TEXT : Neung Cch.
Main Idea
- ความพยายามแก้ปัญหาขยะพลาสติกทั่วโลกนั้นมีมานาน แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนัก
- ดังนั้นหลายๆ ประเทศจึงใช้วิธีแบน พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (single use plastic: SUP) ถูกผลิตขึ้นมาคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ของการผลิตพลาสติกทั้งหมดในโลก หรือเป็นปริมาณมากถึง 130 ล้านตันในปี 2019
- ทำให้สินค้าที่ทำจากพลาสติกหลายอย่าง อาทิ ช้อน ส้อม หลอดพลาสติก ฯลฯ ไม่สามารถใช้ได้ในหลายประเทศ
เพราะในการย่อยสลายพลาสติกต้องใช้เวลาหลายร้อยปี เกือบครึ่งหนึ่งของพลาสติกที่ผลิตขึ้นในปัจจุบันเป็นแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง จากทั้งหมดนั้นมีเพียง 9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ร้อยละ 12 ถูกเผา และร้อยละ 79 ถูกฝังกลบ
เรื่องการกำจัดพลาสติกกลายเป็นปัญหาร้ายแรงถึงขนาดที่องค์การสหประชาชาติระบุว่าพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวเป็นหนึ่งในความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน
นอกจากนี้ การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมใหม่พบว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของเกลือที่ขายทั่วโลกมีไมโครพลาสติกผสมอยู่ และที่น่าเศร้ายิ่งกว่าคือการศึกษาที่เกิดขึ้นในอิตาลีในปี 2020 พบไมโครพลาสติกอยู่ในรกของผู้หญิง 4 ใน 6 คนที่ทำการศึกษา
สัญญาณร้ายเตือนถึงภาคธุรกิจ
นอกจากภัยร้ายที่กระทบถึงผู้คนแล้ว นี่อาจเป็นสัญญานเตือนที่ส่งผลกระทบมาถึงภาคธุรกิจด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ผลิตช้อน ส้อม ขวดพลาสติก หลอดพลาสติก รองเท้า เสื้อผ้าแว่นกันแดด หรือสินค้าที่ทำจากพลาสติกใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง
เนื่องจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยในเดือนพฤษภาคม 2019 ว่า 180 ประเทศให้คำมั่นว่าจะ “ลด” การใช้พลาสติกลงอย่างมากภายในปี 2030 และหลายประเทศได้ออกกฎหมาย ‘แบน’ การใช้ถุงพลาสติก และการใช้มาตรการทางภาษี หรือทั้งสองอย่างควบคู่กันไป มีไม่ต่ำกว่า 32 ประเทศ ที่ใช้กฎหมายแบนการใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
ตัวอย่างประเทศที่มีการแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
หากใครที่ทำธุรกิจส่งออกหรือมีซัพพลายเออร์ที่ผลิตสินค้าเกี่ยวข้องกับพลาสติกและเกี่ยวข้องกับประเทศคู่ค้าเหล่านี้ก็ต้องระวังเป็นพิเศษ
สหภาพยุโรป
อียูได้ออกกฎหมายแบนพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว ไม่ว่าจะเป็นหลอด ช้อนส้อม มีด รวมถึงคอตตอนบัด ตั้งแต่ปี 2021 และภายในปี 2025 กำหนดให้ 25% ของขวดพลาสติกควรจะต้องรีไซเคิลได้ ทั้งนี้ 90% ของขวดเครื่องดื่มจะต้องถูกรวบรวมและรีไซเคิลภายในปี 2029
ฝรั่งเศส
ต้องยกให้เป็นประเทศแรกที่ประกาศห้ามนำถ้วย จาน และช้อนส้อมพลาสติกเข้าประเทศทั้งหมดตั้งแต่ปี 2020 ทั้งนี้ฝรั่งเศสมีความพยายามที่จะเปลี่ยนเป็น “ประเทศที่เป็นแบบอย่างในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การกระจายรูปแบบพลังงาน และเพิ่มการใช้แหล่งพลังงานหมุนเวียน”
อังกฤษ
ล่าสุดรัฐบาลอังกฤษประกาศห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถาด ชาม ช้อนส้อม และถ้วยโฟมและภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโฟมโพลีสไตรีน เริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคมปี 2023
สหรัฐฯ
ในปัจจุบันในบางรัฐของสหรัฐก็ห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง อาทิ เช่น รัฐอลาสกา; บอสตัน และสหรัฐเตรียมแบนผลิตภัณฑ์พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในอุทยาน ภายในปี 2032 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ คำสั่งจะครอบคลุมอุทยานแห่งชาติ 423 แห่งทั่วประเทศ รวมถึงเขตพักพิงสัตว์ป่า ที่ดิน และแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่บริหารจัดการโดยกระทรวงมหาดไทยของสหรัฐ
ออสเตรเลีย
หลายๆ รัฐในออสเตรเลีย ต่างมีมาตรการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวตั้งแต่เดือนกรกฏาคม 2018 รวมทั้งวิกตอเรียเป็นรัฐล่าสุดของออสเตรเลียที่ห้ามขายถุงพลาสติก ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2019 ผู้ค้าปลีกทุกรายในวิกตอเรียจะถูกปรับอย่างหนัก
เวียดนาม
ได้ออกกฎหมายคุ้มครองสิ่งแวดล้อมเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2020 มีวัตถุประสงค์หลัก 3 ประการที่จะต้องทำให้ได้ภายในปี 2030 คือ หนึ่ง ลดขยะพลาสติกในทะเล 75% สอง กำจัดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งและถุงพลาสติกที่ไม่สามารถย่อยสลายตามชายฝั่ง สาม ท้องทะเลปราศจากขยะพลาสติก
จีน
มีการห้ามใช้ถุงที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ในเมืองใหญ่ตั้งแต่สิ้นปี 2020 และในปี 2022 จะห้ามไม่ให้ใช้หลอดแบบใช้ครั้งเดียวในร้านอาหาร
บังกลาเทศ
นับประเทศแรกที่ห้ามใช้ถุงพลาสติก นับตั้งแต่ค.ศ. 2002 หลังจากพบว่าถุงพลาสติกเข้าไปอุดตันท่อระบายน้ำจนทำให้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศขึ้น และบังคลาเทศได้สร้างทางเลือกนำวัสดุจากธรรมชาติแทนพลาสติก นั่นคือปอกระเจา ทำเป็นเส้นใยที่ใช้ทำกระสอบผ้าใบให้เป็นวัสดุคล้ายพลาสติกแต่สามารถย่อยสลายได้
ไต้หวัน
ไต้หวันประกาศแบนการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ทั้งถุงพลาสติก หลอด ช้อน ส้อม และถ้วยพลาสติก ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ปี 2018
นิวซีแลนด์
หลังจากการห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในปี 2019 รัฐบาลนิวซีแลนด์ กำลังวางแผนที่จะใช้ความคิดริเริ่มใหม่ๆ เพื่อ กำจัดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง
Packaging Gateway รายงานว่ารัฐบาลนิวซีแลนด์มีแผนที่จะลงทุน 40 ล้านดอลลาร์นิวซีแลนด์ (26.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพื่อช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก
แคนาดา
นายกรัฐมนตรีแคนาดาประกาศเมื่อปีที่แล้วว่าประเทศจะตั้งเป้าหมายห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวที่ “เป็นอันตราย” ภายในปี 2021 ได้แถลงการณ์ไว้ว่า “ในฐานะพ่อแม่ เราอยู่ในจุดที่ต้องพาลูกๆ ไปที่ชายหาดที่ไม่มีเศษ โฟม หรือขวด”
โมร็อกโก
ที่นี่เคยมีการใช้ถุงพลาสติกสูงถึงปีละ 3 พันล้านใบต่อปี สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จนรัฐบาลโมร็อกโกต้องออกประกาศห้ามใช้ถุงพลาสติกในปี 2009 แล้วค่อยห้ามผลิต ซื้อขาย นำเข้า และส่งออกถุงพลาสติกอย่างเป็นทางการในเวลาต่อมา นอกจากจะเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้ถุงพลาสติกภายในประเทศ เพื่อเป้าหมายในการเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นประเทศสีเขียวที่สะอาดและน่าอยู่
เยอรมนี
เมืองฮัมบูร์กออกกฎหมายห้ามใช้พลาสติกเฉพาะกลุ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2016
ซิมบับเว
ในปี 2017 พวกเขาออกกฎหมายห้ามใช้ภาชนะบรรจุอาหารที่ทำจากโพลีสไตรีน โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 30 ถึง 5,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ
ไทย
ในประเทศไทยเองก็ได้เริ่มมีการรณรงค์เรื่องนี้ปี 2020 ร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหญ่ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว
อินโดนีเซีย
เนื่องจากเป็นประเทศที่มีหมู่เกาะมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จึงต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวและการประมงเป็นอย่างมาก รัฐบาลอินโดนีเซียได้ประกาศแผนที่จะกำจัดพลากสติกซึ่งเป็นภัยคุกคามทางเศรษฐกิจและสุนทรียภาพ โดยจะลดขยะพลาสติกลง 70% ภายในห้าปี และทั้งหมดภายในปี 2040
อินเดีย
รัฐบาลอินเดียประกาศห้ามใช้ ‘พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง’ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2022 โดยห้ามผลิต นำเข้า จัดเก็บ แจกจ่าย จำหน่าย และใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งรวมถึงพลาสติกประเภทโพลีสไตรีน (polystyrene) ที่มักจะใช้เป็นบรรจุภัณฑ์ของข้าวของเครื่องใช้และอาหาร
เคนยา
ประกาศแบนถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในปี 2017 และในเดือนมิถุนายน 2020 ประกาศห้ามนักท่องเที่ยวนำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว เช่น ขวดน้ำและจานใช้แล้วทิ้งเข้าไปในอุทยานแห่งชาติ ป่าไม้ ชายหาด และพื้นที่อนุรักษ์ สำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนต้องโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี หรือปรับ 38,000 ดอลลาร์
ทวีปแอฟริกา
เป็นที่ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ได้ออกกฎหมายห้ามทั้งการผลิตและการใช้ถุงพลาสติก
รวันดา
ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในปี 2008 จากข้อมูลของ Plastic Oceans การห้ามใช้ถุงพลาสติกเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของรวันดา มีเป้าหมายเป็นประเทศปลอดพลาสติกแห่งแรกของโลก
โซมาเลีย
ห้ามใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวในพื้นที่ที่ควบคุม ตั้งแต่ปี 2018
ซิมบับเว
ในเดือนกรกฎาคมปี 2017 ซิมบับเวประกาศห้ามใช้ Expanded Polystyrene (EPS) ซึ่งเป็นวัสดุคล้ายโฟมที่ใช้สำหรับบรรจุอาหารที่ใช้เวลานานถึง 500 ปีในการย่อยสลาย ผู้ที่ละเมิดการแบนจะต้องจ่ายค่าปรับระหว่าง 30 ถึง 500 ดอลลาร์
วานูอาตู
วานูอาตูเป็นประเทศแรกในมหาสมุทรแปซิฟิกได้ประกาศการเริ่มต้นของการเลิกใช้ถุงพลาสติกและขวดเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2017
นี่อาจเป็นสัญญานเตือนให้ผู้ผลิตต้องปรับตัวเริ่มหาวัตถุดิบชนิดใหม่ รวมถึงเทรนด์การทำการค้าที่ต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น ถ้าอยากทำธุรกิจให้ยั่งยืน
ที่มา : https://www.dezeen.com/2023/01/17/england-single-use-plastic-plates-cutlery-ban/
https://edition.cnn.com/2022/07/01/india/india-bans-single-use-plastic-intl-hnk/index.html
https://earth.org/germany-to-ban-single-use-plastic-2021/
https://www.iamexpat.de/expat-info/german-expat-news/germany-bans-many-single-use-plastics-mid-2021
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี