ธุรกิจค้าปลีก grocery store ของไทยมีแนวโน้มเติบโตไปตามประเทศพัฒนาแล้วในเอเชีย โดยจะมุ่งไปที่โมเดลขนาดเล็กลง หากดูจากโครงสร้าง grocery store ของประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียคือ ญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์และเกาหลีจะพบว่ายอดขายของซุปเปอร์มาร์เก็ตมีสัดส่วนสูงที่สุดเกินกว่า 50% ของยอดค้าปลีกสมัยใหม่ โดยที่สัดส่วนของสาขายังกระจุกตัวอยู่ที่ซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อ ขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างซุปเปอร์สโตร์ไม่เป็นที่นิยมมากนัก โดยเฉพาะในญี่ปุ่น ต่างจากไทยซึ่งแม้จะมีสัดส่วนจำนวนสาขาของร้านสะดวกซื้อมากที่สุด แต่กลับมียอดขายของซุปเปอร์สโตร์สูงที่สุด
อย่างไรก็ดี จะพบว่าจำนวนสาขาของซุปเปอร์สโตร์เติบโตช้าลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมในช่วงปี 2004-2008 สาขาเพิ่มขึ้นราว 20% ต่อปี มาในปี 2009-2011 เพิ่มขึ้นเพียงราว 7% ต่อปี เช่นเดียวกับยอดขายที่เติบโตช้าลงจาก 17% ต่อปีเป็น 4% ต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ร้านสะดวกซื้อมีบทบาทมากขึ้นเห็นได้จากจำนวนสาขาที่เติบโตสูงราว 14% ต่อปีและมียอดขายที่เติบโตถึง 16% ในช่วง 2006-2011 สะท้อนว่า grocery store ของไทยมีแนวโน้มพัฒนาไปเป็นโมเดลที่เล็กลง
ปัจจัยเกื้อหนุนโมเดลค้าปลีกขนาดเล็กโต
ด้วยพื้นที่อันจำกัดและกฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกทำให้การเติบโตของสาขา grocery store ขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น โดยเฉพาะย่านใจกลางเมืองที่หายากและมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งยังมีข้อจำกัดจาก พ.ร.บ.ผังเมืองที่กำหนดบริเวณห้ามก่อสร้างอาคารพาณิชยกรรมประเภทค้าปลีกค้าส่ง ทำให้ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่หันมาขยายสาขาร้านค้าขนาดเล็กลง
ทั้งนี้ อยากให้จับตามองโมเดลค้าปลีกที่เป็น “hybrid concept” ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวดี โดยในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาจะเห็นพัฒนาการของ grocery store ของไทยเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด มีโมเดลใหม่ๆ ที่เป็นการผสมผสานระหว่างซุปเปอร์สโตร์/ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งรูปแบบจะแตกต่างไปตามทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
ฉะนั้น ถ้าพิจารณาดูความเหมาะสมของ grocery store รูปแบบต่างๆ แล้ว โมเดลที่น่าจะมีแนวโน้มเติบโตดีในกรุงเทพฯ คือ มินิซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือเรียกอีกอย่างว่า convenience store plus ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างซุปเปอร์มาร์เก็ตและร้านสะดวกซื้อมาไว้ด้วยกัน คงปฎิเสธไม่ได้ว่า การเติบโตของชุมชนที่อยู่อาศัยเกิดใหม่ที่หนาแน่นขึ้น โดยเฉพาะครอบครัวขนาดเล็ก เป็นปัจจัยขับเคลื่อนการขยายตัวของ grocery store ขนาดเล็ก ซึ่งพฤติกรรมในการซื้อสินค้าจะมีความถี่ขึ้น แต่ไม่เน้นปริมาณ ต้องการความสะดวกรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน ผู้บริโภคยังมีความต้องการสินค้าสดใหม่ หลากหลายประเภท ดังนั้น grocery store ลูกผสมในลักษณะนี้จึงน่าจะตอบโจทย์ได้ดีทั้งในแง่ความสะดวกรวดเร็ว และความหลากหลายสดใหม่ของสินค้า แต่จะให้ตอบสนองความต้องการได้ดียิ่งกว่านั้น อาจจะต้องดึงเอาจุดขายต่างๆ เช่น เน้นสินค้าอาหารประเภท home meal replacement และสินค้า private label มากขึ้น
compact hypermarket ชานเมืองยังโตได้
อย่างไรก็ตามโมเดลรองอย่าง compact hypermarket น่าจะยังเติบโตได้ดีทั้งในแถบชานเมืองกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในด้านทำเลน้อยกว่า แม้ว่ารูปแบบขนาดเล็กอย่างซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อจะเปิดได้ง่ายกว่าและมีความสะดวกมากกว่า แต่อีกโจทย์สำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ ผู้บริโภคคนไทยส่วนใหญ่ยังมีความอ่อนไหวในเรื่องราคา ทำให้รูปแบบของคอมแพคไฮเปอร์มาร์เก็ตที่ดึงเอาจุดเด่นของไฮเปอร์มาร์เก็ตและซุปเปอร์มาร์เก็ตมาไว้ด้วยกันยังมีความน่าสนใจ เนื่องจากตอบสนองความต้องการได้ทั้งผู้บริโภคที่ต้องการซื้อสินค้าในปริมาณมากที่ราคาประหยัด รวมถึงผู้บริโภคที่ซื้อในยามของขาดที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วได้อีกด้วย
แม้ว่า grocery store ของไทยจะขยายตัวเร็ว โดยในช่วง 2 -3 ปีที่ผ่านมามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะร้านสะดวกซื้อ ซึ่งขยายตัวโดยเฉลี่ยประมาณปีละ 400 สาขา แต่เมื่อประเมินเทียบกับความหนาแน่นของประชากรแล้ว ยังไม่น่าถึงจุดอิ่มตัว เพราะยังมี room ของการขยายสาขาของ grocery store ขนาดเล็กได้อีกมาก
ฉะนั้น ประเด็นที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญมากกว่า คือการปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับทำเลและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงเลือกสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของตลาด เช่น ผลิตภัณฑ์ organic อาหารสุขภาพ ซึ่งเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยมีการเปิดเป็นร้านประเภท specialty grocery มากขึ้น แต่เนื่องจากร้านประเภทนี้มีข้อจำกัดทั้งในแง่ของความหลากหลายของสินค้าที่มีไม่มาก สินค้ามีราคาสูง ทำให้เจาะกลุ่มลูกค้าได้เพียงกลุ่มตลาดกลาง-บน ทำเลที่ตั้งของร้านจึงค่อนข้างจำกัด ควรไปตั้งอยู่ในแถบที่อยู่อาศัยที่มีกำลังซื้อสูงและต้องสะดวกในการใช้บริการ อีกทางเลือกหนึ่งคือการเน้นใช้กลยุทธ์ในการเพิ่มซุ้มสินค้า specialty product ใน grocery store ดังเช่นในหลายๆประเทศที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมาก