จะตัดสินใจทำธุรกิจ สัญชาตญาณ หรือ ข้อมูล อันไหนช่วยให้สำเร็จมากกว่ากัน

TEXT : กองบรรณาธิการ

Main Idea

  • เป็นที่ถกเถียงกันมานานว่าระหว่าง “สัญชาตญาณ” กับ “ข้อมูล” แล้ว สิ่งไหนสำคัญต่อการตัดสินใจในธุรกิจมากกว่ากัน

 

  • สัญชาตญาณ คือ ความคิดที่เกิดขึ้นแบบฉับพลันโดยธรรมชาติ หลายคนไม่เชื่อเพราะมองว่าหาเหตุผลมารองรับไม่ได้ แต่กลับมีนักธุรกิจที่ใช้สัญชาตญาณทำธุรกิจมาตลอด เช่น Jeff Bezos ซีอีโอแห่ง Amazon

 

  • ขณะที่ข้อมูล ซึ่งดูน่าเชื่อถือ เป็นเหตุเป็นผล แต่ด้วยยุคนี้ที่มีข้อมูลมหาศาลมากเกินไป บางครั้งก็อาจทำให้เกิด “Analysis paralysisหรืออัมพาตในการวิเคราะห์ จนทำให้ไม่สามารถตัดสินใจได้ ก็เป็นไปได้

 

     ก่อนจะลงทุนทำอะไรสักอย่างในธุรกิจ ผู้ประกอบการหลายคนอาจมีความเชื่อว่าการมีข้อมูลเยอะๆ ศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะช่วยให้สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ และถูกต้องมากขึ้น แต่จริงๆ แล้วข้อมูลอย่างเดียว เพียงพอจริงหรือเปล่า ทำไมหลายคนจึงว่า “สัญชาตญาณ” ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

การใช้สัญชาตญาณดียังไง

      สัญชาตญาณ คือ ความคิดที่เกิดขึ้นมาอย่างรวดเร็ว เพียงแค่แว้บเดียว โดยไม่ต้องผ่านการคิดวิเคราะห์อะไรให้มากมาย แต่หลายคนอาจเลือกที่จะไม่เชื่อในสัญชาตญาณ เพราะมองว่าเป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาแบบฉับพลัน และหาเหตุผลมารองรับไม่ได้ แต่ทำไมนักธุรกิจหลายคนจึงมักกล่าวว่าที่ประสบความสำเร็จมาทุกวันนี้ได้ เป็นเพราะมาจากการมีสัญชาตญาณที่ดี

     โดย Sri Sharma ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการของ Net Media Planet เคยกล่าวไว้ว่าสัญชาตญาณ คือ ความรู้สึกข้างในตัวเราเอง เป็นเหมือนเรดาร์ที่ถูกสร้างขึ้นมาจากประสบการณ์ต่างๆ ที่เราเคยผ่านและได้เรียนรู้มา ซึ่งมีหลายครั้งในการทำธุรกิจที่เขารู้สึกว่าสัญชาตญาณที่คิดไว้ก่อนหน้า กลับตรงกับข้อมูลการวิเคราะห์ที่ได้มา จึงทำให้เขายิ่งเชื่อในสัญชาตญาณตัวเองเข้าไปอีก ซึ่งข้อมูลไม่สามารถใช้แทนที่สัญชาตญาณได้

     เช่นเดียวกับ Dr. Martin Clark ผู้อำนวยการโครงการและธุรกิจของ Cranfield School of Management ที่มองว่าบางครั้งการยึดติดกับข้อมูลมากเกินไป ก็เหมือนเป็นกับดักทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้ เนื่องจากทุกวันนี้มีข้อมูลจำนวนมหาศาลเกิดขึ้นมากมาย หากขาดการนำมาคิดวิเคราะห์และบริหารจัดการให้ดี และถูกต้องอย่างแท้จริง แทนที่จะเกิดประโยชน์ ก็อาจเกิดความซับซ้อน จนนำไปสู่การตัดสินใจที่ยากขึ้นไปอีกในการทำธุรกิจก็ได้

 ใครบ้างเชื่อในการตัดสินใจด้วยสัญชาตญาณ

     Jeff Bezos ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Amazon เคยพูดไว้ว่าทุกสิ่งที่เขาทำนั้นล้วนเริ่มต้นขึ้นมาจากสิ่งเล็กๆ โดยเขามักจะใช้การสังเกตเฝ้ามองสิ่งเหล่านั้นเสมอว่าจะขยายเติบโตกลายเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ขึ้นมาได้ยังไง เหมือนเช่นการเริ่มต้นทำ Amazon ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าหลายล้านดอลลาร์ เขาก็เริ่มต้นขึ้นมาด้วยคนเพียงจำนวนไม่กี่คน จนปัจจุบันมีอยู่มากกว่าหลายแสนคนทั่วโลก

     โดยเขามักกล่าวเสมอๆ ว่าการที่ทำให้ธุรกิจเติบโตขึ้นมาได้อย่างทุกวันนี้ เขามักใช้การตัดสินใจจากสัญชาตญาณ รสนิยมที่ชื่นชอบ ความกล้า และความอุตสาหะ มากกว่าการวิเคราะห์ด้วยข้อมูล ซึ่งการที่ทำให้ Amazon ประสบความสำเร็จขึ้นมาได้ ก็เกิดจากการใช้ความรู้สึกเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคเป็นสำคัญมากกว่าจะมุ่งเน้นเพื่อเอาชนะคู่แข่ง และแม้ธุรกิจจะเติบโตยิ่งใหญ่แค่ไหน เขาก็ยังเชื่อในการทำจากสิ่งเล็กๆ เขาต้องการให้ธุรกิจมีหัวใจและจิตวิญญาณแบบธุรกิจเล็กๆ นั่นเอง

     ไม่เฉพาะแต่นักธุรกิจต่างประเทศเท่านั้น ในไทยก็ยังมีตัวอย่างนักธุรกิจไทยที่ใช้สัญชาตญาณเป็นตัวนำทางในการตัดสินใจทางธุรกิจด้วย ยกอย่างเช่น พลพัฒน์ อัศวะประภา หรือ หมู อาซาว่า แห่งวงการเสื้อผ้าแฟชั่นไทยเจ้าของแบรนด์ Asava เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่าเป็นหนึ่งคนที่ชอบใช้สัญชาตญาณในการคิดงาน

     ครั้งหนึ่งเขาเคยเผชิญวิกฤตถึงขั้นมีสต็อกเสื้อผ้าในมือเป็นหมื่นๆ ตัว จนมานั่งทบทวนว่าอะไร คือ สาเหตุของความผิดพลาดและก็พบว่าบางครั้งการตามกระแสของตลาดเกินไป อาจทำให้หลงไปความข้อมูลความนิยมของตลาด จนลืมที่จะแสดงตัวตนที่แท้จริงของตัวออกมา ซึ่งแท้จริงแล้วนั่นคือ เสน่ห์ สิ่งสำคัญที่สุดของการสร้างแบรนด์สินค้าขึ้นมาแบรนด์หนึ่ง เพื่อทำให้เกิดจุดเด่น ความแตกต่าง คือ คุณค่าที่ผู้บริโภคต้องการ โดยเฉพาะสินค้าด้านแฟชั่นที่มีการผลิตออกมามากมาย โดยเขาเล่าว่าไม่เพียงเฉพาะแค่ในการทำธุรกิจเท่านั้น การดำเนินชีวิตประจำวันเขาก็เป็นคนหนึ่งที่มักใช้สัญชาตญาณในการคิดและตัดสินใจสิ่งต่างๆ เสมอเช่นกัน

ทำไมการอิงกับข้อมูลมากเกินไป จึงอันตราย

     แน่นอนว่าในการทำธุรกิจ เราจะขาดการใช้ข้อมูลไปไม่ได้เลย เพราะข้อมูล คือ การช่วยลดความเสี่ยง และทำให้ธุรกิจเกิดการสะดุดน้อยที่สุด แต่บางครั้งการอิงกับข้อมูลมากจนเกินไป ก็อาจกลายเป็นผลเสียต่อธุรกิจได้เช่นกัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้นมาดูกัน

     - เพราะโลกปัจจุบันเต็มไปด้วยข้อมูลมาเกินไป หากหาวิธีจัดการได้ไม่ดีพอ อาจทำให้การตัดสินใจผิดเพี้ยนไปจากความจริงได้

     - แน่ใจหรือว่าข้อมูลที่มี เป็นข้อมูลทั้งหมดจริงๆ หรือเป็นเพียงแค่บางส่วน เพราะอาจทำให้คุณวิเคราะห์ผิดพลาดได้

     - อย่าลืมว่าข้อมูลไม่ได้มีแค่จากเราแค่ฝ่ายเดียว เช่น เราอาจมีข้อมูลเฉพาะของธุรกิจตัวเอง แต่จริงๆ แล้วยังมีฐานข้อมูลใหญ่อีกมากที่ส่งผลต่อธุรกิจของเราได้ เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจโลก, การผันผวนค่าเงินต่างๆ

     - เมื่อมีข้อมูลมากเกินไป อาจทำให้เกิดความวิตกกังวล จนบดบังการตัดสินใจแบบธรรมชาติอย่างที่ควรจะเป็น

รู้จัก Analysis paralysis อัมพาตจากการวิเคราะห์ข้อมูล

     เชื่อหรือไม่ว่าการมีข้อมูลเยอะมากเกินไปบางครั้งก็ไม่ได้ส่งผลดีเลย โดยนักจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “Analysis Paralysis” หรืออัมพาตจากการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งการมีข้อมูลที่เยอะมากเกินไป อาจไปขัดขวางการตัดสินใจที่ถูกต้อง รวมถึงลดความเร็วในการตัดสินใจลงได้ แทนที่จะผลลัพธ์หรือคำตอบที่ต้องการ ก็กลับกลายเป็นการคิดมาก ลังเล วิตกกังวล และไม่มั่นใจไปแทน กลัวที่จะผิดหวัง มากกว่าตัดสินใจเพื่อก้าวไปข้างหน้า จึงไม่ต่างอะไรกับการเป็นอัมพาตทางความคิด

ทำยังไงให้ใช้ข้อมูลและสัญชาตญาณได้อย่างสมดุล

     มาถึงตรงนี้เราไม่ได้กำลังจะบอกว่าสัญชาตญาณ หรือการใช้ข้อมูลแบบไหนดีกว่ากัน เพียงแต่กำลังจะชี้ให้เห็นถึงข้อดี ข้อด้อย และข้อควรระวังของแต่ละอย่าง ซึ่งบางครั้งสัญชาตญาณ อาจเกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่เราเคยได้สั่งสมมา และประมวลออกมาทำให้เราเกิดการตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที จนอาจกล่าวได้ว่าสัญชาตญาณ ก็คือ นักวิเคราะห์โดยธรรมชาติของมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวตนนั่นเอง

     แต่บางครั้งหากประสบการณ์ในเรื่องนั้นๆ น้อยเกินไป การใช้สัญชาตญาณก็อาจไม่เกิดผล จึงอาจต้องใช้ข้อมูลเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการตัดสินใจด้วย ขณะที่ในบางสิ่งที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึก เช่น การใช้ศิลปะในการออกแบบสินค้า ไอเดียสร้างสรรค์ต่างๆ รสนิยมความชอบไม่ชอบ ก็อาจต้องใช้สัญชาตญาณขึ้นมาเป็นตัวนำขึ้นมาก่อน

     ซึ่งไม่ว่าสัญชาตญาณ หรือการใช้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจก็ตาม สิ่งสำคัญที่ต้องมีก็คือ ความถูกต้อง หากเป็นข้อมูลก็ต้องเป็นแหล่งที่น่าเชื่อถือ และมั่นใจว่าเป็นข้อมูลทั้งหมดที่เกิดขึ้น มิใช่หยิบมาแค่เพียงบางส่วน ขณะที่หากใช้สัญชาตญาณ ก็อย่าอิงกับอามรณ์ความรู้สึกมากเกินไป จนบดบังสัญชาตญาณที่เกิดขึ้นจริง ต้องหมั่นลองจับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ดูสาเหตุที่มา  คิดวิเคราะห์ว่าหากทำตามอย่างนั้นแล้ว จะเกิดผลอะไรตามมา หมั่นฝึกบ่อยๆ เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้น

ที่มา : https://www.businessinsider.com/how-jeff-bezos-makes-decisions-2018-9

https://www.theguardian.com/careers/careers-blog/instinct-insight-how-leaders-make-decisions-management

https://en.wikipedia.org/wiki/Analysis_paralysis

https://www.prachachat.net/d-life/news-209248

 

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก