เรื่อง ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์
ธนาคารกลางจีน (People’s Bank of China: PBOC) ประกาศลดค่าเงินหยวนอ้างอิงรายวันให้อ่อนลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นวันที่ 8 โดยระหว่างวันที่ 4-7 มกราคม ค่าเงินหยวนอ้างอิงได้ถูกปรับลงแล้วกว่า 1.1% เมื่อเทียบกับช่วงปลายปี 2015 ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมที่ PBOC มีการประกาศเปลี่ยนแปลงการกำหนดค่าเงินหยวนอ้างอิงรายวันให้สะท้อนทิศทางของตลาดมากขึ้น
ทั้งนี้ เงินหยวนที่อ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วได้สร้างความกังวลเพิ่มเติมต่อเศรษฐกิจจีน ประกอบกับข้อมูลภาคการผลิตที่ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ และการเทขายหุ้นจากนักลงทุนก่อนถึงครบกำหนดระยะเวลาห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนซื้อขายหุ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนซึ่งจะหมดลงในวันศุกร์นี้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นจีนหดตัวลงแล้วราว 12% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนปีใหม่และได้มีการปิดการซื้อขายชั่วคราว (circuit break) ลงแล้วถึง 2 ครั้ง
เงินหยวนจะยังคงมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จาก 1) การเข้าไปอยู่ในตะกร้าสกุลเงิน SDRs (Special Drawing Rights) ของ IMF ทำให้เงินหยวนจำเป็นต้องเคลื่อนไหวไปตามทิศทางของตลาดมากขึ้น 2) การเปลี่ยนการอ้างอิงค่าเงินหยวนของ PBOC ให้ขึ้นอยู่กับตะกร้าสกุลเงินแทนที่จะผูกอยู่กับดอลลาร์สหรัฐฯ เพียงอย่างเดียว โดยการเปลี่ยนให้เงินหยวนมาขึ้นอยู่กับตะกร้าสกุลเงินอีก 12 สกุลที่มีทิศทางอ่อนค่าลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ จะทำให้เงินหยวนอ่อนลงตามไปด้วย
และ 3) ค่าเงินหยวนที่ซื้อขายกันนอกประเทศ (CNH) ได้อ่อนตัวลงเร็วกว่าเงินหยวนในประเทศ (CNY) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความต้องการเงินหยวนของต่างชาติที่ลดลง ทำให้ส่วนต่างระหว่าง CNH และ CNY กว้างขึ้นต่อเนื่อง ทั้งนี้ PBOC มีโอกาสปล่อยให้เงินหยวนอ่อนค่าลงต่อไปอีก โดยไม่มีแรงจูงใจในการแทรกแซงค่าเงินมากดังเช่นในอดีต ซึ่งจะช่วยรักษาระดับทุนสำรองระหว่างประเทศของจีน หลังจากล่าสุดทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนในเดือนธันวาคมลดลงกว่า 108.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากสุดเป็นประวัติการณ์
การทำให้เงินหยวนอ่อนค่าลงช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกจีน การส่งออกของจีนในช่วง 11 เดือนแรกของปีนี้หดตัวลงแล้วกว่า 3%YOY ทั้งนี้ ดัชนีค่าเงินหยวน (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) เมื่อเทียบกับตะกร้าของค่าเงินอื่นๆ ซึ่งคำนวณโดย Bank for International Settlement (BIS) ได้แข็งค่าขึ้นเมื่อช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มาอยู่ในระดับที่มากกว่า 125 ซึ่งเป็นระดับที่ IMF ชี้ว่าไม่อ่อนค่าจนเกินไปแล้ว อีไอซีจึงมองว่า PBOC ได้เข้าไปลดค่าเงินลงเพื่อให้ NEER กลับมาอยู่ในระดับราว 125 อีกครั้ง
ยังมีความกังวลต่อสภาวะเศรษฐกิจจีน แต่โอกาสที่จะเกิด hard-landing ยังมีน้อย เศรษฐกิจจีนยังคงมีทิศทางชะลอตัวลงในปี 2016 จากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ชะลอลง แต่ภาคบริการของจีนกลับยังสามารถขยายตัวได้ในระดับสูง โดยล่าสุด ภาคการบริการของจีนมีสัดส่วนต่อ GDP ที่เพิ่มขึ้นและยังสามารถขยายตัวได้ดีในอัตราสูงกว่า 10% ซึ่งภาคการบริการจะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับเศรษฐกิจจีนต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ PBOC ยังมีมาตรการผ่อนคลายทางการเงินอยู่เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจจีนเกิด hard-landing
ในระยะสั้นตลาดเงินและตลาดทุนของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียมีความผันผวนมากขึ้น ความวิตกที่เกิดขึ้นต่อตลาดหุ้นจีนทำให้ความเชื่อมั่นต่อการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินภูมิภาคเอเชียลดลง ในระยะสั้นจึงอาจเกิดการเทขายหุ้นจีนทั้งจากแรงกดดันจากการอ่อนค่าลงของเงินหยวนซึ่งกดดันต่อการไหลออกของเงินลงทุนต่างชาติ ประกอบกับมาตรการการห้ามผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนซื้อขายหุ้นเป็นระยะเวลา 6 เดือนซึ่งจะหมดลงในวันศุกร์นี้ยังมีความคลุมเครือในการดำเนินนโยบายเพื่อบรรเทาการเทขาย
การอ่อนค่าของเงินหยวนเป็นปัจจัยกดดันต่อการอ่อนค่าของเงินในภูมิภาค โดยอีไอซียังคงประประมาณการค่าเงินบาทไว้ที่ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2016 ไทยมีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยมีทุนสำรองต่อหนี้ต่างประเทศระยะสั้นสูงและมีหนี้ต่างประเทศโดยรวมต่ำ ประกอบกับดุลการค้าที่มีแนวโน้มฟื้นตัว อีกทั้งการถือครองตราสารหนี้โดยเฉพาะตราสารหนี้ระยะสั้นของนักลงทุนต่างชาติอยู่ในระดับต่ำ อีไอซีจึงมองว่าความเสี่ยงต่อการไหลออกของเงินทุนของนักลงทุนต่างชาติมีไม่มากนัก อย่างไรก็ตาม ในระยะสั้นเงินบาทอาจมีความผันผวนมากกว่าเงินหยวนได้ เนื่องจากเงินหยวนยังมี PBOC คอยพยุงอยู่
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อความสำเร็จของธุรกิจเอสเอ็มอี (SME)