Text : ผศ.ดร.นุชจรินทร์ เหลืองสะอาด
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในยุคปัจจุบันที่มนุษย์มีการคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ มากมาย ทำให้บรรจุภัณฑ์ไม่ได้จะเป็นเพียงแค่สิ่งที่ห่อหุ้มสินค้าเพื่อสะดวกแก่การเคลื่อนย้าย แต่บรรจุภัณฑ์จะต้องช่วยรักษาคุณภาพสินค้าให้มีความสดใหม่ สวยงามและถูกสุขลักษณะอนามัย มีรูปแบบที่เหมาะสมต่อการใช้งานสำหรับบุคคลในทุกวัย และจะต้องคำนึงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
จากข้อมูลที่เกี่ยวกับอัตราเติบโตของบรรจุภัณฑ์ด้านต่างๆของตลาดโลก พบว่าบรรจุภัณฑ์อาหารเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของบรรจุภัณฑ์อาหารจึงมีมาก โดยมีการนำนวัตกรรมต่างๆ มาประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์อาหารเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ในด้านต่างๆ ดังนี้
1.บรรจุภัณฑ์ที่ออกแบบเพื่อทุกคน (Universal Design) เป็นที่ทราบกันว่าหลายประเทศในโลกรวมถึงประเทศไทย กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้นบรรจุภัณฑ์จึงจะต้องออกแบบให้สะดวกต่อการใช้งานได้ทุกเพศทุกวัย โดยที่ยึดความสะดวกสบายของผู้สูงอายุเป็นหลัก การออกแบบจะเน้นหลัก 9 ข้อ คือ เข้าใจได้ง่าย รับรู้ง่าย ถือง่าย ใช้แรงน้อยในการเปิด หยิบง่าย เก็บง่าย ศึกษาสมบัติง่าย ทิ้งง่าย และมีความปลอดภัยในการใช้งาน สำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่อยู่ในวัยทำงานนั้น ชีวิตอยู่กับความเร่งรีบก็จะต้องออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็นแบบที่พกพาได้สะดวกมีน้ำหนักเบา เดินไปรับประทานไปได้ (on-the-go package)
2.การนำเทคโนโลยีมาใช้ร่วมกับบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์อาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บของอาหารด้วยกรรมวิธีต่างๆ หรือการทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการเลือกซื้ออาหารเพื่อมาบริโภคว่าสะอาดและปลอดภัย (Food safety) นวัตกรรมในด้านนี้ถือว่ามีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างของเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ได้แก่
• บรรจุภัณฑ์ฉลาด (Intelligent packaging) เช่น การนำฉลาก RFID มาใช้เพื่อให้สามารถป้อนข้อมูลตั้งแต่ที่มาต่างๆของวัตถุดิบที่ใช้ผลิต แหล่งที่ผลิต วันเดือนปี อายุการเก็บรักษา หรือข้อมูลโภชนาอื่นๆ การนำฉลากที่สามารถบอกถึงความสดของอาหารที่บรรจุอยู่ภายในบรรจุภัณฑ์ โดยใช้ ฉลากเปลี่ยนสี ที่จะมีการตรวจสอบแบบตลอดเวลา (Real-time indicator sensor) ถ้าหากอาหารเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงเช่น มีการปล่อยก๊าซที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาของเชื้อโรคภายในอาหารนั้น ฉลากก็จะมีการเปลี่ยนสีไปจากเดิม เช่น จากสีเหลืองไปเป็นสีน้ำเงิน ทำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าอาหารที่ซื้อไปมีความปลอดภัยที่จะนำไปบริโภคได้
• บรรจุภัณฑ์แอคทีฟ (Active Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีการใส่วัสดุที่จะสามารถลดจำนวนหรือต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย หรือใส่สารดูดความชื้นหรือดูดก๊าซชนิดต่างๆ ที่ส่งผลให้ผลไม้หรืออาหารเน่าเสียได้เร็วขึ้น เป็นต้น ซึ่งถ้าหากว่ามีตัวช่วยเหล่านี้อยู่ในบรรจุภัณฑ์นั้นๆก็จะทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจว่าอาหารนั้น ปลอดภัยมีอายุการเก็บที่นานโดยที่ไม่มีเชื้อแบคทีเรียมาทำให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย หรือ คุณภาพของอาหารไม่ด้อยลงไปจากเดิม
• บรรจุภัณฑ์สมาร์ท ( Smart Packaging) เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุที่มีความสามารถในการควบคุมสมบัติของวัสดุนั้นๆ ไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสื่อมสภาพไปเนื่องจากได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมหรือจากการใช้งาน ตัวอย่างเช่น self-healing polymer materials เป็นวัสดุที่สามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมหลังจากที่ถูกทำให้เสียรูปไป โดยจะมีสารที่จะเป็นตัวช่วยรักษา (healing agent) ที่จะทำให้วัสดุสามารถกลับคือสู่สภาพเดิมได้ ก็จะทำให้บรรจุภัณฑ์นั้นสามารถทำหน้าที่ในการปกป้องสินค้าไม่ให้เกิดความเสียหายหรือปนเปื้อนจากเชื้อโรคภายนอกได้ นอกไปจากนั้นยังมี self-cleaning polymer materials เป็นวัสดุสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ โดยการทำให้ผิวหน้าของวัสดุนั้นไม่รับน้ำหรือสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ ไม่ให้ติดอยู่ที่ผิวหน้าของวัสดุนั้นๆ
3.บรรจุภัณฑ์ที่รักษ์โลกหรือเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Eco-friendly packaging) แนวโน้มของบรรจุภัณฑ์ในอนาคตจะต้องเลือกใช้วัสดุที่สามารถย่อยสลายได้ ไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม โดยจะพยายามเลือกใช้วัสดุให้บางลงหรือมีน้ำหนักน้อยลงแต่จะใช้เทคโนโลยีมาช่วยให้มีสมบัติในการเก็บรักษาดีเท่าเดิม หรือไม่ก็จะใช้วัสดุที่สามารถนำมารีไซเคิลได้
4.บรรจุภัณฑ์ที่ดึงดูดใจผู้บริโภค หรือมีความโดดเด่นไม่ซ้ำแบบใคร ได้แก่ Personalized packaging หรือบรรจุภัณฑ์ที่เป็นส่วนตัว เช่น การพิมพ์ชื่อของตัวเองหรือบุคคลที่เราต้องการระบุชื่อลงบนเครื่องดื่มโค้กกระป๋อง ซองมันฝรั่งเลย์ ที่มีแคมเปญให้สามารถออกแบบซองด้วยตัวเอง การผลิตบรรจุภัณฑ์แบบนี้ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการผลิตในระยะยาวแต่สามารถใช้เป็นตัวกระตุ้นยอดขายได้ในโอกาสต่างๆ ได้
นอกเหนือจากการเปลี่ยนแปลงหลักๆ ที่ได้กล่าวมาข้างต้นแล้ว แนวโน้มของบรรจุภัณฑ์อาหารที่จะทำให้ผู้บริโภคเกิดความมั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นคือ ผู้ผลิตวัสดุบรรจุภัณฑ์มีแนวโน้มที่จะใช้แนวคิดเลียนแบบธรรมชาติให้มากที่สุดโดยนำหลักการของธรรมชาติมาประยุกต์ใช้กับบรรจุภัณฑ์และพยายามลดการใช้สารเคมีในการผลิตบรรจุภัณฑ์ให้มากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี
RECCOMMEND: MARKETING
เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air
จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน