงสร้างธุรกิจ พบว่ากลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อย เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีทั้งการส่งออกและการนำเข้า(Hybrid) ได้แก่ ชื้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์/คอมพิวเตอร์ ยานยนต์ ส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ เคมีภัณฑ์ และเครื่องจักรกล เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนมากเป็นรายใหญ่และมีธุรกรรมทั้งนำเข้าวัตถุดิบและส่งออกสินค้าสำเร็จรูป จึงสามารถป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนด้วยลักษณะของตัวธุรกิจเอง (Natural Hedging)
ในขณะที่กลุ่มธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มธุรกิจที่ส่งออกเป็นหลักซึ่งได้แก่ อาหาร ยางพารา เกษตร (น้ำตาล ข้าว) และกลุ่มธุรกิจที่นำเข้าเป็นหลัก ซึ่งได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยา/ะเครื่องสำอาง อาหารสัตว์ และอุปกรณ์ไอที/เทคโนโลยี เพราะมีธุรกรรมการค้าเพียงขาเดียว ดังนั้นผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจที่ส่งออกเป็นหลักและนำเข้าเป็นหลัก ควรติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินอย่างใกล้ชิด รวมถึงพิจารณาป้องกันความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบต่อรายได้ที่อาจเกิดขึ้นในระยะถัดไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี