เรื่อง : สัญชัย บูรณ์เจริญ
nineclookclick@gmail.com, www.clookclick.com
เคยคิดไหมครับว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีประโยชน์อะไรบ้าง?
- ได้อัพเดตข่าวสารทันเหตุการณ์
- ได้เจอเพื่อนเก่าที่ไม่ได้เจอกันนานมาก
- ได้รู้ข่าวสารในอีกซีกโลกหนึ่งในแบบเจาะลึก
- ได้เห็นเบื้องหลังในบางวงการ
- ได้เมาท์และคอมเมนต์คนอื่นอย่างสนุก
- ได้รู้เรื่องชาวบ้านชนิดเกาะติดขอบจอ
- ได้รู้ว่าใครเป็นแฟนใคร
และอื่นๆ อีกมากมาย
แล้วมีประโยชน์ที่จับต้องเป็นตัวเงินไหม? คำตอบคือ มีครับ นั่นคือขายข้อมูลพฤติกรรมการใช้งานโซเชียลมีเดีย เอ๊ะ! ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์อะไร ทำไมจึงมีคนสนใจซื้อ เรามาดูกันครับ
ผมมั่นใจว่าทุกคนต้องเคยผ่านการทำวิจัยตลาดมาก่อนอย่างแน่นอน บางคนเคยอยู่ในฐานะคนถูกสัมภาษณ์ แต่บางคนอยู่ในฐานะคนทำวิจัย ซึ่งบทบาทนี้สมัยเรียนปริญญาตรีเกือบทุกคนต้องเคยทำแบบสอบถาม ออกไปสำรวจความคิดเห็น แล้ววิเคราะห์ข้อมูลสรุปเป็นรายงานหรือปริญญานิพนธ์ส่งอาจารย์
ในฐานะคนถูกสัมภาษณ์การทำวิจัยตลาดมักมีสินน้ำใจตอบแทนค่าเสียเวลา หากเป็นแบบสำรวจที่ยืนคุยกันริมถนน อาจได้พวงกุญแจ ปากกา ซองใส่เหรียญ หรือของใช้เล็กๆ น้อยๆ เป็นการขอบคุณ แต่หากนั่งโต๊ะคุยกันนานหน่อย ของติดมือก็มีราคาแพงขึ้น ชิ้นใหญ่ขึ้น ยังมีการวิจัยตลาดอีกประเภทที่ต้องการทราบพฤติกรรมและความคิดของผู้บริโภคเชิงลึก ก็จะเชิญเข้ามาร่วมสนทนากลุ่ม เรียกว่าทำวิจัยแบบ Focus Group ซึ่งการวิจัยลักษณะนี้มักให้เงินเป็นการตอบแทนในระดับหลายร้อยบาทไปจนถึงหลักพันบาท
สิ่งที่ธุรกิจต้องทำวิจัยตลาด ก็เพื่ออยากรู้ว่าลูกค้าต้องการอะไร มีเรื่องใดที่ชื่นชอบและมีเรื่องใดที่ยังต้องปรับปรุง ซึ่งช่องทางในการฟังเสียงลูกค้า จะมี 2 ช่องทางหลัก ช่องทางแรก คือลูกค้าบอก ด้วยการโทรศัพท์เข้าไปแจ้งคอลเซ็นเตอร์ ส่งจดหมายไปยังสำนักงานใหญ่ หรือไม่ก็ร้องเรียนกับพนักงานที่ร้านค้า ช่องทางที่สอง คือออกไปถามลูกค้า ซึ่งก็คือการทำวิจัยที่คุ้นเคยกันมากที่สุด แต่เมื่อมีโซเชียลมีเดีย ช่องทางในการฟังเสียงลูกค้าก็เปลี่ยนไป ไม่ได้มีจำนวนเพิ่มขึ้น แต่เป็นการขยายช่องทางแรกให้ใหญ่ขึ้น
Datacoup คือบริษัทที่เห็นโอกาสนี้ และอาสาเป็นคนกลางในการบริหาร “ข้อมูลส่วนตัว” ให้ขายได้เฉพาะส่วน ตามที่ลูกค้าต้องการ คนที่อยากขายข้อมูลสามารถเลือกได้ว่าจะเปิดเผยข้อมูลการใช้งานโซเชียลมีเดียใดบ้าง โดยมีรายการของโซเชียลมีเดียเกือบทุกแพลตฟอร์มให้เลือก เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส ทัมเบลอร์ อินสตาแกรม รวมไปถึงข้อมูลสุขภาพส่วนตัวที่ถูกบันทึกไว้ใน Fitbit อุปกรณ์ยอดนิยมของคนรักการออกกำลังกาย
นอกจากนั้น ยังมีการเชื่อมต่อข้อมูลกับบัตรเครดิต บัตรเดบิต ที่สะท้อนการใช้จ่ายออนไลน์ด้วย โดย Datacoup จ่ายเงินให้กับลูกค้าที่มาขายข้อมูล ตามปริมาณและความถี่ของข้อมูลที่เกิดขึ้น หากใช้งานโซเชียลมีเดียเยอะ รูดบัตรเครดิตบ่อย ทำให้มีข้อมูลมาก ก็จะได้เงินเยอะตามไปด้วย
ข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ตรงไหน หากพิจารณาดูทีละส่วน อาจดูเป็นข้อมูลธรรมดา เช่น โปรไฟล์ส่วนตัวที่ลงทะเบียนไว้ในโซเชียลมีเดียว่า สถานะการแต่งงานเป็นอย่างไร มีใครเป็นเพื่อนบ้าง จบการศึกษาที่ไหน ทำงานบริษัทใด ชอบเที่ยวทะเลหรือภูเขา นักร้องคนโปรด หนังที่ชื่นชอบ บ้าฟุตบอลหรือเปล่า เป็นต้น แต่หากนำมาวิเคราะห์ร่วมกับการแสดงความคิดเห็นหรือกดไลก์ เล่นเกมในเพจต่างๆ ก็จะทำให้เจ้าของสินค้าเข้าใจผู้บริโภคได้มากขึ้น
นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการแปร “ข้อมูล” ให้เป็น “เงิน” และในอนาคตข้อมูลเหล่านี้จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น หลากหลายขึ้น ทั้งข้อความ ภาพนิ่ง และคลิป ถึงตอนนั้นอาจมีอาชีพใหม่ ที่วันๆ เอาแต่นั่งเช็กและอัพเดตสเตตัสก็ได้ครับ
นอกจากแปรเป็นเงินแล้ว ข้อมูลส่วนตัวยังเป็น “เครดิต” ได้ด้วย เครดิตที่หมายถึงโอกาสและความน่าเชื่อถือในการกู้เงินจากแบงก์ โดยบริษัทจัดอันดับเครดิตที่ชื่อ FICO มีแผนจะเพิ่มข้อมูลการใช้งานในโลกออนไลน์เป็นปัจจัยในการพิจารณาความน่าเชื่อถือด้วย บริษัทนี้เป็นเอเยนซี่รายใหญ่ของสหรัฐฯ เปิดกิจการมากว่า 60 ปี ให้บริการในหลายประเทศทั่วโลกมีพนักงานกว่า 2,600 คน การที่บริษัทใหญ่และเปิดมายาวนานคิดแบบนี้ สะท้อนว่าชีวิตในโลกออนไลน์มีความน่าสนใจมากขึ้น ไม่เพียง FICO แต่บริษัทเอเยนซี่จัดอันดับเครดิตที่ชื่อ TransUnion ก็คิดเหมือนกัน
ผู้บริหาร FICO ให้ความเห็นว่า บางคนอาจมองการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเป็นเรื่องไร้สาระ แต่สำหรับเขากลับมองว่า การแสดงความคิดเห็นของวัยรุ่น รวมไปถึงการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนๆ อาจช่วยให้วิเคราะห์พฤติกรรมและความเป็นไปได้ในการจ่ายหนี้คืน จุดประสงค์ของทั้งสองบริษัทไม่ใช่การจับผิดผู้บริโภค แต่เป็นความพยายามเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ยังไม่เข้าระบบเครดิต ซึ่งก็คือกลุ่มวัยรุ่นนั่นเอง
ส่วนที่เยอรมนี Kreditech บริษัทที่ให้บริการทางการเงินออนไลน์ ขึ้นชื่อในเรื่องการใช้เทคโนโลยีมาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้า ได้มีการประเมินลูกค้าไปแล้วกว่า 2 ล้านคน โดยมีข้อมูลครอบคลุมหลายมิติ ทั้งตำแหน่งที่อยู่ลูกค้า การเดินทาง การซื้อสินค้าออนไลน์ การใช้งานเว็บไซต์ต่างๆ รวมไปถึงพฤติกรรมบนโซเชียลมีเดีย ทันทีที่ลูกค้ากรอกข้อมูลแสดงความจำนงกู้เงิน ระบบจะทำการดึงข้อมูลในโลกออนไลน์มาทั้งหมดเพื่อประเมินความน่าเชื่อถือ
นอกจากประวัติส่วนตัวในโซเชียลมีเดียแล้ว จะมีการวิเคราะห์ไปถึงประวัติของเพื่อนด้วยว่า เพื่อนเคยกู้เงินหรือเปล่า และประวัติการจ่ายหนี้เป็นอย่างไร หากเพื่อนมีเครดิตดี ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับอนุมัติเงินกู้ ถึงตรงนี้หลายคนคงอยากไปอันเฟรนด์ (Unfriend) เพื่อนบางคนออกจากเฟซบุ๊กของเรา โดยเฉพาะคนที่ยืมเงินเราแล้วยังไม่ยอมจ่าย แบบนี้มีโอกาสทำเครดิตของเราเสียไปด้วย
เครดิต ไม่ได้มีแค่เรื่องกู้เงิน แต่ยังรวมไปถึงการสมัครงานหรือแม้แต่การหาคู่ครอง ในฟิลิปปินส์บริษัทชื่อ Lenddo ได้พัฒนาโปรแกรมเพื่อประเมินเครดิตของแต่ละคนโดยใช้ข้อมูลในโซเชียลมีเดีย ทั้งประวัติส่วนตัว ประวัติการศึกษา การทำงาน เพื่อนฝูงที่คบค้าสมาคม กิจกรรมยามว่าง เรื่องที่สนใจเป็นพิเศษ
ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาประเมินเป็นคะแนนเครดิต โดยลูกค้าของ Lenddo ก็คือ เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ซที่กลัวจะถูกลูกค้าหลอก บริษัทโทรคมนาคมที่จะนำเอาข้อมูลไปประกอบการขาย Postpaid ว่า ลูกค้าคนไหนมีความสามารถจ่ายได้เท่าไร บริษัทจัดหาคู่ต้องการสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าทั้งสองฝ่ายและลดความเสี่ยงที่จะถูกทำให้เสียชื่อ ส่วนบริษัทจัดหางานก็ได้ข้อมูลเพื่อคัดกรองเบื้องต้นและลดเวลาในการเรียกมาสัมภาษณ์
จะเห็นว่า เครดิตที่เคยต้องใช้คนสนิทหรือญาติผู้ใหญ่ แต่ต่อจากนี้ไปทุกร่องรอยบนโลกออนไลน์ จะกลายเป็น “ผู้ค้ำประกัน” ให้เราเอง ดังนั้น อย่าลืมตั้งสติก่อนคลิกนะครับ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี