TEXT : กองบรรณาธิการ
Main Idea
- “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ประโยคที่อธิบายถึงการทำธุรกิจที่หยุดนิ่งไม่ได้
- ไม่เช่นนั้นค่ายมือถือยักษ์ใหญ่อย่าง Apple ถึงมีข่าวลือหนาหูว่ากำลังมูฟไปสู่ธุรกิจรถไฟฟ้า
- หรือแม้แต่ธุรกิจในไทยอย่าง iberry group เจ้าของแบรนด์ร้านอาหารกว่า 10 แบรนด์ ยังไม่หยุดพัฒนา ล่าสุด เปิดตัวหมูกระทะแบรนด์ “ชิ้นโบแดง” (Chin Bo Dang)
กว่าธุรกิจจะประสบความสำเร็จได้ว่ายากแล้ว การประคองให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืนนั้นยากกว่าหลายร้อยเท่า สถานการณ์เช่นนี้คงตรงกับ SME หลายๆ รายที่ฝ่าฝันธุรกิจมาจนเติบโตแล้วก็คงมีเวลาดีใจได้ไม่นานอารมณ์ประมาณ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” หนังสือของเจ้าสัว CP ธนินท์ เจียรวนนท์ ที่ให้แนวคิดกว่าธุรกิจจะยิ่งใหญ่ขนาดนี้ได้ต้องลำบากและล้มเหลวมาไม่น้อย ที่สำคัญคือ ไม่ได้ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต
เรื่องจริงที่เจ็บปวดนี้เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่คนทำธุรกิจทุกคนต้องตระหนักอยู่เสมอว่า การทำธุรกิจจะหยุดอยู่กับที่ไม่ได้
แม้แต่ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่อย่าง Apple มีข่าวลือหนาหูว่ากำลังเข้าสู่ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่ทำให้หลายคนประหลาดใจไม่น้อย แต่ในมุมมองของนักการตลาดนั้นดูไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนักเพราะในภาพรวมของตลาดสมาร์ทโฟนกำลังถึงจุดสูงสุดแล้ว
ดังนั้นผู้บริหารของ Apple มีความกังวลเกี่ยวกับการเติบโต จึงจำเป็นต้องขยายไปยังเทคโนโลยีใหม่ กล่าวอีกนัยหนึ่ง Apple จำเป็นต้องข้ามไปสู่ S-Curve ใหม่เพื่อรักษาธุรกิจไว้
Dilemma Zone ยักษ์เล็กไล่ยักษ์ใหญ่
ข่าวล้มหายของบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องแปลก ขณะเดียวกันการแจ้งเกิดของธุรกิจคลื่นลูกใหม่ก็กลายเป็นเรื่องธรรมดา
ในเรื่องนี้ Clayton Magleby Christensen ผู้เขียนหนังสือ The Innovator's Dilemma ได้อธิบายไว้ว่า การที่บริษัทยักษ์ใหญ่หรือเจ้าตลาดไม่สามารถรักษาความเป็นผู้นำตลาดได้ และส่วนมากล้วนพลาดท่าให้กับบริษัทหน้าใหม่ที่แถมยังมีขนาดเล็กกว่าอีกด้วยนั้น เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มักมุ่งเน้นที่การรักษาลูกค้าปัจจุบัน จนทำให้ละเลยหรือมองข้ามตลาดเกิดใหม่ ปรับตัวไม่ทันกับความต้องการของลูกค้าที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามยุค
Comfort Zone ตลาดที่รอวันตาย
ทั้งนี้หนังสือ The Innovator's Dilemma ยังได้ระบุอีกว่า ถึงแม้บริษัทเหล่านี้จะมีการศึกษาคู่แข่งสม่ำเสมอ มีการบริหารถูกต้องตามหลักการ และยังสร้างตัวเลขผลกำไรที่งอกงาม แต่ท้ายสุดบริษัทที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้มักติดหล่มกับโครงสร้างขององค์กรที่เริ่มขยับตัวได้ยากขยับตัวได้ช้าลง สาเหตุมาจากกลัวความล้มเหลว อีกทั้งยังมีข้อจำกัดอยู่จากการทำงานแบบเดิมๆ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกที่จะเริ่มสร้างนวัตกรรม หรือการสร้างชุดความคิดใหม่ ตลาดใหม่ๆ ท้ายที่สุดเมื่อโดนภาวะตลาดกดดันหรือลูกค้าเรียกร้องความต้องการใหม่ๆ ถึงเวลานั้นก็สายเกินไป เพราะเริ่มมีบริษัทใหม่ๆ ที่ตอบสนองสิ่งเหล่านี้ได้ดีกว่าเพราะกล้าที่จะทำสิ่งใหม่ๆ แตกต่างไปจากเดิม
เมื่อปิดโอกาสตัวเองเท่ากับเปิดโอกาสให้คู่แข่ง
ปัญหาภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของผู้ที่ไม่กล้าริเริ่มไอเดียธุรกิจใหม่ๆ จนต้องทำให้ธุรกิจล้มหายไป มีให้เห็นมากมายในหลายๆ ธุรกิจ ที่ขึ้นชื่อและมักถูกหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษาคือ
Kodak แม้จะเป็นผู้คิดค้นกล้องดิจิทัลขึ้นมา แต่กลับไม่ช้ประโยชน์จากนวัตกรรมตัวนี้ เพราะยังหวังที่จะจับตลาดฟิล์มถ่ายรูปและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง และในที่สุดก็ต้องปิดกิจการเพราะตามไม่ทันเมื่อคู่แข่งอย่าง Canon และ Nikon ถือกำเนิดขึ้น โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดีกว่าในราคาที่ถูกลง หรือแม้แต่ Blockbuster อดีตยักษ์ใหญ่แห่งวงการเช่าภาพยนตร์ที่โดนโค่นโดย Netflix ที่เปิดให้บริการสตรีมภาพยนตร์ทางออนไลน์
ทางออกของ SME
ถ้าธุรกิจคุณอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ ในฐานะผู้นำองค์กรลองนำวิธีเหล่านี้ไปปรับใช้เพื่อทำให้องค์กรเดินหน้าต่อไป
กำหนดวิสัยทัศน์ระยะยาวที่คล่องตัว : ตรวจสอบให้แน่ใจว่าวิสัยทัศน์ของคุณถูกกำหนดให้เป็นเป้าหมายที่ถูกต้อง อย่ามุ่งเน้นไปที่ความเฉพาะเจาะจง หรือรูปแบบธุรกิจใดรูปแบบหนึ่ง แต่มุ่งเน้นไปที่โซลูชันและเปิดรับการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้าน
มีความยืดหยุ่น : บริษัทต้องสร้างองค์กรที่สามารถตอบสนองต่อเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว
สนับสนุนการทดลอง : สนับสนุนให้เกิดการทดลองความคิดไอเดียใหม่ๆ ในการทำงานที่เข้ากับยุคสมัย พร้อมโอบรับนวัตกรรมใหม่ๆ
สร้างข้อมูลเชิงลึก: บริษัทควรพยายามหาข้อมูลเชิงลึก ทั้งกับลูกค้า คู่แข่ง และตลาดของตน เพื่อรับทราบสถานการณ์ต่างๆ และปรับตัวให้ทัน
ส่งเสริมความเป็นเจ้าของธุรกิจให้พนักงาน : การส่งเสริมให้พนักงานคิดแบบเจ้าของธุรกิจใช้ประโยชน์จากศักยภาพของพวกเขาได้อย่างเต็มที่ ก่อนที่พวกเขาจะเริ่มต้นธุรกิจของตนเอง และอาจกลายเป็นผู้ทำลายล้างหรือคู่แข่งของคุณในอนาคต
ส่งเสริมความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน : การร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพ สถาบันการศึกษา หรือองค์กรอื่น ๆ สามารถช่วยให้บริษัทใช้ประโยชน์จากแนวคิดและเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้
อัปเตดตลาดและเทคโนโลยี: วิธีการหนึ่งที่สามารถทำได้ง่ายๆ คือการสังเกตจากคู่แข่ง
สร้างแผนกธุรกิจเฉพาะ: บางครั้งการจัดตั้งหน่วยธุรกิจเฉพาะที่มีกลยุทธ์และโครงสร้างที่แตกต่างกันสามารถช่วยให้บริษัททดลองกับเทคโนโลยีและรูปแบบธุรกิจใหม่โดยไม่รบกวนการดำเนินงานที่มีอยู่ สิ่งนี้อาจเป็นประโยชน์แต่ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป เนื่องจากจะทำให้เกิดการต่อสู้ระหว่าง "สิ่งที่มีอยู่และสิ่งใหม่" ดังนั้นจึงแนะนำให้ทั้งองค์กรมีความคล่องตัวและมีนวัตกรรมมากขึ้น แทนที่จะให้อิสระในการทำงานกับสิ่งใหม่ๆ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งรู้สึกว่า "ติดขัดและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง"
บริษัทจะเติบโตได้แค่ไหนไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาด หรือปริมาณความสำเร็จ แต่ขึ้นอยู่ว่าคุณปรับตัวได้ดีแค่ไหน ที่สำคัญคุณต้องไม่หยุดที่จะเดิน
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี