ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าราคามีอิทธิพลเหนือการตัดสินใจของลูกค้า ยิ่งยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองด้วยแล้ว สินค้าราคาถูกย่อมโดนใจลูกค้ากระเป๋าเบามากกว่า แต่อย่างไรก็ตามการตั้งราคาถูกเกินจริงนั้นช่วยกระตุ้นยอดขายได้แค่ช่วงต้นเท่านั้น หากมองระยะยาวการตั้งราคาถูกส่งผลในแง่ลบต่อ SME มากกว่า โดยเฉพาะ SME มือใหม่ที่ยังคำนวณต้นทุนไม่แม่นยำยิ่งมีโอกาสตั้งราคาผิดพลาดได้ง่ายเพื่อปิดประตูกันความผิดพลาด ลองนำกลยุทธ์การตั้งราคาให้ได้กำไรงามแถมโดนใจตลาดไปใช้ดู
ตั้งราคาบวกเพิ่มจากต้นทุน
วิธีตั้งราคาที่ผู้ผลิตส่วนมากนิยมทำกันก็คือบวกราคาต้นทุนทั้งหมดและบวกกำไรที่อยากได้เพิ่มเข้าไป แต่จุดที่ SME มือใหม่มักพลาดคือ คำนวณต้นทุนไม่ครบถ้วน อาจลืมคำนวณต้นทุนแฝงหรือต้นทุนดำเนินการ เช่น ค่าขนส่ง ค่าจ้าง เป็นต้น เพราะฉะนั้นหาก SME คนไหนตั้งราคาด้วยวิธีนี้อย่างลืมกลับไปคำนวณต้นทุนใหม่ให้แน่ใจว่าไม่มีต้นทุนใดขาดตกจากรายการไม่อย่างนั้นกำไรอาจหดได้
ตั้งราคาตามความต้องการของตลาด
การตั้งราคารูปแบบนี้จะใช้กับการขายแบบ B2B มากกว่า B2C และในการขายลูกค้าแต่ละรายจะเสนอราคาไม่เท่ากันโดยดูจากความต้องการของลูกค้าว่าต้องการด่วนขนาดไหน หรือต้องการในเวลาที่สินค้าขาดตลาดหรือเปล่า หากลูกค้าต้องการสินค้าในเวลาที่สินค้ามีน้อยเจ้าของกิจการย่อมตั้งราคาขายได้สูงเป็นธรรมดา
ตั้งราคาตามคู่แข่ง
กรณีที่นำสินค้าเข้าตลาดโดยมีคู่แข่งอยู่ก่อนหน้าแล้วหลายรายและมีคู่แข่งรายใหญ่ ก่อนจะตั้งราคาสินค้าควรสำรวจราคาของคู่แข่งรายอื่นก่อนเพื่อตั้งราคาให้ถูกกว่านิดนึง เพราะหากเพิ่งนำสินเค้าเข้าตลาดและตั้งราคาแพงเลยย่อมยากที่ลูกค้าจะสนใจ
การตั้งราคาเป็นเรื่องละเอียดอ่อนนอกจากจะคำนึงถึงต้นทุนแล้วยังต้องศึกษาจิตวิทยาของผู้ซื้อรวมถึงมองภาพรวมราคาของตลาดให้ออก เพื่อตั้งราคาเหมาะสม win-win ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี