เรื่อง : กองบรรณาธิการ
แม้ว่าปัจจุบันจีนจะมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง แต่ทว่าบทบาทของจีนในเวทีโลกกลับทวีความสำคัญมากขึ้น จากแผนการปฏิรูปของจีน ภายใต้การนำของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจจีนขยายตัวในระดับสูงโดยเฉลี่ยกว่า 9 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จากแรงขับเคลื่อนหลักในภาคการลงทุน แต่เมื่อการลงทุนชะลอตัว หลายภาคอุตสาหกรรมจึงมีกำลังการผลิตส่วนเกินจนเกิดภาวะอุปทานล้นตลาด ทำให้จีนตระหนักว่า การพึ่งพาการลงทุน ไม่ใช่การเติบโตที่ยั่งยืนของเศรษฐกิจอีกต่อไป ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจีนได้วางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี ฉบับที่ 13 (2559-2563) ซึ่งตั้งเป้าให้เศรษฐกิจจีนเติบโตโดยเฉลี่ย 6.5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เพื่อที่จะทำให้ GDP ต่อประชากรเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าได้ทันภายในปี 2563
จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปีนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างไปสู่ New Normal ที่เน้นการเติบโตอย่างยั่งยืน เรียกได้ว่าจะเป็นการพลิกโฉมโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลกอย่างมากในทศวรรษข้างหน้า และในฐานะที่ประเทศไทยพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในระดับสูง และมีจีนเป็นพันธมิตรทางการค้าและการลงทุนที่สำคัญอันดับต้นๆ แน่นอนว่า ผู้ประกอบการไทยควรจับตามองอย่างใกล้ชิด เพื่อก้าวให้ทันกับพลวัตทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ จากการเปิดเผยของ ธีรินทร์ รัตนภิญโญวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโสกลยุทธ์ธุรกิจและอุตสาหกรรม ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) กล่าวว่า การปรับทัพครั้งนี้ของจีนจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญระดับโลก 3 มิติด้วยกัน และย่อมต้องมีผลกระทบต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือโจทย์ที่ภาคธุรกิจต้องเตรียมตัวให้พร้อม เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงและคว้าโอกาสไว้ให้ได้
ผันตัวเองสู่การเป็น “ผู้ส่งออกทุน”
เริ่มจากมิติแรก ด้านการลงทุนของจีน ในปี 2557 เป็นปีแรกที่จีนเริ่มเอาเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศ มากกว่าการรับเงินจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในจีน ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า จีนมีการรับจ้างไปทำโปรเจ็กต์ในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการไปสร้างโรงงานในต่างประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในอนาคตกลุ่มนี้จะเป็นคู่แข่งที่สำคัญสำหรับคนที่อยู่ในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง
อีกด้านหนึ่งคือ การควบรวมกิจการในต่างประเทศ ปีที่ผ่านมามีการเติบโตถึง 55 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากเดิมจะเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมพลังงาน เพื่อจัดหาทรัพยากรที่จำเป็นต่ออุตสาหกรรมการผลิต แต่แนวโน้มการลงทุนของจีนในช่วงถัดไปจะมีความหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะด้านโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสานต่อนโยบายเส้นทางสายไหมยุคใหม่ (One Belt One Road) และด้านการยกระดับความสามารถทางเทคโนโลยีและสินค้าบริการ เพื่อตอบรับการขยายตัวของภาคบริโภคของจีน
“เงินทุนของจีนเรามองว่า ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะมีการไหลออกมาอย่างต่อเนื่อง เขาวางรากฐานไว้อย่างดีมากๆ จะเห็นได้จากการที่เขาออกนโยบาย One Belt One Road หรือเส้นทางสายไหมยุคใหม่ ซึ่งเป็นนโยบายทางเศรษฐกิจของจีนที่ต้องการเชื่อมต่อเส้นทางการขนส่งทางบกและทางน้ำระหว่างจีนกับประเทศคู่ค้าทั้งในเอเชีย แอฟริกาและยุโรปกว่า 40 ประเทศ ซึ่งเหล่านี้จะหมายถึงการลงทุนที่ต้องการให้จีนออกไปสร้าง Infrastructure ในประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างถนน สร้างรถไฟฟ้า สร้างท่อส่งน้ำมัน สิ่งต่างๆ เหล่านี้หมายถึงการลงทุนออกไปต่างประเทศของจีนที่จะเยอะมากนั่นเอง”
ยกระดับจากผู้ผลิต สู่การเป็น “ผู้นำนวัตกรรม”
จากการที่จีนมักจะลอกเลียนแบบสินค้าของคนอื่นๆ จนทำให้คนติดภาพเมื่อนึกถึงสินค้าจีนจะมองเป็นของไร้คุณภาพ หรือของที่ราคาถูก แต่จากนี้ไปจีนกำลังจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ในมิติที่สองคือ การยกระดับไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรม ทั้งนี้ ในการพัฒนาทางด้านนวัตกรรมของจีนนั้น ธีรินทร์กล่าวว่า วันนี้จีนกำลังทำในหลายๆ ด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าไปควบรวม ซื้อกิจการ ไปซื้อเทคโนโลยี หรือการไปร่วมลงทุนกับคนอื่น เพื่อให้ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมถึงการให้เงินสนับสนุนการทำ R&D เป็นจำนวนมาก เพื่อที่จะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เอง ตลอดจนการสนับสนุนให้เมืองต่างๆ มีการพัฒนาทางด้านนวัตกรรม เหล่านี้เป็นสิ่งที่จีนพยายามทำอย่างเต็มที่ เพื่อจะยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้นำทางด้านนวัตกรรมในอนาคต
“ตัวอย่างที่เราเห็นได้ชัดเลย คือ รถไฟฟ้าของจีน จากเดิมเคยต้องให้เยอรมนี ญี่ปุ่นมาสร้างรถไฟฟ้าให้ ตอนนี้เขาสามารถที่จะพัฒนานวัตกรรมรถไฟฟ้าความเร็วสูงของเขาได้เอง หรืออย่างการที่เขามีเป้าหมายไว้เลยว่าในปี 2568 จีนจะต้องเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีนวัตกรรมของโลกให้ได้ ซึ่งเขามีการนำร่องใน 4 เมืองหลักด้วยกัน คือ ปักกิ่ง โดยจะสร้างปักกิ่งให้เป็นศูนย์รวมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่สมบูรณ์แบบของโลก มีอุทยานวิทยาศาสตร์จงกวนชุน (Zhongguancun Science Park) ที่ได้รับการขนานนามว่า ซิลิคอน วัลเล่ย์แห่งจีน เป็นพื้นที่สำหรับโครงการนำร่องการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีและเทคโนโลยีใหม่ ต่อมาคือ เซี่ยงไฮ้ โดยจะผลักดันเซี่ยงไฮ้ให้เป็นศูนย์กลางนวัตกรรมทางระบบการเงิน หรือ FinTech ส่วนด้านเซินเจิ้นและกวางเจา จะเน้นชูจุดเด่นในการเป็นศูนย์กลางการผลิตสินค้าเพื่อต่อยอดมาพัฒนานวัตกรรมสำหรับสิ่งของเครื่องใช้ไฮเทคและบริการอื่นๆ”
มิติใหม่ผู้บริโภคชาวจีน
ในมิติสุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตอย่างร้อนแรง ส่งผลให้คนจีนมีเงินมากขึ้น มีชนชั้นกลางเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้จะมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจของโลกเป็นอย่างมากในอนาคตข้างหน้า เพราะมีความต้องการสินค้าและบริการต่างๆ จากทั่วโลก รวมทั้งการท่องเที่ยว และที่อยู่อาศัยในต่างแดนที่เพิ่มขึ้น ในประเด็นนี้ ธีรินทร์ขยายความให้ฟังว่า ปัจจุบันจีนมีประชากรที่มีรายได้ปานกลางถึง 109 ล้านคน มากกว่าสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่มีคนที่มีรายได้ปานกลางสูงสุดในโลก ซึ่งคนที่มีรายได้ปานกลางของจีนนั้น เดิมจะอยู่เฉพาะในเมืองใหญ่ๆ แต่ปัจจุบันเริ่มที่จะกระจายไปสู่เมืองย่อยๆ มากขึ้น โดยคนกลุ่มนี้เขาจะมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อความสะดวกสบายของเขา ฉะนั้นสินค้าที่เกี่ยวกับการบริโภคอุปโภคต่างๆ สินค้าแบรนด์เนมต่างๆ มีการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการท่องเที่ยวต่างประเทศด้วย
“จีนมีการพัฒนาไปไกลมากในด้านของอี-คอมเมิร์ซ ธุรกิจอคอมเมิร์ซของจีน ณ วันนี้มีสัดส่วนถึง 16 เปอร์เซ็นต์ของการค้าปลีกของจีนทั้งหมด ซึ่งนับได้ว่าเยอะมาก และมียอดขายผ่านอี-คอมเมิร์ซถึง 700 ล้านดอลาร์สหรัฐฯ ต่อปี และมีแนวโน้มการเติบโตที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ถ้าเราเป็นผู้ประกอบการไทยที่อยากจะจับกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน ต้องมองแล้วว่า ตลาดอี-คอมเมิร์ซของจีน หรือแอพพลิเคชันของจีนมีอะไรบ้างที่คนจีนเขาใช้กัน แล้วเราจะทำอย่างไรให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกออนไลน์ หรือไปอยู่ต่อหน้าผู้บริโภคของเขาได้”
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือ การท่องเที่ยวของจีน ถึงแม้เศรษฐกิจเขาจะชะลอตัวลง แต่คนยังออกมาท่องเที่ยวต่อเนื่อง ในช่วงเกือบ10 ปีที่ผ่านมา การเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศของคนจีนโตขึ้นปีละ 16 เปอร์เซ็นต์ด้วยกัน หากดูยอดค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวจีนจะพบว่าวันนี้แซงหน้าสหรัฐอเมริกา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น หลายคนอาจกังวลว่านักท่องเที่ยวจีนจะเป็นนักท่องเที่ยวที่ไม่มีคุณภาพ ซึ่งปัจจุบันประเทศจีนเองเขาก็เริ่มมีการพัฒนานักท่องเที่ยวของเขาให้มีมารยาทมากขึ้น หรืออย่างนักท่องเที่ยวที่ออกมาเที่ยวเอง กลุ่มนี้ค่อนข้างจะมีการศึกษา หากเราสามารถจับกลุ่มนี้ได้ก็จะเป็นกลุ่มที่มีคุณภาพสำหรับผู้ประกอบการไทยอย่างมาก
“นอกเหนือจากท่องเที่ยวแล้ว เวลาเขาออกไปลงทุนต่างประเทศ คนเขาก็ย้ายไปทำธุรกิจในประเทศนั้นๆ ด้วย จะเห็นได้ว่าจีนมีการย้ายเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะ มีประสบการณ์ จะพบว่าคนจีนเข้ามาทำงานในประเทศไทยมีการเติบโตต่อปี 14 เปอร์เซ็นต์ แม้วันนี้จะยังน้อยกว่าญี่ปุ่น แต่ก็มีแนวโน้มว่าจะเติบโตขึ้นต่อเนื่อง คนพวกนี้เวลาเขาอยู่ต่างประเทศ เขาก็มองหาการซื้อที่อยู่อาศัย นับเป็นอีกหนึ่งโอกาสของผู้ประกอบการไทย ที่นอกจากจะจับนักท่องเที่ยวแล้ว กลุ่มนี้ก็เป็นโอกาสเหมือนกัน”
อย่างไรก็ดี จากการที่จีนกำลังช่วงชิงบทบาทและความสำคัญในเวทีโลก และกำลังก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลาง โดยใช้บริบทของการบริโภคภายในประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน ผู้ประกอบการไทยควรมองหาโอกาสเสนอสินค้าและบริการเพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคชาวจีนยุคใหม่ รวมไปถึงพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยี และเตรียมความพร้อมในการรองรับเงินทุนที่จะหลั่งไหลเข้ามาในหลากหลายธุรกิจ เพื่อให้ไทยสามารถปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของจีน และเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ธุรกิจและเติบโตไปพร้อมกับจีนได้อย่างยั่งยืนในอนาคต
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี