สร้างคุณค่าให้แบรนด์ด้วย Video Content



 

เรื่อง : เจษฎา ปุรินทวรกุล



    หนึ่งในรูปแบบการตลาดในช่วงที่ผ่านมาที่ได้รับความนิยมและสนใจจากคนจำนวนมาก คงหนี้ไม่พ้นเรื่องการทำตลาดด้วยวิดีโอคอนเทนต์ (Video Content) แม้จะไม่ได้เป็นเรื่องที่ใหม่อะไรมากในเวลานี้ แต่ก็ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการไม่ว่าจะรายเก่าหรือรายใหม่ ควรลองทำความเข้าใจ เห็นประโยชน์และใช้โอกาสจากช่องทางนี้ นั่นก็เพราะว่า 

    1. วิดีโอคอนเทนต์สามารถทำให้มีจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์สูงขึ้น

    2. ผู้เข้าชมจะใช้เวลาอยู่ในเว็บไซต์นานกว่าเดิม

    3. การค้นหาผลิตภัณฑ์ผ่าน SEO จะดีขึ้น หากเว็บไซต์มีวิดีโอคอนเทนต์

    4. ผู้บริโภคจะไปค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์และบริการต่อหลังจากได้ชมวิดีโอ

    5. ผู้บริโภคมีความต้องการซื้อสูงขึ้นหลังจากได้ชมวิดีโอแนะนำผลิตภัณฑ์หรือบริการ

    6. ผู้บริโภคมีความมั่นใจสูงขึ้น และกล้าที่จะซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อได้ชมวิดีโอ 
    
    อย่างไรก็ดี หากผู้ประกอบการรู้จักการใช้อย่างถูกวิธีแล้วละก็ วิดีโอคอนเทนต์ยังช่วยสร้างโอกาสและสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ของคุณได้อีกด้วย แต่ภายใต้งบประมาณกับความรู้ความสามารถที่มีอยู่อย่างจำกัด เราจะสร้างวิดีโอคอนเทนต์อย่างไรให้มีเนื้อหาน่าสนใจ และสามารถสร้างความประทับใจให้กับผู้ที่รับชมและกลุ่มเป้าหมายได้ลองมาดู 5 ขั้นตอนของการสร้างวิดีโอคอนเทนต์ด้วยวิธีนี้กัน


1. รับฟังและทำความเข้าใจผู้ชม

    อย่างแรกเลย ก่อนที่จะระดมสมองเพื่อสร้างไอเดียในการทำวิดีโอ เลือกเครื่องมือ ตัดสินใจซื้อกล้อง หรือทำอะไรก็ตาม สิ่งแรกที่คุณต้องคิดก็คือ “กลุ่มลูกค้าต้องการเห็นอะไร”

    การพยายามที่จะเข้าใจให้ได้ว่า ลูกค้าต้องการอะไรจากวิดีโอของเรา เป็นการสร้างทั้งคุณค่าและมูลค่าให้กับวิดีโอและแบรนด์อย่างมหาศาล การทำแบบสอบถามหรือวิจัยตลาดเพื่อหาคำตอบว่าลูกค้าอยากทราบอะไรเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์หรือบริการของเรา หรือสิ่งที่พวกเขาอยากรู้ในประเภทธุรกิจของคุณ จะเป็นข้อมูลที่สำคัญต่อการสร้างวิดีโอคอนเทนต์อย่างมาก

    สำหรับคนที่ไม่ถนัดงานด้านเอกสาร ไม่เก่งการทำแบบสอบถาม ไม่ถนัดการวิจัยตลาด ลองใช้ไอเดียเหล่านี้ในการรวบรวมข้อมูลก็ได้เช่นกัน

    1) ในโซเชียลมีเดีย ลองดูการสนทนา ตั้งคำถาม และตอบคำถามของลูกค้าที่อยู่ในประเภทธุรกิจของคุณ เพื่อดูว่าเขามีความชอบ สนใจ หรือสงสัยในประเด็นอะไร

    2) สร้างแบบสอบถามออนไลน์ แล้วส่งให้กับลูกค้า หรือผู้ติดตามในโซเชียลมีเดีย

    3) ถามผู้ที่ติดต่อกับคุณโดยตรง อาจเป็นทาง Chat Box ของเฟซบุ๊ก หรือช่องทางอื่นๆ ว่า ในขณะนี้เขาสงสัยหรืออยากรู้เรื่องของอะไรบ้างที่เกี่ยวกับประเภทธุรกิจของคุณ อาจมีการลิสต์หัวข้อไว้ให้แคบลง เพื่อไม่ให้เป็นคำถามปลายเปิดมากเกินไป

    4) ค้นหา Hashtag จากทวิตเตอร์ ซึ่งต้องเป็นคำที่มีความหมาย และมีความเกี่ยวโยงกับธุรกิจหรือแบรนด์ของคุณ 



2. เนื้อหาตอบสนองกับวัตถุประสงค์ของแบรนด์หรือไม่

    สิ่งที่ต้องคิดในลำดับถัดไป ก็คือ “หัวข้อ หรือไอเดียในการสร้างวิดีโอ เหมาะสมต่อจุดหมายของแบรนด์หรือไม่” หากการสร้างวิดีโอขัดต่อวัตถุประสงค์ของแบรนด์ ก็ควรหยุดความคิดเหล่านั้นไปก่อน จากนั้นลองวาดวงกลมขึ้นมา 3 วง ดังนี้ 

    วงที่ 1 วัตถุประสงค์ของแบรนด์ (Brand Object)

    วงที่ 2 ความสนใจของผู้รับชม (Audience Interest)

    วงที่ 3 ทำได้จริงหรือไม่

    แล้วนำวงกลม 3 วงมาซ้อนกัน ซึ่งตรงกลางจะเป็นเนื้อหาที่เหมาะสมต่อการนำไปสร้างวิดีโอ ซึ่งการจะทำให้ความคิดตกผนึกได้ถึงขั้นนี้อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่าย และต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หากเราสมารถทำได้ วิดีโอก็จะมีคุณค่าและสร้างมูลค่าให้กับแบรนด์ได้เป็นอย่างดี

 




3. สร้างเนื้อหาเพื่อให้สะท้อนอารมณ์

    เมื่อทำการบ้านจนทราบแล้วว่าอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าต้องการชมและสิ่งนั้นเหมาะสมต่อองค์กร ก็ได้เวลาลงมือสร้างวิดีโอกันซะที แต่การจะทำให้วิดีโอน่าสนใจและได้รับการแชร์ หรือบอกต่อๆ กันไป เนื้อหาของวิดีโอก็ต้องสามารถสร้างอารมณ์ร่วมให้กับผู้ชมได้ด้วย เช่น มีความสุข ประหลาดใจ สร้างแรงบันดาลใจ เป็นที่ฮือฮา โศกเศร้า อบอุ่น ความภาคภูมิใจ ทำให้คิดถึงใครบางคนได้ เซอร์ไพรส์ สร้างความรู้ อารมณ์ขัน เป็นต้น ซึ่งการสร้างเนื้อหาที่ส่งผลต่อความรู้สึกเชิงบวก จะได้รับการตอบรับที่ดีในโลกโซเชียลมีเดีย



4. ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อแชร์ในหลายๆ ช่องทาง 

    เมื่อคุณได้วิดีโอที่มีคุณค่าและเหมาะสมต่อการเผยแพร่แล้ว ต้องวางแผนการโพสต์ให้ดี เพราะโซเชียลมีเดียมีอยู่หลายประเภทด้วยกัน เริ่มแรกคุณอาจโพสต์วิดีโอลงบนเฟซบุ๊กแล้วรอดูผลที่เกิดขึ้น ทิ้งช่วงสักระยะหนึ่งจากนั้นค่อยนำไปโพสต์ในช่องทางอื่นๆ ต่อ เพื่อให้กระแสของการพูดถึงวิดีโอของคุณมีความยาวนานขึ้น ผู้ชมและลูกค้าจดจำคุณได้ดียิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้จะไม่ได้ผลเลย หากวิดีโอของคุณไม่มีคุณภาพเพียงพอ



5. ประเมินความสำเร็จ

    ส่วนที่ยากที่สุดของการสร้างวิดีโอคอนเทนต์ก็คือ การประเมินผลความสำเร็จ เช่น วิดีโอนี้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายไหม หลังจากผู้ชมรับชมแล้วผู้ชมมีความรู้สึกสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแบรนด์ หรือรู้สึกดีกับแบรนด์มากขึ้นไหม และวิดีโอชิ้นนี้มีผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ที่คุ้มค่าหรือไม่ นี่คือข้อมูลที่จำเป็นต้องรวบรวม เพื่อนำไปปรับปรุงและพัฒนาวิดีโอคอนเทนต์ในครั้งหน้า ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมองข้าม พอเห็นยอดแชร์ ยอดไลก์ และผู้ชมเข้ามามีส่วนร่วมในการสนทนาเป็นจำนวนมาก ก็คิดว่าประสบความสำเร็จ โดยไม่ได้วิเคราะห์ให้รอบด้าน 

    การสร้างวิดีโอให้ฮิตติดตลาด จนกลายเป็นกระแส Viral อาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การเดินหน้าสร้างวิดีโอคอนเทนต์ตามขั้นตอนด้านบน จะช่วยสร้างคุณค่าให้วิดีโอ สร้างการจดจำแบรนด์ให้กับผู้รับชม และยังมีโอกาสสร้างความประทับใจได้อย่างแน่นอน     

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน