E-Commerce: ขยายโอกาสการค้าไทย ขยายโอกาสอาเซียน


    ตลอดปี 2016 มีข่าวใหญ่ที่เกิดขึ้นกับวงการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์สมากมายไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดตัวพร้อมเพย์เพื่อกระตุ้น E-Payment, Alibaba เข้าซื้อกิจการ Lazada ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น Amazon แห่งเอเชีย, การเกิด Rabbit LINE Pay เพื่อผสานแพลตฟอร์มการชำระเงินทั้งแบบออนไลน์และออฟไลน์, Central Online เข้าซื้อ Zalora ทั้งในไทยและเวียดนาม 


    หรือแม้กระทั่งการบอกลาของดีลชื่อดังอย่าง Ensogo ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ความเคลื่อนไหวเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันในวงการอีคอมเมิร์สเพื่อรองรับกับกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตรวมทั้งเป็นการปรับตัวเพื่อความอยู่รอดของธุรกิจในยุคเศรษฐกิจดิจิตัล


    “ช้อปได้ทุกที่ มีทุกอย่างที่อยากได้” ดูจะเป็นคำกล่าวที่ไม่เกินไปนักในโลกการค้ายุคเศรษฐกิจ 4.0 ที่การซื้อขายไม่ต้องมีทั้งหน้าร้านและเวลาทำการ ผู้ซื้อและผู้ขายสามารถติดต่อกันได้ทุกที่ทุกเวลา จึงทำให้มูลค่าการค้าในตลาดอีคอมเมิร์สของโลกในปี 2016 มีมูลค่าถึง 1.92 ล้านล้านเหรียญสหรัฐและจะเพิ่มขึ้นอีกราว 17% ต่อปี (CAGR%) ทำให้มีมูลค่าสูงถึง 4.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี 2020


    ในขณะที่ประเทศไทยเองก็มีมูลค่าถึง 2,450 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงขึ้นกว่าปีก่อนหน้าราว 30% และจะเติบโตขึ้นกว่า 1 เท่าตัวในอีก 5 ปีข้างหน้า 

 


อาเซียน: โอกาสทางธุรกิจของอีคอมเมิร์ส

    มีการคาดประมาณไว้ว่าในปี 2020 ประเทศในกลุ่มอาเซียน ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะมีชนชั้นกลางถึง 290 ล้านคน  จากจำนวนประชากรราว 470 ล้านคน บวกกับความก้าวหน้าของโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศของประเทศเหล่านี้ ทำให้อาเซียนเป็นเป้าหมายต่อไปของธุรกิจอีคอมเมิร์สที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยมี Lazada เป็นรุ่นพี่ตัวอย่างที่เคยรุกสำเร็จมาแล้วในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

    อีกทั้งปัจจัยพื้นฐานของการค้าออนไลน์ คือ การเข้าถึงอินเตอร์เนตของชาวอาเซียนกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยแล้วราว 40% ของประชากรอาเซียนสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้ แม้ว่าจะเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้น โดยสิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชากรสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้สูงที่สุด 100% 

    ส่วนประเทศที่ประชากรกว่าครึ่งประเทศสามารถเข้าถึงอินเตอร์เนตได้คือ บรูไน มาเลเซีย และเวียดนาม ส่วนฟิลิปปินส์และไทยมีสัดส่วนใกล้เคียงกันที่ราว 40% ทำให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่และหน้าเก่าต่างขยายหน้าร้านไปยังโลกออนไลน์โดยมีทั้งเว็บไซต์หลักและสื่อสังคมออนไลน์อย่าง “เฟสบุ๊ค” ในการโฆษณาเพื่อขายสินค้าและพื้นที่ฮิตสำหรับ “ฝากร้าน” อย่าง “อินสตาแกรม” 


    "คลิกเดียวก็ซื้อได้ แค่มีสมาร์ทโฟน" นอกจากการค้าออนไลน์จะเติบโตตามอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เนตจากเครื่องคอมพิวเตอร์แล้ว การเข้าถึงจากสมาร์ทโฟนก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉลี่ยแล้วประเทศไทยมีสัดส่วนผู้เป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนถึง 80% ของประชากรทั้งประเทศ อีกทั้งแต่ละค่ายสัญญาณโทรศัพท์ต่างแข่งขันกันเพื่อช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด สมาร์ทโฟนจึงกลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีบทบาทอย่างมากต่อการซื้อขายออนไลน์ จนกลายเป็นกระแสของ M (mobile) – Commerce 

    ผลการสำรวจจากนีลสัน พบว่าผู้ใช้สมาร์ทโฟนชาวไทยใช้เวลาเฉลี่ยราว 230 นาที หรือราว 4 ชั่วโมงต่อวันในการเล่นสมาร์ทโฟน โดยช่วงเวลาที่ใช้งานมากที่สุดคือช่วง 2 ทุ่มถึง 5 ทุ่ม จึงเป็นเวลาทองของนักขายออนไลน์ที่จะเพิ่มยอดการขายสินค้า


    ในด้านการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับแท้ออนไลน์ แม้ว่ายังไม่เป็นที่นิยมนักเนื่องจากผู้ซื้อยังขาด “ความเชื่อมั่น” จากการต้องจ่ายเงินก่อนได้รับสินค้าที่มีราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นเพื่อชดเชยกับความลังเลดังกล่าวผู้ขายควรให้ข้อมูลสินค้าอย่างครบถ้วน โดยถ่ายภาพสินค้าตามสัดส่วนสินค้าจริง มีการระบุราคาและประเภทวัตถุดิบไว้อย่างชัดเจน และที่สำคัญควรมีการรับประกันหากเกิดความไม่พึงพอใจในตัวสินค้า หากสามารถสร้างความเชื่อมั่นได้แล้ว ช่องทางออนไลน์จะเป็นช่องทางเพื่อการอยู่รอดและเติบโตต่อไปของผู้ประกอบการขนาดเล็ก โดยไม่ต้องมีต้นทุนสูงและความเสี่ยงจากการออกไปขยายสาขาในต่างประเทศ


    สําหรับท่านผู้อ่านที่สนใจข้อมูลข่าวสารด้านการตลาดอัญมณีและเครื่องประดับ กฎระเบียบการค้าและอัตราภาษีนําเข้าของประเทศต่างๆ ทั่วโลก สามารถสืบค้นเพิ่มเติมได้ที่ระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ (http://infocenter.git.or.th) ของศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือติดตามผ่านเฟซบุ๊ค facebook.com/GITInfoCenter


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

 

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน