M-Commerce ยุคใหม่ของการค้าออนไลน์

 

 
 
หากพูดถึง E-Commerce หรือการค้าออนไลน์ที่กำลังมาแรงในตอนนี้ ช่องทางหนึ่งที่น่าจับตามองคือกระแสการเติบโตของการค้าบนมือถือ หรือที่เรียกกันว่า M-Commerce (Mobile Commerce) จากตัวเลขประชากรที่ใช้โทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 100 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการใช้งาน 3G ที่จะเปิดให้ใช้งานจริงมากขึ้น ประกอบกับอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ เช่น แท็บเล็ตและโทรศัพท์มือถือมีจำนวนมากและราคาถูกลง ก็ยิ่งทำให้มีการใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือหรืออุปกรณ์พกพามากขึ้น  
 
การช้อปปิ้งสินค้าผ่านทางอุปกรณ์พกพาอย่างโทรศัพท์มือถือ จึงกลายเป็นเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ไม่อาจมองข้าม ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด เปิดเผยตัวเลขว่า เวลานี้มีผู้เข้าเว็บไซต์ตลาดดอทคอมโดยใช้อุปกรณ์พกพาหรือโทรศัพท์มือถือสูงถึง 30 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนคนเข้าเว็บไซต์ทั้งหมด โดยยอดขายสินค้ากว่า 11 เปอร์เซ็นต์เกิดจากการซื้อ-ขายผ่านอุปกรณ์พกพา สะท้อนให้เห็นว่า โอกาสทางการค้าของ M-Commerce ในเมืองไทยมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเรื่อยๆ 
 
ผู้บริหารเว็บไซต์ที่เป็นต้นแบบของการทำธุรกิจ E-Commerce ในเมืองไทยวิเคราะห์ว่า M-Commerce จะเป็นช่องทางที่ช่วยเสริมทำให้เกิดยอดขายเพิ่มขึ้นได้ โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจว่าคนที่ซื้อสินค้าในเว็บไซต์ตลาดดอทคอมในช่วงเวลาปกติ ตั้งแต่เช้าถึงเย็นจะเป็นคนที่ซื้อผ่านทางคอมพิวเตอร์ ส่วนช่วงเวลาเที่ยงหรือช่วงหลังหกโมงเย็นเป็นต้นไป อัตราการซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือจะเติบโตขึ้นมาก โดยเฉพาะช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ที่คนทำงานอาจไม่ได้ใช้คอมพิวเตอร์ในการซื้อสินค้าออนไลน์ ฉะนั้น จะเห็นว่าช่องทาง M-Commerce เป็นช่องทางเสริมของการซื้อ-ขายออนไลน์ และเป็นช่องทางในการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ ผู้ประกอบการ E-Commerce ในเมืองไทยจึงควรหันมามองและวางแผนในการใช้ช่องทางนี้เช่นกัน
 
ถึงแม้ในขณะนี้ จำนวนเว็บไซต์ร้านค้าออนไลน์ที่รองรับรูปแบบบนมือถือในประเทศไทยจะยังมีจำนวนไม่มากนัก แต่ภาวุธเชื่อว่าในปี 2556 นี้ ผู้ประกอบการ E-Commerce หลายรายน่าจะเริ่มมีการขยับขยาย พัฒนารูปแบบเว็บไซต์ให้รองรับ Version บนมือถือมากขึ้น 
 
โดยจากการรีเสิร์ชพบว่า เว็บไซต์ซื้อ-ขายออนไลน์ที่เป็น E-Commerce หรือ M-Commerce ก็ตาม ส่วนใหญ่มักจะเป็นการซื้อ-ขายผ่าน Mobile Version หรือเว็บไซต์ที่เป็นด้าน Mobile มากกว่าเป็น Application ด้วยตัวแอพพลิเคชั่นค่อนข้างมีข้อจำกัด ยุ่งยาก เพราะต้องทำให้คนโหลดแอพพลิเคชั่นนั้นเสียก่อน ซึ่งที่ผ่านมามีอัตราการเปิดแอพพลิเคชั่นใหม่สูงถึง 20 แอพฯ ต่อเดือน แต่คนที่ใช้จริงเพียงแค่ 4-5 แอพฯ เท่านั้น จึงจะมีแอพฯ อีกเกือบ 15 แอพฯ ที่โหลดมาโดยไม่ได้ใช้ และแอพฯ ใน E-Commerce คือส่วนหนึ่งในนั้น 
 
ฉะนั้น การที่ผู้ประกอบการอี-คอมเมิร์ซใช้แอพพลิเคชั่นในการขายสินค้าจึงเป็นการสร้างข้อจำกัดให้กับตัวเอง และสร้างขั้นตอนที่ยุ่งยากให้กับผู้ใช้มากขึ้น จึงแนะนำให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์หันไปทำ M-Commerce โดยพัฒนาช่องทางการขายผ่าน Mobile Version เพราะการใช้งานจะสะดวกและรวดเร็วมากกว่า ซึ่งวิธีการแปลงเว็บไซต์ร้านค้าให้มาอยู่บนมือถือนั้นไม่ใช่เรื่องยาก เพราะปัจจุบันนี้มีเทคโนโลยีที่สามารถตรวจเช็กได้ว่า หากมีผู้บริโภคใช้โทรศัพท์มือถือเข้ามาทำการซื้อ-ขายออนไลน์ ระบบก็จะดึงหน้าเว็บไซต์ที่แสดงบนมือถือให้เลย ในขณะเดียวกันหากใช้คอมพิวเตอร์เข้ามาก็จะเปลี่ยนเป็นเวอร์ชั่นหน้าเว็บไซต์ปกติให้ทันที ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้จำเป็นที่เราต้องนำมาใช้พัฒนาเพื่อให้รองรับกับระบบมือถือมากขึ้น
 
ส่วนในแง่การทำการตลาดออนไลน์ระหว่าง E-Commerce และ M-Commerce นั้นจะแตกต่างกันเล็กน้อย เช่น การทำ SEO การปรับแต่งบน Search Engine ก็จะมีความแตกต่าง เนื่องจากการค้นหาสินค้าในมือถือจะมีการนำตำแหน่งของคน ณ ขณะนั้นเข้ามาร่วมวิเคราะห์ร่วมในการค้นหาผลลัพธ์ การปรับแต่งหรือให้น้ำหนักของการตลาดจึงจะต้องมีมิติและชั้นเชิงมากขึ้น เช่น การทำตลาดในกลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการทางมือถือ ก็ต้องปรับให้เข้ากับอุปกรณ์ IT หรือ Device ต่างๆ เช่น การส่งอีเมลใหญ่ๆ อาจจะไม่ค่อยเวิร์ก ต้องปรับเป็นรูปแบบอีเมลที่ทำสำหรับใช้บนมือถือโดยเฉพาะ 
 
ทั้งนี้ ข้อจำกัดของ M-Commerce ซึ่งเป็นอุปกรณ์พกพาต่างๆ จะมีสกรีนไซส์หรือขนาดหน้าจอที่เล็ก การนำเสนอข้อมูลสินค้าต่างๆ อาจจะทำไม่ได้ครบถ้วนเต็มที่เหมือนหน้าจอคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรม Flash Player หรือไฟล์วิดีโอต่างๆ นั้นจะมีข้อจำกัดในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าหากผู้ประกอบการ M-Commerce วางแผนดีๆ ก็สามารถปรับแต่งหน้าตาร้านค้าออนไลน์ให้รองรับตรงจุดนี้ได้
 
ข้อแนะนำสำหรับผู้ประกอบการ E-Commerce ในยุคนี้ จึงควรเริ่มสร้างเว็บไซต์ในรูปแบบที่รองรับสำหรับการใช้งานบนมือถือ (Mobile Site) และคิดกลยุทธ์การเข้าถึงลูกค้าผ่านทางโทรศัพท์มือถือมากขึ้น นอกเหนือจากทางการใช้เว็บไซต์ปกติ แต่ก็มีข้อควรระวังก่อนที่จะทำการตลาดหรือทำการสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางนี้ เพราะการซื้อ-ขายออนไลน์ผ่านทางมือถือ สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา ฉะนั้น จึงต้องเตรียมรับมือกับลูกค้ากลุ่มนี้ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญคือ พฤติกรรมของตัวผู้ประกอบการ E-Commerce เองก็ต้องปรับให้ทันกับระบบ M-Commerce เพราะบางรายยังไม่ปรับมาใช้อินเทอร์เน็ตผ่านทางโทรศัพท์มือถือด้วยซ้ำ หากผู้ขายยังไม่เริ่มต้นใช้ ก็ไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมลูกค้าอย่างแท้จริง 
 
แล้วคุณล่ะ...พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการค้าออนไลน์แบบ M-Commerce แล้วหรือยัง?
 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน