เรื่อง : กองบรรณาธิการ
จากการขยายตัวของเทคโนโลยีดิจิตอล ทั้งด้านเครือข่ายและอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ตโฟนที่มีศักยภาพสูงขึ้น ทำให้คนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้เทรนด์ของการช้อปปิ้งออนไลน์เติบโตขึ้นมาอย่างก้าวกระโดด และไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป
สิ่งหนึ่งที่ควบคู่มากับการซื้อ-ขายออนไลน์ นั่นคือ ระบบการชำระเงิน ที่ผ่านมาด้วยข้อจัดการของการชำระเงินสำหรับธุรกิจบนโลกออนไลน์ยังมีอยู่มาก และยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคได้มากพอ เป็นเหตุให้ความนิยมในการช้อปปิ้งออนไลน์ยังขยายตัวได้ไม่มากเท่าที่ควร
แต่ก็ต้องยอมรับว่า วันนี้ระบบการชำระเงินก็ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง จากผู้ให้บริการที่ต่างเล็งเห็นถึงโอกาสมหาศาลจากการขยายตัวของ Digital Commerce ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และสอดรับไปกับเทรนด์ Cashless Society หรือสังคมที่ผู้คนจะไม่ใช้เงินสด ทำให้วันนี้เราได้เห็นรูปแบบการชำระเงินที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์การค้าขายออนไลน์ได้มากขึ้น
รับ-จ่ายเงินง่ายๆ ด้วย Pay Social
แม้ช่องทาง Social Media บนแพลตฟอร์มอย่าง Instagram หรือว่า Facebook อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าการซื้อผ่านช่องทางทั่วไป ทั้งยังมีความยุ่งยากเรื่องการชำระเงินที่เป็นระบบน้อยกว่า แต่ถึงอย่างนั้นคนไทยก็ยังคงนิยมซื้อ-ขายผ่าน Social Commerce กันอยู่เรื่อยมา
ซึ่งโอกาสจากความนิยมดังกล่าวนี่เอง ที่ทำให้ ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ บริษัท TARAD.com ได้เล็งเห็นถึงช่องทางในการพัฒนาบริการ เพื่อมาตอบโจทย์ให้การซื้อ-ขายผ่าน Social Media มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยผ่านบริการที่ชื่อว่า Pay Social ซึ่งเขามีความเชื่อมั่นว่า การเข้ามาของ Pay Social จะเป็นบริการสำคัญที่ช่วยให้การซื้อ-ขายมีมาตรฐานและเป็นระบบยิ่งขึ้น แน่นอนว่าความสะดวกในส่วนนี้จะยิ่งกระตุ้นให้การซื้อ-ขายผ่าน Social Media สามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดสมกับที่ควรจะเป็น
“จากเดิมข้อจำกัดของการซื้อ-ขายผ่าน Social Media คือสามารถชำระเงินได้แค่การโอนผ่านบัญชีธนาคารหรือนัดรับชำระเงินแค่เท่านั้น แต่การชำระเงินผ่านบัตรเครดิต เคาน์เตอร์ เซอร์วิส หรือแม้แต่ผ่อนจ่ายยังไม่สามารถดำเนินการได้ และนั่นก็เป็นจุดบอดที่ทำให้ผมคิดได้ว่าเราควรจะกลบข้อด้อยในส่วนนั้น แล้วทำให้การชำระเงินมีความหลากหลาย ทั้งยังใช้งานง่ายไม่ยุ่งยากต่อผู้ค้าและผู้ซื้อ จนกระทั่งสุดท้ายก็มาจบที่ Pay Social โดยบริการนี้สามารถเริ่มต้นได้เพียงแค่สมัครอย่างง่ายใน 3 นาที และสามารถเริ่มใช้งานได้ทันที ด้วยรูปแบบลิงก์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Facebook, Instagram, LINE หรือแม้แต่บนเว็บไซต์ปกติ ก็สามารถทำลิงก์ไปใส่เพื่อให้ลูกค้ากดชำระเงินได้ทันที”
แน่นอนว่า คุณสมบัติตามที่กล่าวมานั้น คือความตั้งใจที่จะให้ระบบชำระเงินสามารถเกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุม โดยภาวุธเปิดเผยเพิ่มเติมว่า จุดเด่นของการใช้บริการตัวนี้คือการผ่อนชำระสินค้า ที่ปัจจุบันผู้บริโภคไม่ได้ซื้อของชิ้นเล็กชิ้นน้อยเพียงอย่างเดียว แต่กลับมีความกล้าตัดสินใจที่จะซื้อสินค้าแบรนด์เนมหรือของที่มีมูลค่าสูง จึงจะดีกว่าถ้าหากว่าสินค้าเหล่านั้นสามารถผ่อนชำระผ่านบัตรเครดิตได้ เสมือนว่าจับจ่ายอยู่ในห้างสรรพสินค้า
เรียกได้ว่าบริการนี้เป็นจุดเด่นที่ตอบโจทย์ทั้งทางฝั่งผู้ซื้อและผู้ขาย โดยเริ่มจากทางฝั่งผู้ซื้อที่สามารถผ่อนชำระสินค้าราคาแพงได้ ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนการซื้อ-ขายส่วนมากจะอยู่ในรูปแบบของเงินสดเต็มจำนวน แน่นอนว่านั่นย่อมเอื้อประโยชน์ไปสู่ผู้ขายที่จำหน่ายสินค้ามีมูลค่า เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือสินค้าแบรนด์เนม โดยผู้ขายจะยังคงได้รับเงินเต็มจำนวนเช่นเดิม เพราะหน้าที่การผ่อนชำระจะเป็นในส่วนของผู้ซื้อกับบัตรเครดิตที่ถืออยู่
นอกจากนั้น อีกหนึ่งจุดเด่นที่มองข้ามไปไม่ได้เลยคือ เรื่องของความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมามีกรณีศึกษาเรื่องการร้องเรียนพ่อค้าแม่ค้าที่โกงให้เห็นตามเว็บไซต์ชื่อดังหลายแห่งอยู่เป็นประจำ ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้น ทางเราจะมีใบอนุญาตให้ผู้ขาย ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือและตอกย้ำความไว้วางใจให้แก่ลูกค้าอีกทางหนึ่งด้วย
จากผลตอบรับที่ผ่านมานั้น ภาวุธเปิดเผยว่า ลูกค้าต่างมีความชื่นชอบในบริการตัวดังกล่าวเป็นอย่างมาก ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดผู้ใช้บริการไปแล้วกว่า 2,000 ราย และมีจำนวนเงินที่โอนผ่านระบบมากกว่า 10 ล้านบาทต่อเดือน สำหรับปีนี้ได้มีการเร่งพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม พร้อมๆ กับการเพิ่มทีม Customer Support เพื่อให้บริการได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ทำให้มั่นใจว่าปีนี้จะมีผู้ใช้งานเติบโตมากขึ้นกว่าเดิมถึง 400 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นจำนวนร้านค้า 10,000 ร้านค้า พร้อมกับยอดขายที่จะเติบโตกว่า 300 เปอร์เซ็นต์ หรือคิดเป็นเงิน 40 ล้านบาท
mPAY Gateway ระบบชำระเงินครบวงจร
เช่นเดียวกับ เอไอเอส เพื่อต้องการตอกย้ำความเป็นผู้นำดิจิตอลมันนี่ของไทย ก็ได้มีการเดินหน้าสนับสนุน Digital Commerce อย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการพัฒนาระบบรับชำระเงิน mPAY Gateway ที่ครบวงจร เพื่อผู้ประกอบการรายย่อยและบุคคลธรรมดาที่ค้าขายสินค้าบนโลกออนไลน์ ให้สามารถมีระบบการรับชำระเงินที่สะดวกและหลากหลาย ครอบคลุมการโอนเงินในทุกช่องทาง เพื่อตอบสนองทุกรูปแบบการจ่ายเงินของลูกค้า
โดยครั้งนี้เป็นการผนึกกำลังกับธนาคารกสิกรไทย ร่วมกันสร้างระบบรับชำระเงินที่สมบูรณ์แบบที่สุดให้กับทุกธุรกิจในประเทศไทย ขานรับเทรนด์ Cashless Society และตอบสนองนโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลของประเทศ
สำหรับจุดเด่นของบริการ mPAY Gateway นั้น คือ การมีช่องทางรับชำระเงินที่มีจำนวนมาก หลากหลาย และสะดวก ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการชำระเงินให้กับร้านค้า เช่น รองรับผ่านบัตรเครดิต/บัตรเดบิต, mPAY Wallet, รองรับบัญชีธนาคารมากถึง 9 ธนาคาร ซึ่งมีตู้ ATM มากกว่า 50,000 จุดทั่วประเทศ,จุดชำระเงิน mPAY STATION รวมถึงอุปกรณ์รูดบัตรเครดิตผ่านมือถือ (mPOS) สำหรับร้านค้าที่มีหน้าร้าน หรือร้านที่ต้องการให้บริการชำระเงินปลายทาง (Payment on Delivery) นอกจากนี้ ยังตอบโจทย์ในเรื่องของความรวดเร็ว เนื่องจากร้านค้าจะได้รับเงินภายใน 1 วันทำการ โดยไม่มียอดขั้นต่ำในการรับเงิน
LINE Pay กระเป๋าเงินดิจิตอล
ขณะเดียวกัน ฟากฝั่งของ LINE ก็มีการขยับตัวรุกตลาดเช่นกัน โดยทาง LINE Pay แพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือจาก LINE ก็ได้มีการประกาศเปิดตัวกระเป๋าเงิน LINE Pay ซึ่งจะเป็นกระเป๋าเงินดิจิตอลสำหรับผู้ใช้งาน LINE Pay โดยผู้ใช้สามารถเติมเงินเข้ากระเป๋าเงิน LINE Pay ได้จากหลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นจากบัญชีธนาคารโดยตรง หรือโอนจากช่องทางอื่นๆ ของธนาคาร เช่น ตู้เอทีเอ็ม บริการธุรกรรมการเงินผ่านอินเทอร์เน็ต บริการธุรกรรมการเงินผ่านมือถือ เป็นต้น
โดยธนาคารที่เปิดให้บริการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงิน LINE Pay ในปัจจุบันคือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งจะมีการเพิ่มธนาคารอื่นๆ ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ใช้สามารถใช้เงินในกระเป๋าเงิน LINE Pay ชำระค่าสินค้าบริการกว่า 200 ร้านค้าที่ร่วมรายการ รวมถึงสินค้า/บริการของ LINE อีกด้วย
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี