เรื่อง กรรณิการ์ สิทธิชัย
Consulting Partner สลิงชอท กรุ๊ป
“สุขกันเถอะเรา...เศร้าไปทำไม อย่ามัวอาลัยคิดร้อนใจไปเปล่า...”
เปิดด้วยเพลงที่คุ้นหูกันเป็นอย่างดี เหตุที่นึกถึงเพลงนี้เพราะเทรนด์เรื่องการดูแลตัวเอง ดูแลสุขภาพมาแรงมาก หลายคนหันมาเปลี่ยนการรับประทานอาหารเป็นแบบชีวจิต แบบคลีนฟู้ด (Clean) แบบรอว์ฟู้ด (Raw) หลายคนหันมาออกกำลังกายตามเทรนด์ไม่ว่าจะเป็นการเข้ายิม ต่อยมวย ปีนผา หรือการออกกำลังกายยอดนิยมแบบ T25 แต่ทั้งหมดก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้เรามีความสุข มีชีวิตที่สมบูรณ์ทั้งชีวิตงานและชีวิตส่วนตัวได้ หากขาดการดูแล “สุขภาพอารมณ์” ไปด้วยในขณะเดียวกัน
Daniel Goleman นักจิตวิทยาชื่อดังผู้เขียนหนังสือเรื่อง “Emotional Intelligence : Why It Can Matter More Than IQ” ได้เขย่าแวดวงธุรกิจ กระตุ้นให้องค์กรหลายแห่งหันมาสนใจ ด้วยผลงานวิจัยที่บอกว่า ความฉลาดทางสติปัญญา หรือ IQ (Intelligence Quotient) ไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้คนประสบความสำเร็จ หากแต่เป็นความฉลาดทางอารมณ์ คือ EQ (Emotion Quotient) หรือในยุคปัจจุบันเรียกว่า EI (Emotional Intelligence) รวมกับทักษะทางเทคนิคในการทำงานต่างหากที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จได้ นอกจากนี้ มีการพิสูจน์แล้วว่าบุคคลยิ่งมีตำแหน่งสูงขึ้นในองค์กร ความสำคัญของความฉลาดทางอารมณ์ยิ่งเพิ่มขึ้นตามความสูงของตำแหน่งไปด้วย เพราะการมีทักษะและความเข้าใจทางอารมณ์ของผู้นำ จะช่วยเป็นตัวขับเคลื่อนความคิดและการตัดสินใจตลอดจนการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น
ขอยกตัวอย่างอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ สัก 2-3 ท่าน ให้ท่านเห็นภาพว่า EQ สูงหรือต่ำนั้นมีผลอย่างไรต่อผู้นำ-ประธานาธิบดีไอเซนฮาวร์ มี EQ ค่อนข้างสูง บุคลิกความเป็นผู้นำโดดเด่นมาก สามารถบังคับบัญชาให้บุคลากรทำงานเป็นทีมได้อย่างดี และประธานาธิบดีบุช (พ่อ) ก็มี EQ ค่อนข้างสูงเช่นกัน โดยมีจุดเด่น คือ เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อบุคคลอื่น สุภาพเรียบร้อย และสามารถควบคุมอารมณ์ตนเองได้ดี ในขณะที่ ประธานาธิบดีนิกสัน แม้มี IQ สูง มีความเฉลียวฉลาดเป็นอย่างมากในด้านยุทธศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ แต่กลับล้มเหลวต้องลาออกจากตำแหน่งจากกรณีอื้อฉาวคดีวอเตอร์เกตด้วยจุดอ่อนสำคัญ คือ มี EQ ค่อนข้างต่ำ ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเองได้ มักโกรธ วิตกกังวล และหวาดระแวงบุคคลรอบข้าง
ในเมืองไทยเอง จากประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉันที่มีโอกาสเข้าไปเก็บข้อมูลของผู้นำ เกือบทุกระดับในองค์กร โดยการรวบรวมข้อมูลแบบ 360 องศา คือ สอบถามทั้งหัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน และลูกน้อง ได้ข้อสังเกตว่า ผู้นำจำนวนมากขาดการดูแลสุขภาพอารมณ์ตนเอง คือ ขาดการควบคุมอารมณ์ มักแสดงสีหน้าท่าทางในแง่ลบ ใช้น้ำเสียงแข็งกร้าว ดุดัน รวมทั้งมักใช้คำพูดทำร้ายจิตใจผู้อื่นอย่างแสบเข้าไปถึงทรวง บางคนแสดงออกรุนแรงจนเป็นที่โจษขานไปทั่ว ลูกน้องเข็ดขยาดขนาดที่หากต้องเข้าไปพบหัวหน้าละก็...เลี่ยงได้เป็นเลี่ยง หลบได้เป็นหลบ เพราะไม่อยากโดนลูกหลงอารมณ์ที่ขึ้นๆ ลงๆ ผู้นำกลุ่มนี้ แม้จะผลักดันงานให้ได้ผล แต่คนมักเป็นทุกข์ค่ะ
มีงานวิจัยมากมายที่แสดงให้เห็นว่า “ผู้ที่มีความเก่งในการทำงาน แต่ล้มเหลวในการทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งล้มเหลวในเรื่องชีวิตของตนเอง” แม้ผู้นำกลุ่มนี้หลายคนประสบความสำเร็จในชีวิต แต่กลับไม่มีเพื่อนฝูงเลยสักคน อีกทั้งยังได้ของแถมเป็นโรคภัยติดตัวจำพวกความดัน โรคหัวใจ โรคกระเพาะ โรคซึมเศร้า บางงานวิจัยบอกว่า คนที่มักมีอารมณ์เป็นพิษมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าคนทั่วไปอีกด้วย รู้แบบนี้แล้วท่านที่ชอบเหวี่ยงวีนลูกน้องคงเริ่มกังวลกันไม่น้อย
ก่อนอื่นมาเช็กกันสักนิดว่าท่านเข้าข่ายผู้นำที่มี EQ สูงหรือต่ำ
หากท่านอยู่ในเกณฑ์ของฝั่งขวาเสียมาก ก็ไม่ต้องกังวลไปค่ะ เพราะ EQ สามารถพัฒนาได้ตลอดชีวิตของทุกคน เมื่อใดก็ตามที่นำ EQ มาประยุกต์ใช้เข้ากับความเป็นผู้มีวุฒิภาวะแล้ว บุคคลนั้นจะเป็นผู้ที่มีภาวะแห่งการนำได้อย่างดีเยี่ยม หรือที่เราเรียกว่า “ภาวะผู้นำ”
Daniel Goleman แบ่งความฉลาดทางอารมณ์ไว้ 4 ด้าน ดิฉันจึงขอนำแบบฝึกหัดเล็กๆ มาฝากให้ลองฝึกพัฒนากันแต่ละด้านดูนะคะ
ด้านที่ 1 : ความสามารถในการรับรู้ตนเอง (Self-Awareness)
ภายใน 3 วินาทีนี้ ขอให้ท่านหาคำจำกัดความของอารมณ์ความรู้สึกในตอนนี้ 1...2...3...หมดเวลา! เจอมั้ยคะ? เชื่อมั้ยคะ...มีคนมากกว่า 50% ที่มีความท้าทายในการค้นหา ทั้งนี้เพราะปัจจุบันสิ่งแวดล้อมในการทำงาน ในการใช้ชีวิต ผลักดันให้เราโฟกัสที่สิ่งรอบตัวมากกว่าตัวเราเอง
• ใช้เวลา 2-3 นาทีต่อวันในการเขียนความรู้สึกของท่าน รับรู้อารมณ์นั้นให้ชัดเจนและเชื่อมโยงกับตัวเราให้ได้
• เมื่อใดที่รู้สึกในแง่ลบ ให้ตั้งชื่ออารมณ์ความรู้สึกนั้น เช่น น้อยใจ อิจฉา โกรธ เมื่อท่านตั้งชื่อได้ ก็จะสามารถปล่อยวางได้
ด้านที่ 2 : การจัดการอารมณ์ตนเอง (Self-Management)
• หากได้รับสัญญาณจากตัวเองว่าเริ่มโมโหให้หยุดทันที โดยเริ่มเปลี่ยนท่าทางภาษากายและคิดหาเหตุผลว่าสาเหตุที่กำลังโมโหอยู่นี้คืออะไร สมองทำงานเหมือนเครื่องเล่นไม้กระดก อารมณ์และเหตุผลใช้สมองคนละส่วนในการควบคุม อีกทั้งยังทำงานได้ทีละส่วน เมื่อท่านคิดหาเหตุผล สมองส่วนอารมณ์ความรู้สึกก็จะหยุดทำงาน
• หาโอกาสหยุดพักทุก 90 นาที เพราะสมองต้องการพัก การทำงานมักเน้นใช้แต่สมองซีกซ้าย (คิด วิเคราะห์ คำนวณ เหตุผล) มากกว่า ควรหยุดพักมาใช้สมองซีกขวาบ้างสัก 5-10 นาที พูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน ฟังเพลง เดินไปมองวิวที่หน้าต่าง หากท่านพักบ้าง เมื่อกลับไปใช้สมองซีกซ้ายจะทำให้งานเสร็จได้เร็วกว่าและได้ประสิทธิภาพมากกว่า
ด้านที่ 3 : การรับรู้ทางสังคม (Social-Awareness)
• เบาะแสสำคัญในการเข้าใจผู้อื่น คือ ต้องให้ความสำคัญหมั่นสังเกตภาษากายและน้ำเสียง เมื่อท่านเข้าประชุมลองสังเกตสีหน้าท่าทาง และน้ำเสียงที่ลูกน้องใช้ด้วย อย่าเพียงฟังแต่สิ่งที่เขาพูด ความท้าทาย คือ ลองหันมาสังเกตคนที่ไม่ได้พูดดูบ้างสิคะ
• เมื่อสนทนากับใครอยู่นั้น ให้ใช้ภาษากายแบบเปิด แสดงความสนใจผู้ที่อยู่ตรงหน้าท่านอย่าง 100% ว่าพร้อมที่จะฟังเขาอย่างเข้าใจจริงๆ
• ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา จินตนาการดูว่า การตัดสินใจของท่านจะมีผลกระทบกับเขาอย่างไร หากเข้าใจว่า เขาจะรู้สึกอย่างไร ท่านจะตัดสินใจได้ดีขึ้น
ด้านที่ 4 : การจัดการสัมพันธภาพ (Relationship Management)
• คนทุกคนต้องการรู้สึกเป็นคนสำคัญ จึงควรหมั่นทักทายเอาใจใส่ผู้อื่นอยู่เสมอ
• ในฐานะผู้นำท่านต้องเข้าใจลูกน้องแต่ละคนว่าอะไรคือแรงจูงใจในการทำงานของเขา และนำมาเป็นแรงกระตุ้น เพื่อให้เขาทำงานไปในทิศทางเดียวกับเป้าหมายขององค์กร
• จงเป็นแบบอย่างที่ดี เพราะคนไม่ทำตามที่ท่านพูด แต่จะทำตามสิ่งที่ท่านทำ
หากผู้นำมี EQ ที่ดี และมีความสุข ก็จะเป็นแบบอย่างให้คนรอบข้าง ต่อมความสุขในองค์กรก็จะเติบโต เกิดวัฒนธรรมที่น่ารื่นรมย์ในการทำงาน พนักงานรักองค์กรและอยากมาทำงาน อยากมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร...อุเหม่! ชีวิตรื่นรมย์จริงๆ ขอบ๊ายบายด้วยท่อนฮุกเพลงเดิมนะคะ
“เชิญสำราญร่วมเบิกบานดวงใจ ลืมทุกข์ไปทำให้ใจเริงรื่น...”
• บทความจากวารสาร K SME Inspired เล่ม 33
www.smethailandclub.com ศูนย์รวมข้อมูลเพื่อธุรกิจ SME (เอสเอ็มอี)