เพราะปัจจุบันผู้คนช้อปปิ้งออนไลน์กันมากขึ้นด้วยเหตุผลที่ว่าช้อปได้ตลอด 24 ชั่วโมง และแม้จะนั่งอยู่บ้านหรืออยู่ที่ไหนก็ช้อปได้ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต จากพฤติกรรมข้างต้นทำให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าใหม่และเก่าต่างเลือกขยับขยายธุรกิจของตนขึ้นไปบนโลกออนไลน์ด้วยมองเห็นโอกาสทางการตลาดที่มากกว่าหน้าร้านออฟไลน์ แต่ถึงกระนั้นใช่ว่าทุกร้านค้าออนไลน์จะประสบความสำเร็จเหมือนกันหมด
ดังนั้น SCB จึงจัดงานสัมมนา “รวยลัด 100 ล้านบนตลาดออนไลน์ เคล็ดลับแบบไม่กั๊กจากกูรู 100 ล้าน” เพื่อให้ผู้ประกอบการยุคใหม่ได้นำเคล็ดลับการทำตลาดออนไลน์จากกูรู 100 ล้านอย่าง กมล พูนทรัพย์ เจ้าของร้านมั่นคงแก๊ดเจ็ท และ นัฐพล บุญภินนท์ Head of E-Commerce จาก New Step Asia รวมทั้งเรื่องราวของเทรนด์การตลาดที่น่าสนใจในปี 2560 จาก อาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด Digital & E-Commerce ไปใช้เพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าออนไลน์ของตน
ในช่วงแรก อาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตราวานิช เปิดเผยเทรนด์การตลาดที่น่าจับตามองในปี 2560 ว่า ร้านค้าออนไลน์จะใช้ระบบตอบข้อความอัตโนมัติ หรือ Chat Bot กันมากขึ้น เพราะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตอบกลับลูกค้า แต่ทั้งนี้ควรเขียนคำตอบให้เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่เช่นนั้นอาจทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าร้านค้าไม่ให้ความสำคัญกับพวกเขา ลูกค้านิยมสั่งซื้อสินค้าที่ส่งแบบดิลิเวอรีเพราะเหมาะกับไลฟ์สไตล์ที่ชอบความสะดวกสบาย และลูกค้ามีพฤติกรรมการซื้อแบบ Showrooming มากขึ้น นั่นคือดูสินค้าที่หน้าร้านออฟไลน์ แต่กลับไปซื้อสินค้าที่หน้าร้านออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้มียอดขายจากหน้าร้านออฟไลน์ด้วย เจ้าของร้านจึงต้องตั้งราคาสินค้าให้เท่ากันทั้งสองหน้าร้าน มอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่มาซื้อสินค้าที่หน้าร้านออฟไลน์ เช่น ให้ส่วนลดและจัดส่งสินค้าให้ฟรี และพนักงานที่ร้านต้องให้บริการที่น่าประทับใจ ตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้าได้อย่างละเอียด
นอกเหนือจากนี้ ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อสินค้าจากคอนเทนต์ที่ทำให้พวกเขารู้สึกเชื่อซึ่งก็คือคำชมจากลูกค้าคนอื่นๆ และการจัดลำดับสินค้าขายดี ส่วนคอนเทนต์ที่ลูกค้าชอบอ่านคือ คอนเทนต์ที่ทำให้ฉุกคิด สร้างแรงบันดาลใจ สร้างเสียงหัวเราะ และให้ความรู้ สำหรับภาพที่กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจซื้อคือ ภาพผู้บริโภคมีความสุขกับสินค้า ทั้งนี้หากต้องการยอดไลค์ให้โพสต์เรื่องคน ต้องการยอดแชร์ให้โพสต์ไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ และถ้าต้องการความคิดเห็นจากลูกค้าให้โพสต์ข่าวสารหรือกิจกรรมในแต่ละวัน
อาจารย์ประสิทธิ์ วรฉัตราวณิช ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด Digital & E-Commerce
ในส่วนของไฮไลต์ SCB ได้เชิญสองกูรู 100 ล้านมาร่วมเสวนาในหัวข้อ “เจาะกลยุทธ์ขั้นเทพจาก 100 สู่ 100 ล้าน” โดยกูรูท่านแรก กมล พูนทรัพย์ เจ้าของร้านขายหูฟัง มั่นคงแก๊ดเจ็ท ได้พูดถึงวิธีครองใจลูกค้าว่า เจ้าของร้านควรหาเวลามานั่งตอบคำถามหรือพูดคุยกับลูกค้า เพราะนอกจากทำให้ลูกค้ารู้สึกดีที่ได้รับการใส่ใจแล้ว ยังทำให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างลูกค้ากับร้านค้า ต้องทำให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจตั้งแต่เปิดกล่องสินค้า โดยความพึงพอใจนี้จะนำไปสู่การซื้อสินค้าชิ้นต่อไป และบอกต่อคนรอบข้างว่าร้านนี้ดีอย่างไร ให้ข้อมูลสินค้าตามความเป็นจริงทั้งหมด และห้ามลบความเห็นเชิงลบที่ลูกค้าโพสต์โดยเด็ดขาด แต่ให้นำความเห็นนั้นไปปรับปรุงแก้ไขจนกว่าพวกเขาจะรู้สึกดี ซึ่งหากมองในอีกมุม การแสดงความเห็นเชิงลบของลูกค้าทำให้ร้านค้ามีโอกาสทางการตลาดมากขึ้น เพราะได้รู้ถึงความต้องการของพวกเขา
นอกจากนี้ กมลยังเผยเทคนิคการเลือกใช้คำโปรโมตร้านให้ฟังว่า เจ้าของร้านต้องโปรโมตร้านด้วยคำที่สะดุดหู เพราะช่วยดึงความสนใจของลูกค้าได้มากเหมือนอย่างร้านมั่นคงแก็ดเจ็ทที่มีสโลแกนประจำร้านเก๋ๆ ว่า หูฟังระดับพระกาฬและแก๊ดเจ็ทระดับพญายม
กมล พูนทรัพย์ เจ้าของร้านมั่นคงแก๊ดเจ็ท
สำหรับกูรู 100 ล้านท่านที่สอง นัฐพล บุญภินนท์ Head of E-Commerce จาก New Step Asia ได้เผยเคล็ด (ไม่) ลับที่ทำให้เขาขายไม้ถูพื้นได้กว่า 100 ล้านบาทว่า ต้องเขียนคอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าให้ละเอียดและเขียนให้ยาวเข้าไว้ เพราะทำให้ลูกค้าเห็นถึงความตั้งใจจริงของผู้ขาย ถ่ายภาพสินค้าให้คมชัด สีไม่ผิดเพี้ยนไปจากสินค้าจริง รักษาเรตติ้งของร้านให้อยู่ในระดับสูงอยู่ตลอด เพราะลูกค้าจะเชื่อถือร้านค้าที่มีเรตติ้งสูงมากกว่าร้านค้าเรตติ้งต่ำ และต้องขยันเข้าหาลูกค้าไม่ใช่รอให้ลูกค้าเข้าหาเพียงฝ่ายเดียว
“สิ่งที่ทำให้ร้านค้าออนไลน์เป็นที่รู้จักคือ โพสต์คอนเทนต์เกี่ยวกับสินค้าและคอนเทนต์อื่นๆ ที่ลูกค้าชอบ โดยคอนเทนต์ที่โพสต์ต้องมีความสดใหม่และแปลกจากคู่แข่งจึงจะทำให้ลูกค้าจดจำร้านเราได้ ถัดมาคือลงโฆษณา อย่างที่จะลองผิดลองถูก ในช่วงแรกอาจลงโฆษณาวันละ 4-5 ชิ้น ถ้าโฆษณาชิ้นไหนไม่เวิร์กให้เปลี่ยน และกำหนดกลุ่มคนเห็นโฆษณาให้หลากหลาย ส่วนเทคนิคขายดีบนตลาดออนไลน์นั้น ก่อนอื่นผู้ขายต้องรู้ว่าลูกค้าอยากได้อะไร ถ้าไม่แน่ใจว่าสินค้าจะขายได้หรือไม่ ให้สั่งมาขายในปริมาณน้อยๆ ก่อน และตั้งราคาให้เหมาะสมกับคุณภาพสินค้า” นัฐพลกล่าว
นัฐพล บุญภินนท์ Head of E-Commerce จาก New Step Asia
โดยท้ายที่สุดนี้ กมลได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ทุกร้านค้าต้องมีเว็บไซต์เพื่อเก็บรวบรวมคอนเทนต์ จากนั้นจึงนำคอนเทนต์จากเว็บไซต์ไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก ไม่ควรมีหน้าร้านออนไลน์บนเฟซบุ๊กเพียงอย่างเดียว เพราะเมื่อโพสต์คอนเทนต์ใหม่ๆ ลงไป โพสต์เก่าจะเลื่อนไปอยู่ด้านล่างทำให้ยากต่อการค้นหา และหากเฟซบุ๊กของร้านโดนแบน คอนเทนต์ต่างๆ รวมทั้งลูกค้าก็จะหายไปด้วย
บรรยากาศภายในงาน
เพียงนำเคล็ดลับเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เข้ากับธุรกิจ ไม่แน่ในอนาคตคุณอาจก้าวขึ้นเป็นผู้ประกอบการ 100 ล้านเหมือนดังกูรูทั้งสอง
สำหรับผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจสามารถอ่านบทความธุรกิจอื่นๆ รวมถึงติดตามงานสัมมนาที่กำลังจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้ทาง scbsme.scb.co.th, www.facebook.com/scb.thailand และทาง LINE SCB Thailand
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี