แรงงานไทยหายไปไหน?

 

 
 
   ปัจจุบันผู้ประกอบการไทยในภาคการผลิตประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างมีนัยสำคัญ จากการวิเคราะห์โดย SCB EIC พบว่า แรงงานไทยนอกเหนือจากการกระจุกตัวในภาคการเกษตรและภาคบริการแล้ว ยังมีการเลือกออกไปทำอาชีพอิสระมากขึ้น   นอกเหนือไปจากการทำงานในระบบ เช่น ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และตอกย้ำให้เห็นความสำคัญของการสร้างแรงจูงใจในการดึงแรงงานเข้ามาทำงานที่มากกว่าเรื่องของค่าตอบแทนที่เป็นตัวเงิน 
 
  ความเป็นอิสระและโอกาสทำรายได้ที่ยังมีอยู่มากจากบริการขนส่งสาธารณะส่งผลให้จำนวนผู้ประกอบอาชีพรถรับจ้างสาธารณะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นผลมาจากคุณภาพของบริการขนส่งมวลชนที่ยังไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

    โดยปัจจุบันมีจำนวนแท็กซี่จดทะเบียนกว่า 103,000 คัน ซึ่งถ้ารวมมอเตอร์ไซค์และสามล้อเครื่องรับจ้างด้วยแล้ว จะมีแรงงานอยู่ในทั้ง 3 กลุ่มนี้เฉพาะในกรุงเทพฯ ราว 260,000 คน ซึ่งนอกเหนือจากข้อจูงใจในเรื่องของความเป็นอิสระแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อเดือนของกลุ่มผู้ขับรถแท็กซี่และมอเตอร์ไซค์รับจ้างยังอยู่ในระดับที่สูงกว่าลูกจ้างในโรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ อย่างไรก็ตาม ระดับรายได้ดังกล่าวยังไม่รวมเรื่องของสวัสดิการ และค่าล่วงเวลาที่ถือว่ายังเป็นข้อได้เปรียบของแรงงานในระบบ
 
      นอกเหนือจากนั้นแล้ว การขาดแคลนแรงงานยังมีสาเหตุมาจากความไม่สอดคล้องระหว่างอุปสงค์และอุปทานด้านทักษะและประสบการณ์ของแรงงานไทย (skill mismatch)  หลายธุรกิจในไทย โดยเฉพาะภาคการผลิตต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานกึ่งมีทักษะ โดยเฉพาะแรงงานที่จบการศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่ยังมีไม่พอเพียงกับความต้องการ ในขณะที่แรงงานที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีหรือสูงกว่ามีจำนวนเกินกว่าความต้องการ 
 
     ทั้งนี้ แรงงานที่จบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาก็มีทักษะไม่ตรงกับความต้องการของภาคการผลิตอีกด้วย เพราะไม่ได้รับการฝึกวิชาชีพ ในขณะเดียวกัน หลักสูตรการเรียนการสอนก็ยังขาดการประยุกต์ให้สอดคล้องกับสิ่งที่อุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจต้องการ  จากผลงานวิจัยของ World Bank พบว่าแรงงานไทยที่จบระดับอุดมศึกษากว่า 30% ต้องไปทำงานในระดับงานที่ต่ำกว่าความรู้ความสามารถและไม่ตรงกับหลักสูตรที่เรียน  ทั้งนี้ ที่ผ่านมาไทยจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานต่างด้าวเพื่อเติมเต็มอุปสงค์แรงงานในภาคการผลิต แต่การพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในระยะยาวนั้น ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืน เพราะแรงจูงใจในการย้ายกลับไปทำงานในประเทศบ้านเกิดของแรงงานต่างด้าวมีมากขึ้นในช่วงจังหวะของการเดินหน้าสู่ AEC
 
     การจะแก้ปัญหาทั้งในเรื่องแรงงานหันมาประกอบอาชีพอิสระ และในเรื่องของ skill mismatch นั้น คงต้องอาศัยความร่วมมือผลักดันจากหลายฝ่ายเป็นองค์รวม ทั้งภาคการศึกษาที่จะต้องมีการเพิ่มการฝึกทักษะมากขึ้น และปรับเปลี่ยนแนวคิดค่านิยมตั้งแต่ต้นทาง ในขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็จะต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่แรงงานไปพร้อมกัน  เพื่อเป็นการเพิ่มผลิตภาพของแรงงานไทยและความสามารถในการแข่งขันของภาคการผลิต  ควรมีการพัฒนาคุณภาพของการศึกษา และปรับหลักสูตรการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคการผลิต พร้อมๆ ไปกับการเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยให้เล็งเห็นประโยชน์ของอาชีวศึกษามากขึ้น 
 
     ในส่วนภาคเอกชนก็จะต้องแสดงให้เห็นถึงความพร้อมทางด้านสวัสดิการนอกเหนือจากค่าจ้างแรงงาน  เพื่อดึงดูดผู้ประกอบอาชีพอิสระให้หันกลับเข้ามาทำงานในภาคการผลิต  นอกจากนี้ ภาคเอกชนควรเริ่มตื่นตัวและผลักดันให้เกิดการลงทุนพัฒนาทักษะแรงงานตั้งแต่เนิ่นๆ เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น โครงการทุนการศึกษา 1 โรงเรียน 1 โรงงาน ที่เริ่มเห็นมากขึ้นในภาคการผลิตยานยนต์ เป็นตัวอย่างของแนวคิดริเริ่มที่ดี โดยโครงการนี้จะมอบทุนการศึกษาให้แก่นักศึกษาที่อยากฝึกงานในโรงงานไปพร้อมๆ กับการเรียนช่วงวันเสาร์อาทิตย์ภายในระยะเวลา 3-7 ปีเพื่อให้ได้วุฒิ ปวช. ปวส. หรือปริญญาตรี และมีงานรองรับทันทีหลังจากจบการศึกษา เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการด้านแรงงานและรองรับการเติบโตของธุรกิจในอนาคตให้ตรงจุด 
 
    อย่างไรก็ตาม สำหรับไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมนั้น อาจต้องให้ความสนใจกับการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรด้วย ซึ่งการต่อยอดจากการเกษตรดั้งเดิมมาเป็นอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นวิธีการเพิ่มผลิตภาพแรงงานเช่นกัน เนื่องจากไทยมีผลผลิตทางการเกษตรเป็นหลักจึงต้องผลักดันให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญกับการแปรรูปผลผลิตทางเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าผลผลิตด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น กว่า 90% ของผลผลิตยางพาราถูกส่งออกในรูปวัตถุดิบขั้นต้น เช่น น้ำยางข้น ยางแท่ง และยางแผ่นรมควัน ในขณะที่ความจริงแล้ว น้ำยางพาราสามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าขั้นกลางและขั้นปลายที่มีมูลค่าสูงขึ้นได้หลากหลายประเภท อาทิ ยางล้อรถยนต์ ถุงมือยางทางการแพทย์และในภาคอุตสาหกรรม และยางวิศวกรรมอื่นๆ ส่วนไม้ยางพารานั้น ก็สามารถนำมาผลิตเฟอร์นิเจอร์ และหัตถอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เป็นการเพิ่มมูลค่าผลผลิตของแรงงานได้เช่นเดียวกัน 
 
    อีกวิธีหนึ่งในการเพิ่มผลิตภาพแรงงานรวมของประเทศคือ การส่งเสริมให้แต่ละภาคธุรกิจมีการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและใช้โอกาสในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในการพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพสูงขึ้นอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่จะต้องเร่งปรับตัวก่อนใคร  การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะทำให้ธุรกิจ SMEs ส่วนหนึ่งต้องปรับลดจำนวนแรงงานเพื่อลดภาระต้นทุนที่สูงขึ้น 
 
    ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจยังสามารถขยายตัวอยู่ได้ ภาคธุรกิจต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจึงต้องหาวิธีการปรับตัวเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากกว่าภาคธุรกิจอื่น อันได้แก่ ภาคธุรกิจที่มีสัดส่วนแรงงานไม่มีทักษะสูง หรือมีค่าแรงเป็นต้นทุนหลัก เช่น ภาคเกษตร ภาคบริการประเภทการก่อสร้างและhospitality และภาคค้าส่งค้าปลีก 
 
    เช่นเดียวกับภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมของการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จากการส่งผ่านภาระต้นทุนไปในห่วงโซ่อุปทานที่ค่อนข้างยาวและซับซ้อน จะต้องเร่งปรับตัวเพิ่มผลิตภาพแรงงานเช่นกัน เช่น ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ยานยนต์และชิ้นส่วน สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น  แต่นอกเหนือจากภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวที่ต้องเร่งปรับตัวแล้ว  ภาคธุรกิจอื่นๆ ก็มีส่วนช่วยให้ผลิตภาพแรงงานโดยรวมของประเทศสูงขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะหากเปรียบเทียบกับมาเลเซียแล้ว พบว่า ผลิตภาพแรงงานของไทยในทุกภาคธุรกิจยังต่ำกว่ามาเลเซียค่อนข้างชัดเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมาเลเซียสามารถสร้างมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและภาคบริการ 
 
   ในภาวะที่แรงงานไทยมีแนวโน้มขาดแคลน การเพิ่มผลิตภาพแรงงานจึงกลายเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่ยังมีการพึ่งพาแรงงานอยู่ในสัดส่วนสูง ต้องเร่งปรับตัวเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ทันท่วงที เช่นการริเริ่มนำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อลดการพึ่งพาแรงงานที่เกินความจำเป็น รวมถึงการต่อยอดทางธุรกิจพร้อมไปกับการเร่งพัฒนาศักยภาพแรงงานผ่านการฝึกอบรมเสริมสร้างทักษะ เพื่อให้แรงงานสามารถผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมูลค่าสูงขึ้น  อนึ่ง  หาก SMEs สามารถเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นได้เป็นผลสำเร็จ การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลก็จะมีผลกระทบน้อยลงต่อธุรกิจ  เพราะผู้ประกอบการจะสามารถให้ค่าตอบแทนแรงงานได้สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอันเป็นไปตามศักยภาพของแรงงานที่สูงขึ้นนั่นเอง

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน