TEXT : Sir.mim
เดี๋ยวนี้มีเทรนด์อะไรใหม่ๆ เกี่ยวกับคนทำงานเกิดขึ้นมากมาย ผู้ประกอบการอย่างเราต้องรู้เอาไว้บ้าง
อย่างเช่นคำว่า “Quiet Quitting” หรือ “การลาออกเงียบ” ที่มีการพูดถึงกันมากเมื่อช่วง 2 ปีก่อน หมายถึงการที่พนักงานทำงานตามหน้าที่ในขั้นต่ำ ทำเท่าที่ต้องทำ ไม่เอาภาระอื่น ไม่คิดทุ่มเท หรือมีใจรักในงานและองค์กรเลย ซึ่งก็ไม่ต่างอะไรกับคนที่ลาออกไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีการลาออกจริงๆ เท่านั้น แต่เหมือนอยู่ไปวันๆ
ล่าสุด เมื่อเร็วๆ นี้ มีเหตุการณ์คล้ายกันนี้เกิดขึ้นอีกครั้งในประเทศจีน เมื่อคนรุ่นใหม่ หรือ คน Gen Z ต่างหันมาแต่งตัวไปทำงานด้วยชุดที่เหมาะสม เช่น การสวมชุดที่ดูคล้ายชุดนอนมาทำงาน, การแต่งกายด้วยชุดเวอร์วัง อย่างเสื้อคลุมขนสัตว์ที่ดูรุ่มร่าม หรือรองเท้าแตะขนนุ่ม เป็นต้น โดยพวกเขามองว่าไม่ได้ทำผิดกฎระเบียบอะไร แค่อยากแสดงออกเชิงสัญญาลักษณ์เฉยๆ
แฮชแท็ก #grossoutfitsatwork พุ่งเต็มโซเชียล
โดยกระแสดังกล่าวเกิดเป็นไวรัลขึ้นมา จนติดเทรนด์แฮชแท็กอยู่ในช่องทางโซเชียลมีเดียของจีนที่ชื่อว่า “Douyin” (โต่วอิน) ที่เปรียบเหมือนติ๊กต๊อกเวอร์ชั่นภาษาจีน และ Xiaohongshu แอปที่ทำหน้าที่คล้ายกับอินสตาแกรมว่า #grossoutfitsatwork หรือ #เสื้อผ้าห่วยสุดในที่ทำงาน พร้อมกับถ่ายคลิปวิดีโอ หรือรูปภาพเพื่ออวดชุดทำงานในแต่ละวัน โดยบางโพสต์ถูกแชร์ไปมากกว่า 1.4 ล้านครั้งทีเดียว
โดยมีผู้เชี่ยวชาญออกมาวิเคราะห์ว่า วิธีการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการขบถในวงกว้างของคนหนุ่มสาวชาวจีนอย่างเงียบๆ ที่ต้องการต่อต้านความเข้มงวดของสถานที่ทำงาน และชั่วโมงการทำงานอันเหน็ดเหนื่อยเกินไป ที่ต้องทำเพื่อให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ใช่เรื่องง่ายของการเปลี่ยนชุดทำงานที่สมาร์ท ไปสู่ชุดลำลอง แต่จากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อครั้งใหญ่ที่ผ่านมา หลายคนต้องทำงานอยู่บ้าน ชุดทำงานกับชุดอยู่บ้านเป็นชุดเดียวกัน จึงทำให้เริ่มเกิดความเคยชินและหลุดจากกรอบขึ้นมาบ้าง
ไม่ทำผิดกฎ แต่แค่อยากแสดงออก
ในขณะที่ผู้แต่งกายบางคนได้ออกมาโพสต์ให้เหตุผลต่างๆ นานา หลังถูกเรียกไปตักเตือนว่า “ฉันแค่คิดว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะใช้จ่ายเงินเพื่อแต่งตัวไปทำงาน เพราะว่าฉันก็นั่งอยู่แค่ตรงนั้น”, “ฉันรู้สึกดีที่ได้สวมเสื้อสเวตเตอร์ขนปุยไปทำงาน เพราะเมื่อกลับถึงบ้าน ก็สามารถตรงไปเข้านอนได้ทันที” หรือ “การใส่ถุงเท้ายาวๆ คือ การสร้างจุดเด่นของฉัน เพราะเมื่อร้อน คุณก็สามารถม้วนถุงเท้าลง เพื่อทำให้เย็นลงได้ และเมื่ออากาศหนาว ก็สามารถดึงขึ้น เพื่อให้ความอบอุ่นได้เช่นกัน”
ซึ่งแน่นอนพวกเขามองว่าสิ่งที่ทำนี้ ไม่ได้ผิดกฎระเบียบร้ายแรงอะไรของบริษัท เพียงแต่ต้องการแสดงออกบางอย่างเท่านั้น ในเมื่อบริษัทเองยังไม่ใส่ใจในสวัสดิภาพที่ดีของพนักงาน ก็ไม่ผิดอะไรที่พวกเขาจะไม่สนใจหน้าตาของบริษัทบ้าง
มีการว่ากันว่าการที่คนทำงานในจีนเริ่มออกมาแต่งกายตามเทรนด์ดังกล่าวนั้น เป็นการตอกย้ำของแนวคิดที่เรียกว่า "ถ่าง ผิง" หรือ "นอนราบ" ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อปี 2021 โดยเริ่มต้นขึ้นจากมีผู้ใช้งานคนหนึ่งใน Tieba (เทียปะ) แพลตฟอร์มที่ให้คนทำงานมาแสดงความคิดเห็นเรื่องต่างๆ ได้โพสต์ว่า "นอนราบ คือ การเคลื่อนไหวที่ฉลาดที่สุดของฉัน" แสดงถึงความรู้สึกอ่อนล้าจากวัฒนธรรมการทำงานหนัก แต่กลับไม่ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า ซึ่งวิธีปลอมประโลมใจตัวเองที่ดีที่สุด ก็คือ การนอนราบอยู่เฉยๆ กับพื้น พยายามขยับเขยื้อนตัวให้น้อยที่สุด เพื่อไม่ให้เหนื่อยล้าเกินไป
ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือ สิทธิเสรีภาพ
สำหรับเทรนด์ #grossoutfitsatwork ที่เกิดขึ้นนี้ หลายคนต่างออกมาแสดงความคิดว่า จริงๆ แล้วการแต่งกาย คือ สิทธิส่วนบุคคลที่พึงมี หากไม่ได้มีการทำงานผิดพลาด หรือทำความผิดร้ายแรงอะไร ก็ควรปล่อยให้เป็นสิทธิของแต่ละคนไป
เช่น Susan Scafidi ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของ Fashion Law Institute ที่มหาวิทยาลัย Fordham ได้กล่าวว่า
“การแต่งกายสมัยใหม่ จะต้องคำนึงถึงความเป็นอิสระแบบใหม่ของพนักงาน ความเข้าใจที่เปลี่ยนแปลงในเรื่องเพศ การพัฒนาทางกฎหมายที่ต้องปรับเปลี่ยน และรวมถึงข้อกำหนดของที่ทำงานต่างๆ ด้วย”
เช่นเดียวกับหลายประเทศในตอนนี้ เริ่มลดความเข้มงวดการแต่งกายในที่ทำงานลง เช่น สหรัฐอเมริกา ที่ไม่จำเป็นต้องผูกเนคไทเสมอไป เวลาทำงาน ไม่ใช่เฉพาะแค่บริษัทเอกชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงในวุฒิสภาพสหรัฐอเมริกาเองด้วยที่เริ่มมีการผ่อนคลายลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
และนี่คือ อีกหนึ่งเทรนด์ล่าสุดของคนทำงานที่เกิดขึ้นในตอนนี้ อ่านแล้วคิดเห็นกันอย่างไร มาบอกเล่าให้ฟังกันบ้าง
ที่มา : https://www.businessinsider.com/china-gen-z-wear-gross-outfits-to-work-viral-trend-2024-4
https://www.bbc.com/thai/international-57355294
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี