TEXT : Nitta Su.
PHOTO : Siemnoodles
Main Idea
- “ตะกร้า 3 สี” เทคนิคช่วยจัดการออร์เดอร์ลูกค้าจากหลายช่องทางของร้านเซี๊ยม ร้านก๋วยเตี๋ยวเก่าแก่เมืองหนองคายที่ขายมากว่า 40 ปี
- สีน้ำเงิน - ออร์เดอร์จากลูกค้าหน้าร้าน ทั้งนั่งกินที่ร้านและสั่งกลับบ้าน หรือโทรมาสั่ง, สีชมพู – Foodpanda, สีเขียว - Grab และ Line Man
ในชั่วโมงเร่งด่วนที่ลูกค้าเข้าแทบจะพร้อมๆ กันในหลายช่องทาง ทั้งนั่งกินที่ร้าน สั่งกลับบ้าน และเดลิเวอรี เป็นปัญหาให้กับเจ้าของร้านอาหารที่บริหารจัดการเรียงคิวและจัดทำออร์เดอร์ให้ดี เพื่อให้ออกมาทันกับความต้องการของลูกค้า ไม่ผิดพลาด ไม่รอนานเกินไป ซึ่งหากเป็นร้านใหญ่ๆ ก็คงไม่ยากที่จะนำระบบเข้ามาช่วย แล้วสำหรับร้านเล็กๆ ต้องทำยังไง วันนี้เรามีตัวอย่างเทคนิคง่ายๆ ที่นำมาใช้ได้จริง แถมประหยัดต้นทุนจากร้านก๋วยเตี๋ยวดั้งเดิมเมืองหนองคายมาฝากกัน โดยขอเรียกเทคนิคนี้ว่า “กลยุทธ์ตะกร้า 3 สี”
กมลฉัตร เตียวศิริชัยสกุล หรือ อีฟ หนึ่งในทายาทร้านเซี๊ยมที่เปิดดำเนินการมายาวนานกว่า 40 ปี เล่าถึงกลยุทธ์เทคนิคที่นำมาใช้จัดการออร์เดอร์ของร้านให้ฟังว่า
“เดิมทีก่อนปรับปรุงธุรกิจ เราจะเป็นร้านก๋วยเตี๋ยวเล็กๆ อยู่ในชุมชน ต่อมาภายหลังเมื่อได้กลับมาช่วยอาโกวดูแลร้าน ก็เริ่มมีการเปิดรับออร์เดอร์ผ่านแอปเดลิเวอรีมากขึ้น ทำให้มีลูกค้าเข้ามาจากหลายช่องทาง โดยตอนแรกเราก็ใช้วิธีแท่นเสียบออร์เดอร์เหมือนกับร้านอาหารทั่วไป แต่เกิดปัญหาขึ้นว่าเวลาลูกค้าเข้ามาพร้อมๆ กัน พอต้องถอดออร์เดอร์ออกจากแท่นเสียบ เพื่อพลิกนำบิลด้านล่างกลับขึ้นมาไว้ด้านบน เพื่อเรียงคิวทำให้คนที่สั่งเข้ามาก่อน ซึ่งพอมีปริมาณเยอะ บางครั้งก็ทำให้เกิดความผิดพลาดได้ ออร์เดอร์หายบ้าง หาออร์เดอร์ไม่เจอบ้าง เราเลยลองหาวิธีใหม่ โดยเปลี่ยนจากแท่นเสียบมาใช้เป็นตะกร้าแทน โดยแยกตะกร้าเป็นสีๆ ไปเลยว่าถ้าลูกค้าเข้ามาจากช่องทางนี้ เราจะเอาออร์เดอร์ไปใส่ไว้ในตะกร้าสีอะไร ทำให้ช่วยลดความผิดพลาด และทำงานได้เร็วขึ้น”
กมลฉัตรอธิบายเพิ่มเติมว่า ในร้านจะแบ่งตะกร้าทั้งหมดออกเป็น 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน - ออร์เดอร์จากลูกค้าหน้าร้าน ทั้งนั่งกินที่ร้านและสั่งกลับบ้าน หรือโทรมาสั่ง ส่วนสีชมพูและสีเขียวจะใช้ใส่ออร์เดอร์จากแอปฟู้ดเดลิเวอรี โดยสีชมพู – Foodpanda, สีเขียว - Grab และ Line Man
โดยเมื่อลูกค้ามีการสั่งออร์เดอร์เข้ามา หลังจากจดรับออร์เดอร์เรียบร้อยแล้วจะมีการนำไปแยกใส่ไว้ในตะกร้าสีต่างๆ ตามช่องทางที่ลูกค้าสั่งเข้ามา จากนั้นจึงนำไปส่งไว้ที่เคาน์เตอร์ก๋วยเตี๋ยว เพื่อทำตามออร์เดอร์ที่เข้ามาทีละตะกร้า เมื่อเสร็จแล้วก็สามารถตรวจเช็คความถูกต้องของออร์เดอร์ที่สั่งตามสีตะกร้า และคิดเงินได้เลย
“พอเปลี่ยนมาใช้ตะกร้า ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น บางทีลูกค้าอยากเปลี่ยนแปลงออร์เดอร์ ก็สามารถหาได้ง่ายเลย แค่รู้ว่าเป็นออร์เดอร์มาจากช่องทางไหน หรืออย่างบางทีพี่ไรเดอร์เขารับออร์เดอร์ซ้อนกันหลายเจ้า เราก็จะรู้ได้ว่าออร์เดอร์เขามีอะไรคั่นกลางอยู่ เช่น บางทีลูกค้าโทรมาสั่งที่หน้าร้าน แต่ยังไม่มาเอา เราก็สามารถสลับให้พี่ไรเดอร์ก่อนได้ เพื่อเขาจะได้เอาไปพร้อมกันทีเดียว เราก็ไม่งง ไม่หลงด้วย โดยตะกร้าสีหนึ่งเราจะมีหลายใบ เพื่อนำมาวนใช้ พอทำเสร็จถ้าลูกค้าสั่งใส่ถุง เราก็เอาวางไว้ในตะกร้าได้เลย เพราะบางออร์เดอร์ก็สั่งหลายถุง คนทำหน้าที่เก็บเงินก็สามารถเช็คออร์เดอร์และคิดเงินได้เลย โดยที่ไม่ต้องคุยหรือสื่อสารกันเยอะ เพราะทุกอย่างยืดตามตะกร้าได้เลย”
โดยร้านเซี๊ยมได้นำวิธีการดังกล่าวมาใช้บริหารจัดการออร์เดอร์มากว่า 2 ปีแล้ว จนทุกวันนี้ก็ยังคงใช้อยู่ นับเป็นตัวอย่างวิธีแก้ไขปัญหาที่สามารถนำมาใช้ได้จริง และได้ผลดี โดยไม่ต้องลงทุนเยอะ เพียงแค่ลองวิเคราะห์ และทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น เชื่อว่าผู้ประกอบการ SME เองก็สามารถสร้างนวัตกรรมดีๆ แบบง่ายๆ ด้วยตัวเองได้
เซี๊ยม https://web.facebook.com/Siemnoodles โทร. 088 562 0407 |
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี