Online marketing แบบไหนที่ SME ทำแล้วรุ่ง





เรื่อง : กองบรรณาธิการ
ภาพ : กฤษฎา ศิลปไชย



    “การตลาดออนไลน์ คนที่ต้องแบกรับความยากไว้ ก็คือตัวแบรนด์หรือนักการตลาด เพราะต้องมานั่งจับทิศและทำความรู้จักกับฐานลูกค้าของตนเองแบบละเอียดยิบ ยิ่งไปกว่านั้นอีกหนึ่งความท้าทายที่จะเป็นอุปสรรคสำคัญบนโลกออนไลน์ ก็คือเรื่องของความเร็ว ที่กระแสและความนิยมต่างมาไวแล้วก็ไปไว” 


    นี่คือจุดเริ่มต้นในมุมมองด้านการตลาดออนไลน์ของ สุรศักดิ์ เหลืองอุษากุล นักวางกลยุทธ์การตลาด บริษัท แบรนด์เบเกอร์  ที่กำลังบอกเล่าถึงการตลาดด้านออนไลน์ที่ SME จำเป็นต้องเข้าใจและเข้าให้ถึงเพราะมีประโยชน์มากมายที่ SME สามารถนำไปหยิบใช้ได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ต้นทุนสูง

    
    สุรศักดิ์เล่าต่อว่าสิ่งที่ท้าทายที่สุดของออนไลน์ก็คือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว วันนี้ลองใช้กลยุทธ์แบบนี้แล้วเวิร์ก แต่วันพรุ่งนี้อาจจะไม่เวิร์กแล้วก็ได้ เพราะว่ากฎระเบียบต่างๆ ถูกกำหนดจากผู้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม 


    ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น เฟซบุ๊ก ยุคก่อนการโพสต์รูปอาจจะเป็นแนวทางที่ดีที่สุดในการกระจายสินค้าให้ลูกค้าดู แต่ผ่านมาครึ่งปีกลับกลายเป็นว่าการโพสต์ลิ้งก์ไปยังเว็บไซต์เวิร์กกว่า หลังจากนั้นอีกไม่นานก็เปลี่ยน และกลายเป็นว่าวิดีโอ คือสื่อที่ดีที่สุด 


    หรือแม้แต่ไลน์ แอพพลิเคชันแช็ตสุดฮิตที่มีผู้ใช้นับล้านคนทั่วโลก แต่ใครจะกล้าการันตีล่ะว่าไลน์จะอยู่กับเราไปตลอด ทุกอย่างต่างต้องมีการพัฒนาและอัพเดตสิ่งใหม่ๆ ให้ผู้เล่นอยู่เสมอ เช่นเดียวกันกับแบรนด์ที่วันนี้จะต้องปรับตัวให้ไว เพื่อให้เข้ากับบริบทของกลุ่มเป้าหมาย



    ซึ่งการปรับตัวที่สำคัญคือแบรนด์จะต้องเริ่มด้วยการรู้จักตนเองเสียก่อน และหาจุดขายที่แตกต่างเพื่อนำมาเป็น Story สำหรับบอกเล่าผ่านโลกออนไลน์ และคอนเทนต์เหล่านั้นจะเป็นตัวที่ทำให้ลูกค้าวิ่งเข้าหา  
 

    ยกตัวอย่างง่ายๆ สมมุติว่าขายกาแฟ คำถามที่ต้องตอบตนเองให้ได้คือ ทำไมลูกค้าต้องมาซื้อกับเรา ทำไมถึงไม่เลือกกินสตาร์บัคส์ ถ้าหากจะบอกว่าราคาถูกกว่า ตรงนี้มองว่ามันเป็นคำตอบที่ยัง “ไม่ใช่”


    แต่ถ้าเราเปลี่ยนมุมมองว่ากาแฟที่เรากำลังขาย เราไม่ได้ขายเพราะว่าราคาถูก แต่เราขายเพื่อมอบพลังงานให้แก่ลูกค้าที่จะต้องไปต่อกรกับงานที่กองสุมไว้ ดังนั้น ข้อความที่จะส่งออกไปคือเราไม่ได้ขายกาแฟนะ แต่เรากำลังขายพลังงานและความสำเร็จ


     ดังนั้น จุดเด่นของร้านคือ มีกาแฟรสเข้ม ภายในร้านจะมีมุมบริการสำหรับคนทำงาน มีห้องสมุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของธุรกิจ เป็นต้น ซึ่งตรงนี้แหละที่จะเป็นคอนเทนต์สำหรับสร้างจุดขายบนโลกออนไลน์ ค่อยๆ ดึงมันออกมาแล้วก็เล่าผ่านโซเชียลมีเดีย ที่ลูกค้าฝังตัวอยู่
 

 
    นอกจากนี้สุรศักดิ์ยังแนะนำว่าในเมื่อต้นทุนทางด้านการเงินของ SME ไม่สามารถสู้แบรนด์ใหญ่ได้ ดังนั้น ความขยันและตรงประเด็นจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า


    สำหรับ SME จะประสบความสำเร็จได้ต้องขยันโดยคลุกคลีกับข้อมูลให้มาก แม้จะต้องเสียพลังทางความคิดค่อนข้างเยอะ แต่ต้นทุนด้านการเงินนับว่าจ่ายน้อยและคุ้มค่ากับผลตอบรับที่จะได้กลับมา ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่ SME ได้เปรียบแบรนด์ใหญ่ และที่สำคัญคือต้องตรงประเด็น 


    “ผมมีโอกาสได้ไปร่วมเสวนาและวิทยากรที่ขึ้นร่วมกับผม เขามีแนวคิดอย่างหนึ่งที่ดีและผมชอบมาก คือปัจจุบันเราทำวิดีโอขึ้นมาสักชิ้น เราจะเอายอด 1 ล้านวิวไปทำอะไร หรือแม้แต่ข้อมูลในเฟซบุ๊กเราต้องการยอดเข้าถึง 20 ล้านคนไปเพื่ออะไร ถ้าในท้ายที่สุดมันไม่สามารถแปรเปลี่ยนตัวเลขเหล่านั้นเป็นยอดขายได้ ซึ่งเขาก็แนะนำว่าให้เราตั้งโจทย์กับตนเองก่อนว่า ต้องการยอดขายเท่าไหร่ สมมุติผมอยากได้ 1 ล้านบาทจากลูกค้า 1 หมื่นคน ทีนี้ลูกค้า 1 หมื่นคนจะเห็นเราสักกี่ครั้งนะ เขาถึงจะตัดสินใจซื้อ สมมุติว่า 10 ครั้งก็เพียงพอ เท่ากับว่าเราใช้ยอดคนเข้าถึงแค่ 1 แสนเท่านั้น แล้วก็ทำการกำหนดกลุ่มเป้าหมายให้ตรง การทำ Custom Audience ตรงนี้ ผู้ประกอบการจะใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 6,000-10,000 บาทเท่านั้น นี่แหละคือวิธีทำการตลาดที่แปลงกลับมาเป็นยอดขายได้จริงในราคาที่สุดคุ้ม”


www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

     

RECCOMMEND: MARKETING

ททท. จับมือ สายการบิน EVA Air ผลักดันไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวระดับโลก

เพื่อส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางยอดฮิตของนักท่องเที่ยวนานาชาติ ททท.และสายการบิน EVA Air จึงขยายความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง 4 ปี ในการกระตุ้นตลาดหลักทั้งระยะใกล้และระยะไกลผ่านเครือข่ายเส้นทางการบินของ EVA Air

รู้แล้วรุ่ง 10 กลยุทธ์ พิชิตตลาดภูธร ปี 2568

จากสถานการณ์เศรษฐกิจถดถอย ทำให้หลายแบรนด์มุ่งหน้าบุกตลาดต่างจังหวัด และนี่คือเคล็ดลับ 10 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณรุกตลาดภูธรได้สำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน