​เบื้องหลัง “อเมซอน” รุกธุรกิจลอจิสติกส์

TEXT : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์




    สร้างความฮือฮาในวงการลอจิสติกส์ไม่น้อยเมื่อ “อเมซอน”  ร้านค้าปลีกออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเผยแผนเตรียมเข้าสู่ธุรกิจผู้ให้บริการด้านการขนส่งและลอจิสติกส์ โดยกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่เชื่อมการสื่อสารระหว่างคนขับรถบรรทุกส่งของกับลูกค้า แอพฯที่ว่านี้ออกมาในรูปบริการแบบอูเบอร์ ซึ่งเป็นแอพฯเรียกแท็กซี่แต่นี่จะเป็นแอพฯเรียกรถบรรทุกส่งของ เป็นแอพฯที่รวมการปฏิบัติการแบบครบวงจรคือแสดงราคาค่าบริการแบบเรียลไทม์ แสดงเส้นทางการขนส่ง และจุดจอดรถบรรทุก หากลูกค้าดาวน์โหลดแอพฯมาไว้บนสมาร์ทโฟนจะสามารถเรียกใช้บริการรถบรรทุกส่งของโดยไม่ต้องผ่านคนกลางที่ทำให้ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมประมาณ 15% ของค่าบริการต่อครั้ง

    ข้อมูลระบุ 70% ของการขนส่งสินค้าทั่วโลกจะใช้รถบรรทุก ระบบขนส่งด้วยรถบรรทุกนี้มีมูลค่าในตลาดโลกสูงถึง 800,000 ล้านเหรียญ จึงทำให้ธุรกิจนี้น่าสนใจ และอเมซอนก็ได้เตรียมการโดยทยอยซื้อรถบรรทุกมาสะสมไว้ระยะหนึ่งแล้ว ที่ผ่านมา อเมซอนประสบความสำเร็จจากบริการแบบ B2C เนื่องจากกว่าครึ่งของยอดขายสินค้าออนไลน์มาจากลูกค้าทั่วไป ทำให้อเมซอนได้มีโอกาสบ่มเพาะความสัมพันธ์อันแข็งแกร่งกับลูกค้ามาพอสมควร 

    สำหรับการรุกเข้าสู่ธุรกิจลอจิสติกส์นี้เป็นส่วนหนึ่งของอเมซอนที่ต้องการสร้างระบบส่งสินค้าด้วยตัวเอง การควบคุมระบบเองจะทำให้ส่งสินค้าได้เร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น ที่สำคัญทำให้ลดค่าใช้จ่ายในการจ้างบริษัทอื่นส่งสินค้าให้ปีละ 1,100 ล้านเหรียญเลยทีเดียว ทั้งนี้ อเมซอนเป็นลูกค้ารายใหญ่ของบริษัทดอยช์ โพสต์ เจ้าของ DHL ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าสัญชาติเยอรมัน การทำระบบลอจิสติกส์เองยังทำให้อเมซอนสามารถต่อยอดไปใช้กลยุทธ์กับลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ  เช่น บริการส่งสินค้าฟรีสำหรับลูกค้า Amazon Prime เป็นการกระตุ้นให้ลูกค้าสมัครสมาชิกมากขึ้น

    นอกจากให้บริการลูกค้าแบบ B2C เป้าหมายของอเมซอนคือการเป็นบริษัทลอจิสต์เต็มรูปแบบที่มีทั้งบริการส่งสินค้าทางบก ทางเรือ และทางอากาศเพื่อเจาะ B2B ซึ่งความเคลื่อนไหวนี้จะช่วยลดความเสี่ยง เนื่องจากธุรกิจหลักของอเมซอนคือการค้าปลีกออนไลน์ซึ่งยากจะคาดเดาแนวโน้ม การผันมาทำลอจิสติกส์จึงเป็นการสร้างธุรกิจใหม่รองรับกรณีที่ธุรกิจในเครือเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือเสียหาย หลังจากซุ่มวางระบบไว้อย่างดี อเมซอนมีกำหนดเปิดตัวธุรกิจใหม่ในกลางปีนี้ เชื่อว่า บริษัทลอจิสต์รายใหญ่ ๆ อย่าง DHL UPS หรือ FedEx คงอยู่นิ่งไม่ได้

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน