TEXT : วันวิสา งามแสงชัยกิจ
Main Idea
- บอกได้ไหมว่าตอนนี้ธุรกิจของคุณมีสภาพเป็นอย่างไร? อะไรที่ทำแล้วปัง ควรไปต่อ? หรืออะไรที่ควรพอและหยุดเพียงแค่นี้?
- ถ้ายังไม่รู้ว่าจะประเมินและทำให้เห็นภาพได้อย่างไร ลองใช้ “Starfish Retrospective” หรือ “ปลาดาวรำลึก” เทคนิคบริหารจัดการธุรกิจด้วยการพินิจย้อนหลังถึงสิ่งต่างๆ ที่เคยทำมา
- ด้วย “แฉกทั้ง 5 แห่งปลาดาว” จะช่วยหาให้เจอว่า อะไรคือจุดบอด และอะไรคือสิ่งที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้ธุรกิจได้
หลายครั้งที่ทำธุรกิจไปสักพัก รวมถึงโปรเจกต์หรือแคมเปญอะไรสักอย่างแล้วมักรู้สึกตื้อๆ มองปัญหาที่มีไม่เห็น หรือจะเพิ่มจะลดอะไรลงก็นึกไม่ค่อยออก ทำให้การมองย้อนกลับไปเพื่อทบทวนถึงสิ่งที่ทำมา ถูกนำมาใช้เป็นวิธีบริหารจัดการยอดฮิตและขึ้นแท่นความคลาสสิกไปแล้วหลายตัว
หนึ่งในนั้นคือ “Starfish Retrospective” หรือ “ปลาดาวรำลึก” เทคนิคเพิ่มประสิทธิภาพธุรกิจแบบคิดกลับหลัง ซึ่งเป็นผลงานของ Patrick Kua ผู้นำด้านเทคโนโลยี นักเขียน และวิทยากรที่กำเนิดขึ้นในปี 2006
แม้ว่าจะเป็นเทคนิคน้องใหม่ท่ามกลางพี่ใหญ่ที่รู้จักกันดีอย่างแผนผังก้างปลา (Fishbone Diagram) หรือ “Ishikawa Diagram” ที่ตั้งตามชื่อของผู้พัฒนาอย่าง ศาสตราจารย์คาโอรุ อิชิกาว่า แห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่คิดค้นขึ้นเมื่อ 80 ปีที่ผ่านมาก็ตาม แต่ “Starfish Retrospective” เองก็กำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน
หาจุดบอด-สร้างจุดแข็ง ตาม “5 แฉกแห่งปลาดาว”
ขั้นกว่าของการรู้แค่ว่าทำอะไรแล้วดี หรือทำอะไรแล้วไม่ดีต่อธุรกิจ เทคนิคแบบ “ปลาดาวรำลึก” จะพาให้หวนนึกและไตร่ตรองถึงคุณภาพของแต่ละกิจกรรมที่ทำแบบลงลึกมากขึ้น ผ่านการพิจารณาตาม 5 หัวข้อที่เปรียบเสมือนขาหรือแฉกทั้ง 5 ของปลาดาว
1.Stop Doing: อะไรไม่สร้างคุณค่า “หยุดทำ” ซะ
ก่อนอื่นเลยควรกลับมามองว่าอะไรที่ทำแล้วไม่เกิดคุณค่า ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ หรือเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น ทำไปแล้วสร้างแต่ความสูญเปล่า ไม่ว่าจะเป็นด้านต้นทุน ค่าใช้จ่าย หรือทรัพยากรต่างๆ ก็ตามให้หยุดทำสิ่งนั้น เช่น หยุดสั่งงานนอกเวลางาน เพราะไม่เพียงพนักงานจะทำงานได้ไม่เต็มที่ ยังลดประสิทธิภาพการทำงานในระยะยาวได้อีกด้วย
2.Do Less Of: อะไรทำแล้วไม่คุ้มให้ “ลด”
คิดง่ายๆ กิจกรรมหรือการกระทำอะไรที่ทำไปแล้วได้ไม่คุ้มเสียควรลดให้น้อยลง เพราะหากทำในระดับเท่าเดิม แต่ผลที่ได้กลับไม่ดีและไม่คุ้มอย่างที่ควรก็ไม่มีประโยชน์ที่จะต้องฝืนทำ เช่น จัดประชุมยาวไม่เว้นวันแบบจัดหนักจัดเต็ม แถมหัวข้อไม่ชัดเจน จนผู้เข้าร่วมสมองล้า ควรลดวันและเวลาลง พร้อมกำหนดวาระและเป้าหมายให้ชัดเจน
3.Do More Of: อะไรทำแล้วดีก็ “ทำเพิ่ม”
อะไรที่ถ้าทำมากขึ้นแล้วได้ผลดี สร้างคุณค่าให้แก่องค์กร ธุรกิจ หรือลูกค้าควรทำเพิ่มขึ้น เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลเชิงลึกของฝ่ายขายและฝ่ายผลิต เพื่อให้รู้ถึงความต้องการของลูกค้า เห็นปัญหาที่อีกฝ่ายไม่เคยเห็น และทำลาย Silo ที่ต่างทีม ต่างทำงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้มากขึ้น
4.Keep Doing: อะไรดี “ทำต่อ”
กิจกรรมไหนที่สร้างคุณค่าและมีประโยชน์ควรทำต่อไปเหมือนเดิม ไม่ต้องทำเพิ่มหรือทำมากขึ้น เพราะอาจไปลดประสิทธิภาพหรือทำให้การทำงานช้าลงได้ เช่น การโพสต์คอนเทนต์บน Facebook ไม่ควรเกิน 2 ครั้งต่อวัน เพราะหากโพสต์มากหรือถี่กว่านั้นอาจสร้างความรำคาญและเสี่ยงต่อการถูก Unfollow ได้
5.Start Doing: อะไรน่าสนให้ลอง “เริ่มต้น” ทำ
สุดท้ายพลาดไม่ได้กับการมองหาไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ซึ่งหลังจากทบทวนจากประสบการณ์และสิ่งที่ทำผ่านมาแล้ว อาจทำให้มองเห็นช่องว่าง โอกาส หรือความท้าทายอะไรใหม่ๆ ที่น่าลองทำดู เช่น จากการเห็นลูกค้า Feedback มาเยอะว่าอยากให้เพิ่มรสชาติใหม่ๆ ลองหยิบมาใช้เป็นจุดตั้งต้นพัฒนาโปรดักต์ดู
ทั้งหมดนี้หากลองคิดย้อนด้วยตัวคนเดียวแล้วยังมองเห็นภาพไม่ชัด สามารถทำการระดมสมองจากผู้ร่วมงานและพนักงานในองค์กรให้มาร่วมนำเสนอและถกกันอย่างสร้างสรรค์ในแต่ละหัวข้อได้ แล้วจะรู้ว่าอะไรคือจุดบอดที่คุณมองไม่เคยเห็น และอะไรที่พร้อมจะเป็นแต้มต่อให้กับธุรกิจคุณ!
อ้างอิง:
https://www.scatterspoke.com/retrospective-library/starfish-retrospective
https://www.teamretro.com/retrospectives/starfish-retrospective
https://www.funretrospectives.com/starfish/
https://www.decipherzone.com/blog-detail/starfish-retrospective-technique
https://www.relevantaudience.com/th/how-often-do-you-need-to-post-on-social-media-in-2023/
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี