เรื่อง : วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
คงต้องยอมรับว่ากระแส K-Pop ที่รุกคืบไปยังประเทศต่างๆ รวมถึงบ้านเรา แม้จะผ่านไปกว่า 10 ปีแล้ว จนถึงขณะนี้ก็ยังมาแรงเสมอต้นเสมอปลาย การเสพความบันเทิงจากซีรีส์เกาหลี คลั่งไคล้นักร้องบอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป และขวนขวายหาซื้อเครื่องสำอางเกาหลีมาใช้ แลดูเป็นเรื่องปกติมาก ลามไปถึงอาหารการกิน ที่ร้านอาหารเกาหลีผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด เอ่ยเมนูไหนมา ก็ดูเหมือนจะคุ้นเคยกันดี จึงไม่แปลกเมื่อแฟรนไชส์ร้านไก่ทอด BonChon Chicken สัญชาติเกาหลีเข้ามาเปิดสาขาในไทย จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี จะเห็นว่าบางสาขามีลูกค้ารอคิวยาวเหยียดกันเลยทีเดียว
จากร้านไก่ทอดร้านเล็กๆ ในเมืองปูซาน BonChon Chicken เติบโตกลายเป็นแบรนด์อินเตอร์ที่ขยายเกือบ 300 สาขาในกว่า 10 ประเทศ รวมถึง สหรัฐฯ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ และกำลังจะเปิดบริการในเวียดนาม บาห์เรน และบรูไน เร็วๆ นี้ ความสำเร็จของไก่ทอดบอนชอนเกิดจากวิสัยทัศน์และความมานะของชายเกา
หลีผู้มีชื่อว่า จินดุ๊กเซ เด็กหนุ่มจากท้องทุ่งชนบทที่ในวัยเด็กมีความฝันอยากมีวัวสัก 100 ตัวในครอบครอง แต่โตมา กลับเปลี่ยนใจคิดทำธุรกิจ
จินดุ๊กเซสร้างธุรกิจครั้งแรกเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เริ่มด้วยร้านกาแฟ ซึ่งประสบความสำเร็จด้วยดี จึงขยับขยายไปทำร้านอาหารชื่อ Oxtail Soup และร้านไก่ย่างสไตล์เกาหลี จนสามารถเปิดร้านไก่ย่างได้ 3 สาขา แต่พอเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่เมื่อปี 2540 ทำให้ต้องปิดร้านไป 2 สาขา จินดุ๊กเซแทบหมดแรงกายแรงใจ แต่เขาหายอมแพ้ไม่ วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตเพราะมันทำให้เขาต้องคิดหาสินค้าใหม่มานำเสนอเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ สิ่งที่เขาสนใจคือ “ไก่ทอด” เนื่องจากมองว่าเป็นอาหารที่ได้รับความนิยมไม่เฉพาะในเกาหลี แต่ยังเป็นเมนูสากลที่รับประทานง่ายเมนูหนึ่ง
เขาศึกษาและคิดค้นสูตรไก่ทอดเพื่อให้แตกต่างจากสูตรทั่วไป กระทั่งลงเอยที่เทคนิคการทอดแบบพิเศษไม่เหมือนใคร นั่นคือ ทอดซ้ำ 2 ครั้ง ทำให้ไขมันใต้หนังไก่ถูกรีดออกไป เมื่อทอดออกมาแล้วจะได้ไก่ทอดรสชาติดี หนังบางกรอบ และเนื้อนุ่มชุ่มชื่นไม่กระด้าง ครั้นมั่นใจในสูตร เขาก็ตัดสินใจเปิดร้าน BonChon Chicken ครั้งแรกเมื่อปี 2545 ที่เมืองปูซาน ผลคือมีการบอกกันปากต่อปากถึงความกรอบสะท้านทรวงของไก่ทอดบอนชอน ไม่นานจากร้านเดียวก็ขยายไป 20 สาขาทั่วเกาหลี
หนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้ในการผลักดันธุรกิจให้เติบโตคือการขายแฟรนไชส์ แต่ธุรกิจแฟรนไชส์ในเกาหลีไม่รุ่งเรืองเฟื่องฟูนัก จินดุ๊กเซจึงเล็งไปที่ตลาดต่างประเทศมากกว่า หลังจากเปิดร้าน BonChon Chickenได้ 4 ปี ตลาดนอกบ้านตลาดแรกที่ไปเปิดสาขาคือ สหรัฐฯ โดยชิมลางที่เมืองลีโอเนีย รัฐนิวเจอร์ซีย์ก่อน หลังจากที่ได้รับการตอบรับดี ขนาดมีคนเข้าคิวรอนาน 2 ชั่วโมง เขาก็เปิดสาขาเพิ่มที่นิวยอร์ก เมื่อสื่อใหญ่อย่างนิวยอร์ก ไทมส์ และซีเอ็นเอ็นวิจารณ์ร้านในทางที่ดี กระแสไก่ทอดบอนชอนจึงแพร่หลายอย่างรวดเร็วไปยังรัฐอื่นๆ
โดยส่วนใหญ่ คนจะรู้จักBonChon Chicken จากสาขาในสหรัฐฯ ด้วยเหตุนี้ บริษัทบอนชอน อิงค์ จึงตั้งสำนักงานใหญ่ที่นิวยอร์กเพื่อดูแลเรื่องแฟรนไชส์ จากร้านไก่ทอดโนเนมในเกาหลี ได้โกอินเตอร์ไปหลายประเทศ มีคนตั้งคำถามว่าจินดุ๊กเซมีเป้าหมายที่ตลาดจีนด้วยหรือไม่ “ผมมีแผนขยายไปจีนแน่นอนเพราะจีนเป็นประเทศที่มีการบริโภคไก่มากที่สุดในโลก จึงเป็นตลาดที่มีแนวโน้มสดใสมาก แต่เราจะรุกเข้าจีนก็ต่อเมื่อได้ทำการศึกษาตลาด พฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างถ้วนถี่แล้วเท่านั้น” ประธานและซีอีโอบอนชอน อิงค์ ยังตั้งเป้าอีก 3 ปีข้างหน้า ร้านไก่ทอดของเขาจะขยายให้ถึง 600 สาขาใน 28 ประเทศ
บอนชอน ชิกเก้นไม่ได้ขายแค่เมนูไก่ แต่ยังมีอาหารเกาหลีบริการ เช่น ข้าวหน้าหมูบูลโกกิ ต๊อกโปกิ อุด้งผัดกิมจิ สลัดสาหร่าย เกี๊ยวซ่า และซุปต่างๆ หากจะพูดถึงความสำเร็จของไก่บอนชอน ต้องยกให้ในความมานะอดทนของจินดุ๊กเซผู้ยึดหลักแม้จะล้มลุกคลุกคลานแค่ไหนก็ไม่ยอมแพ้ ความล้มเหลวที่เคยประสบจะกลายเป็นบทเรียนและประสบการณ์อันมีค่า ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น สิ่งที่ต้องทำคือการฝ่าฟันอุปสรรคและเดินหน้าต่อไปโดยไม่วอกแวก ส่วนปัจจัยอื่นที่ทำให้BonChon Chickenเป็นที่รู้จัก น่าจะมาจาก
• Unique Product : สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้กับไก่บอนชอนเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น คือ ความกรอบแบบ Super Crispy ที่ยากจะเลียนแบบ ประกอบกับการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูง และรสชาติถูกใจผู้บริโภค จึงไม่แปลกที่จะเคยได้รับการโหวตจากนิตยสารบางเล่มว่าเป็น “The Perfect and Best Chicken” ที่สำคัญการควบคุมคุณภาพยังทำได้ดี ตัวซอสจิ้มกับไก่ จะมาจากโรงงานของบริษัทซึ่งอยู่ในเกาหลี ไม่ว่ารับประทานที่ประเทศไหน ก็จะได้รสชาติเดียวกัน
• SWOT Analysis : การรู้จุดแข็ง จุดอ่อน และศึกษาโอกาสทางธุรกิจเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ผู้บริหารเมื่อรู้ว่าตลาดไก่ทอดในเกาหลีโตช้าเพราะความอิ่มตัว ก็มองหาตลาดอื่นรองรับ โดยเน้นที่ตลาดต่างประเทศเป็นหลัก แต่ไม่ได้ผลีผลามขยายแบบก้าวกระโดด ทุกครั้งที่มองทำเลใหม่ ต้องศึกษาและทำความเข้าใจตลาดก่อนเสมอ
• Brand Awareness : การสร้างความรับรู้ในแบรนด์ นอกจากการบอกกันปากต่อปากที่ได้ผลดีมาแต่ไหนแต่ไร แต่ในยุคนี้ สิ่งที่พลาดไม่ได้คือ การใช้โซเซียลมีเดียเป็นสื่อกลาง แม้ไก่บอนชอนจะมีลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย แต่กลุ่มที่ทรงอิทธิพลสุดคือ กลุ่มมิลเลนเนียลส์ (วัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา) และกลุ่มยัปปี้หรือเจนวายที่เป็นวัยหนุ่มสาว วัยทำงาน กลุ่มนี้เสพติดสมาร์ตโฟนและมักเช็กอินหรือโชว์เมนูไก่บอนชอนผ่านโซเชียลมีเดียเสมอ
• Franchising : ระบบแฟรนไชส์ถือเป็นเครื่องมือที่มีอานุภาพในการทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว ระบบนี้เอื้อให้ผู้อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเองไม่ต้องลงทุนมาก ขณะที่เจ้าของแฟรนไชส์เองก็เหมือนมีแขนขามาช่วยบริหารธุรกิจให้ เป็นการเติบโตโดยยืมมือคนอื่นลงทุน แต่ผลลัพธ์คือวิน-วิน สมประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย
อาจเป็นเรื่องยากที่จะคาดเดาว่า กระแสเกาหลีฟีเว่อร์จะจางลงเมื่อไร แต่ที่แน่ๆ วัฒนธรรมการกินแบบเกาหลีคงไม่หายไปง่ายๆ ไก่ทอดบอนชอนก็เช่นกัน ตราบใดที่ยังได้รับการตอบรับดี เชื่อว่าการขยายสาขามีแต่จะเพิ่มไม่ลดลง
อ้างอิงข้อมูล : www.theazine.com, www.entrepreneur.com
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)