เรื่อง : จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย)
การตกงานเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ บางรายสมัครใจว่างงานด้วยตัวเอง ในขณะที่บางรายโดนเชิญให้ออกจากงาน หากใครโดนอย่างหลังก็อาจรู้สึกเสียใจไม่น้อย หากวันหนึ่งคุณอยากกลับมาเป็นพนักงานออฟฟิศอีกรอบ จะทำอย่างไร ขอเสนอ 5 วิธีสำหรับผู้ที่ว่างงานไปนานและอยากคืนสังเวียนแบบง่ายๆ โดยไม่ต้องกลัวใครปฏิเสธ
มองหางานที่คิดว่าเหมาะสมจริงๆ
จริงๆ แล้วการที่ว่างงานก็ถือเป็นโอกาสอันดีที่คุณจะมีเวลาใช้ชีวิตแบบสโลว์ไลฟ์ได้ ใช้เวลาตระหนักถึงความต้องการที่แท้จริงของชีวิตมากขึ้น และได้มีโอกาสไตร่ตรองถึงความสามารถ ความถนัด หรือความชอบด้านใดด้านหนึ่งอย่างแท้จริง นอกเหนือจากนั้น ต้องคำนึงถึงการเรียงลำดับความสำคัญด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสมัครงานด้วย เช่น สวัสดิการ ค่าตอบแทนที่สมเหตุสมผล และอื่นๆ คราวหน้าหากคุณต้องหางานใหม่อีกครั้ง จะได้เลือกงานที่ใช่กับคุณมากที่สุด
2. ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
การว่างงานนานๆ อาจทำให้คุณเผลอใช้ชีวิตตามสบายเกินไป เช่นนอนตี 3 ตื่นบ่าย 2 ตื่นแล้วไม่อาบน้ำ ไม่แต่งตัว เมื่อคุณอยากจะกลับเข้าตลาดงานอีกครั้ง คงต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้กลับเข้ามาใกล้เคียงวงจรชีวิตคนทำงานให้มากที่สุด พยายามใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ด้วยการเข้าเว็บไซต์หางาน หรือถามหาโอกาสการรับคนเข้าทำงานจากเพื่อนฝูง หรือญาติพี่น้อง หาความรู้รอบตัวที่เกี่ยวข้องกับตลาดงานจากทุกสื่อให้มากที่สุดเพื่อเตรียมความพร้อมกับหากได้รับเรียกสัมภาษณ์งานอีกครั้ง
3. ปรับปรุงเรซูเม่
หยิบเรซูเม่ฉบับเก่าขึ้นมาปัดฝุ่นแล้วอัพเดตประสบการณ์ทำงานของคุณเสียใหม่ หากมีโอกาสได้ทำงานฟรีแลนซ์ หรือโปรเจกต์อื่นใดในช่วงที่ว่างงานอยู่ ก็อย่าลืมเพิ่มเติมลงไปด้วย จงจำไว้ว่าเรซูเม่ที่มีช่วงเว้นว่างของระยะเวลาบางช่วงไป จะเป็นช่องว่างให้บรรดาเหล่าผู้จ้างงาน ตั้งคำถามกลับว่า ณ ช่วงเวลานั้น คุณหายไปไหนมา ทำอะไรอยู่ ดังนั้น ถ้าเป็นไปได้ ในช่วงที่ว่างงาน ก็อย่าลืมเอาเวลาไปพัฒนาตัวเองในด้านที่ขาดไปเสียด้วย นอกจากฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะเฉพาะตัวแล้ว ยังทำให้เรซูเม่ดูน่าค้นหามากขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย
4. ปรับแก้ทัศนคติ
คนที่เคยตกงานมาในระยะเวลาหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการตกงานโดยสมัครใจหรือด้วยภาวะจำยอมก็ตามที อาจก่อให้เกิดความหดหู่ในชีวิต เสียความมั่นใจบางส่วนจากการทำงาน หรือบางคนอาจถึงขั้นมีทัศนคติไม่ดีกับออฟฟิศเดิม หัวหน้าเดิม แบบแค้นฝังหุ่นก็เป็นได้ ถ้าคุณเข้าข่ายเป็นผู้มีทัศนคติในแง่ลบดังที่ได้กล่าวมาข้างต้น ขอแนะนำว่าให้หยุดคิดเช่นนั้น แล้วปรับทัศนคติใหม่ให้เป็นไปในทางบวกเสีย เพราะอะไรก็ตามที่คุณคิด มันจะยึดติดอยู่ในจิตใต้สำนึกคุณอย่างเหนียวแน่น ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกทางความคิดและอารมณ์ของคุณด้วย ความรู้สึกในส่วนนี้ หากพกเข้าห้องสัมภาษณ์ไปด้วยคงไม่ดีเป็นแน่ และแน่นอนว่าทุกองค์กรล้วนแต่อยากได้คนที่มีทัศนคติในทางบวกเข้าไปร่วมงานกับองค์กรมากกว่า
5. สัมภาษณ์แบบมือโปร
การสัมภาษณ์งานเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากสำหรับการสมัครงาน เป็นการสร้างความประทับใจครั้งแรกให้กับผู้ที่คุณจะเข้าไปร่วมงานด้วยในอนาคต ดังนั้นการแสดงออกในระหว่างการสัมภาษณ์งานจะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่จะบอกว่าคุณจะได้ไปต่อหรือไม่ การแสดงออกที่ว่า ไม่ใช่แค่เพียงการพูดจาตอบคำถามเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการแต่งตัวให้เหมาะสมกับกาลเทศะ สุภาพ ไม่ควรใส่สีฉูดฉาด หรือใส่ชุดสั้น เพื่อแสดงออกถึงความน่าเชื่อถือของตัวคุณเตรียมเอกสารเกี่ยวข้องที่สำคัญไปให้พร้อม (ทางที่ดีควรสอบถามทางฝ่ายบุคคลที่โทรมานัดก่อนวันสัมภาษณ์ว่าควรเตรียมอะไรไปบ้าง) อุปกรณ์เครื่องเขียนสำหรับกรอกใบสมัคร
และเมื่อถึงตอนที่ต้องสัมภาษณ์งาน ควรตอบด้วยเสียงดังฟังชัด สบตาผู้สัมภาษณ์ ตอบด้วยความมั่นใจ คิดก่อนตอบ ไม่ต้องรีบ ที่สำคัญที่สุดคือ อย่าพูดโอ้อวด อย่าโกหก หรือสร้างภาพให้เกินจริง เมื่อถูกถามว่าทำไมถึงออกจากงานเก่า ไม่ควรกล่าวพาดพิง หรือต่อว่าที่ทำงานเก่าอย่างเด็ดขาด จะทำให้คุณดูไม่ดีในสายตาของผู้สัมภาษณ์ และที่ขาดไม่ได้อย่าลืมชี้แจงด้วยว่า ระหว่างที่คุณว่างงาน คุณได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ หรือได้รับความรู้อะไรใหม่ๆ ที่จะนำมาช่วยในการทำงานครั้งต่อไปของคุณอย่างไร ถ้าทำได้แบบนี้แล้วละก็ เชื่อเลยว่า คุณจะได้งานสมตามความปรารถนาอย่างแน่นอน
SME Thailand : เพื่อนคู่คิด ธุรกิจเอสเอ็มอี
ติดตามข้อมูลดีเพื่อชาว SMEs ได้ที่ www.smethailandclub.com