ในการทำธุรกิจให้ได้อย่างยั่งยืนนั้น มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้และลงมือทำ เมื่อเราต้องลงมือทำสิ่งต่างๆ มากมาย จึงเป็นเรื่องง่ายที่เราจะทำสิ่งผิดพลาดลงไปโดยเฉพาะในช่วงวันแรกๆ แต่เราสามารถหลีกเลี่ยงความผิดพลาดเหล่านั้นได้ด้วยการระมัดระวังเรื่องเหล่านี้
1. ตั้งชื่อผิด
ชื่อเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมากๆ การเรียกชื่อที่เหมาะสม จดจำง่าย เป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างความสำเร็จให้กับเจ้าของธุรกิจได้เป็นอย่างดี พยายามอย่าตั้งชื่อให้น่ารัก ซาบซึ้ง หรือเพ้อฟันเกินไป หากแต่ให้ลองนึกถึงตอนที่แบรนด์เติบโตไปจนถึงระดับประเทศแล้ว ชื่อนี้ยังสามารถขายได้อยู่หรือเปล่า อีกประการคือ ชื่อที่เราตั้งนั้นง่ายต่อการอ่าน สะกด และจดจำหรือไม่
2. ใช้จ่ายเงินอย่างไร้แบบแผน
เราอาจต้องการอุปกรณ์ในการดำเนินธุรกิจ เฟอร์นิเจอร์ ซอฟต์แวร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และอื่นๆ อีกมากมาย แต่เราไม่จำเป็นต้องซื้อทุกอย่างพร้อมๆ กันจนสิ้นเนื้อประดาตัว ทั้งนี้ ในช่วงแรกควรซื้ออุปกรณ์ในลักษณะของการลงทุนเพื่อให้ธุรกิจสามารถสร้างเงินได้ อะไรที่ยังไม่จำเป็นก็ไม่ควรซื้อ
3. ไม่มีกลยุทธ์ทางการตลาด
เมื่อต้องสร้างตราสินค้า เราอาจต้องจ้างผู้ที่มีความชำนาญมาออกแบบโลโก้ เว็บไซต์ และแผนการตลาดให้ ซึ่งผู้ประกอบการส่วนใหญ่ แม้จะรู้จักผลิตภัณฑ์ของตัวเอง แต่อาจกำหนดกลุ่มเป้าหมายผิดกลุ่ม รวมถึงค้นหาวิธีและช่องทางการติดต่อกับลูกค้าได้ไม่ค่อยมีศักยภาพเพียงพอ เรื่องนี้สอนให้รู้ว่าการขาดกลยุทธ์ทางการตลาด เป็นการทำร้ายธุรกิจโดยไม่รู้ตัว และทำให้ธุรกิจไม่โดดเด่นอย่างที่ควรจะเป็น
4. เราทำงานด้วยความโดดเดี่ยว
ผู้ประกอบการหลายๆ คน สามารถทำงานหลายวันติดต่อกันโดยไม่ต้องพบปะมนุษย์คนใดเลยแม้แต่คนเดียว การทำงานแบบนี้ไม่ใช่เรื่องดีเลย ดังนั้น รีบถอดชุดนอน สร้างความกระตือรือร้นและความเป็นมืออาชีพด้วยการออกไปสร้างเครือข่าย อาจเป็นงานประชุม สัมมนา ซึ่งเปิดโอกาสให้เราเจอเพื่อนร่วมธุรกิจ เจอบริษัทส่งของเจ้าอื่นๆ เจอผู้มีอิทธิพลในแวดวงธุรกิจ หรือเข้าร่วมงานอบรมเพื่อพัฒนาความรู้ด้านต่างๆ เพิ่มเติม น่าจะเป็นอะไรที่ดีกว่าการอุดอู้อยู่ในบ้านหรือออฟฟิศเป็นเวลานานๆ
5. เล่นสงครามตัดราคา
ก่อนอื่นลองคำนวณต้นทุนดูว่าค่าใช้จ่ายในการทำธุรกิจของเรา ตั้งแต่ค่าวัสดุ แรงงาน ค่าเช่าสถานที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเสื่อมราคาเครื่องจักร ค่าต้นทุนการตลาด ค่าน้ำมัน ค่าภาษีป้าย ภาษีประจำปี คำนวณออกมาเป็นต้นทุนสินค้าหรือบริการต่อชิ้นหรือต่อครั้ง ควรจะอยู่ที่เท่าไร ซึ่งราคาที่ตั้งขึ้นมาควรมีกำไรอยู่ด้วย ไม่ใช่เห็นว่าคู่แข่งตั้งราคาต่ำ ก็ไปตั้งต่ำตามโดยมีกำไรเหลือเพียงน้อยนิด
แนวทางการแก้ไขคือ ทำการวิเคราะห์คู่แข่งว่า ทำไมคู่แข่งถึงสามารถตั้งราคาต่ำได้ เพราะต้นทุนเขาต่ำกว่า หรือเขาแค่ดันทุรังตั้งราคาให้ต่ำเอาไว้ แล้วขายเน้นปริมาณ หากเราไม่มีช่องทางการจำหน่ายที่ดีเหมือนคู่แข่ง อาจพัฒนาการบริการ หรือคุณภาพเพื่อเลือกกลุ่มเป้าหมายที่ต่างจากคู่แข่ง และขายสินค้าต่อชิ้นในราคาสูงขึ้น โดยหันมาเน้นที่คุณภาพและการให้บริการแทน เป็นต้น
6. เสียสมาธิกับเรื่องที่ไม่ควร
ลองถามตัวเองดูว่าเราเช็คอีเมล์ เล่นไลน์ เฟซบุ๊ค หรือก้มหน้ากดโทรศัพท์มือถือเพื่อความบันเทิงตลอดเวลาเลยหรือเปล่า การใช้เวลาไปกับเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ ทำให้เราเสียทั้งเวลาและเสียโอกาสในการสร้างกำไรให้กับธุรกิจเป็นอย่างมาก
พยายามตรวจสอบสิ่งที่ต้องทำ ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเราได้ เช่น นัดลูกค้า ติดต่อร้านค้าส่ง หรือตัวแทนจำหน่าย เป็นต้น หรืออาจเป็นกิจกรรมส่งเสริมการตลาดแบบอื่นๆ ที่ดูแล้วมีประโยชน์กว่าการนั่งทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันไปวันๆ
ก่อนเริ่มทำธุรกิจ อย่าลืมวิเคราะห์ด้วยว่า ธุรกิจหรือเจ้าของธุรกิจที่ประสบความสำเร็จในธุรกิจประเภทที่เราทำ เขาก้าวเดินอย่างไร พยายามเดินตามเขาในระยะแรก และสร้างความแตกต่างเพื่อเป็นตัวของตัวเองในภายหลัง
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี