TEXT: วิมาลี วิวัฒนกุลพาณิชย์
มีผลวิจัยบอกว่าองค์กรที่นำนโยบาย Diversity และ inclusion มาใช้ ผลตอบแทนทางการเงินมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้กำหนดนโยบายนี้ อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมมากถึง 20 เปอร์เซ็นต์
การสร้างความหลากหลาย (diversity) และการรับรวมทุกกลุ่มคน (inclusion) กำลังกายเป็นส่วนหนึ่งอันสำคัญในการดำเนินธุรกิจยุคปัจจุบัน การสร้างความหลากหลายในที่ทำงานหมายถึงการเปิดรับผู้คนที่มีความไม่เหมือนกันในด้านต่าง ๆ เช่นทักษะ ความสามารถ ชาติกำเนิด และเพศ ขณะที่การโอบรับคือสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปลอดภัยและให้การสนับสนุนทุกกลุ่ม
ในช่วงที่ผ่านมา มีศัพท์หลายคำถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบ่อยได้แก่ diversity, inclusivity, inclusion และ social inclusiveness ทั้งหมดทั้งมวลเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่าง หากเกี่ยวกับองค์กรหรือบริษัทหมายถึงการนับรวมทุกกลุ่มคน หรือการเปิดช่องทางให้ปัจเจกบุคคลและกลุ่มทุกกลุ่มเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งโดยไม่ปล่อยให้ใครถูกกีดกันออกไป ซึ่งองค์กรหรือบริษัทใดกำหนดนโยบาย inclusivity ในการรับพนักงานเข้าทำงานเพื่อสร้างความหลากหลายโดยไม่กีดกันหรือเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นเพศ อายุ หรือเชื้อชาติ มักได้รับการสรรเสริญจากผู้คนในสังคม
ความหลากหลายของผู้คนในสังคมอาจแบ่งออกเป็น 4 มิติ ได้แก่
ความหลากหลายภายใน ซึ่งมีมาแต่กำเนิดและไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ชาติพันธุ์ เชื้อชาติ อายุ
ความหลากหลายภายนอก เป็นสิ่งที่พัฒนาในภายหลัง เช่น รสนิยม ความสนใจ การศึกษา รูปลักษณ์ และสัญชาติ
ความหลากหลายในองค์กร อันนี้เกี่ยวข้องกับที่ทำงาน เป็นต้นว่า งานที่รับผิดชอบ ตำแหน่งงาน สถานที่ทำงาน และสถานะความอาวุโส
ความหลากหลายด้านมุมมอง เกี่ยวข้องกับประสบการณ์และทัศนคติที่มีต่อประเด็นรอบตัว อาทิ การเมือง วัฒนธรรม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสังคมและทั่วโลก
Diversity และ inclusion สำคัญอย่างไรต่อความสำเร็จธุรกิจ
ผลการศึกษาของบริษัทแม็คคินซีย์พบว่าองค์กรที่นำนโยบายความหลากหลายมาใช้ ผลตอบแทนทางการเงินมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้กำหนดนโยบายนี้ ขณะที่บริษัทดีลอยท์ระบุ Diversity และ inclusion ในที่ทำงานสามารถกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม มากถึง 20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
การสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมยอมรับความหลากหลายจะนำมาซึ่งข้อได้เปรียบที่ไม่เหมือนใคร เป็นต้นว่า ในการรังสรรค์ผลิตภัณฑ์ก็สามารถตอบโจทย์กลุ่มผู้บริโภคที่กว้างขึ้นเพราะทีมทำงานมีความหลากหลายทางความคิด ดึงดูดให้คนที่มีความสามารถอยากมาทำงานด้วย และเมื่อเข้ามาร่วมทีมแล้วก็ร่วมงานกันนานขึ้นไม่ค่อยแปรพักตร์ไปที่ใหม่
สำหรับบริษัทระดับโลกที่ประสบความสำเร็จจากการดำเนินนโยบาย diversity และ inclusion ได้แก่
โซเด็กซ์โซ่ บริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการบริการด้านอาหารจากสหรัฐฯ ได้กำหนดกลยุทธ์การจ้างงานโดยไม่จำกัดเพศ อายุ และรสนิยมทางเพศ กลยุทธ์ความเท่าเทียมทางเพศที่ว่านี้โซเด็กซ์โซ่ดำเนินมานาน 20 ปีแล้วและดูเหมือนจะให้ผลลัพธ์ที่ดี โดยปี 2020 บริษัทได้รับการคัดเลือกจากบลูมเบิร์กให้มีรายชื่อในดัชนีวัดความเสมอภาคทางเพศ (Bloomberg Gender Equality Index) หลังสำรวจพบมีพนักงานหญิงในองค์กรร้อยละ 37 อยู่ในคณะกรรมการบริหาร และร้อยละ 60 เป็นคณะกรรมการ เป้าหมายของโซเด็กซ์โซ่คือการผลักดันให้ทีมทำงานผู้หญิงนั่งเก้าอี้ผู้บริหารระดับสูงอย่างน้อยร้อยละ 40 ขององค์กร
จอห์นสัน & จอห์นสัน เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่อีกรายที่สนับสนุนความเสมอภาคโดยมีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความหลากหลายและโอบรับทุกกลุ่มระดับโลก รวมถึงเพิ่มผลประกอบการและความได้เปรียบในการแข่งขัน จอห์นสัน & จอห์นสันดำเนินการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ที่พนักงานดำเนินร่วมกันระหว่างทำงานในองค์กร เช่น การรับฟังทุกความเห็นที่แตกต่างในที่ประชุม หรือการเป็นสมาชิกก่อตั้งเครือข่ายพันธมิตรไม่มองภาพเหมารวม (Unstereotype Alliance) เพื่อสร้างสมดุลทางเพศในการผลิตโฆษณา
มาสเตอร์การ์ด ได้รับการจัดอันดับจาก DiversityInc เป็น 1 ใน 10 องค์กรที่มีความหลากหลายถึง 4 ปีซ้อน ผลงานที่ประจักษ์ก็เช่น การกำหนดเงินเดือน หรือตำแหน่งงานโดยไม่แบ่งแยกเพศ และอีกหลายโครงการที่สนับสนุนเด็กหญิงและสตรี นอกจากนั้น สวัสดิการของบริษัทที่มีให้พนักงานยังครอบคลุมถึงความช่วยเหลือด้านการผ่าตัดแปลงเพศ การยอมรับการใช้ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกัน การอุ้มบุญเพื่อให้มีบุตร และการรับเลี้ยงเด็กเป็นบุตรบุญธรรม
ลอรีอัล ธุรกิจที่ขยายใน 130 กว่าประเทศทั้ง 5 ทวีปทำให้ลอรีอัลยึดมั่นกับความหลากหลายด้านหพุวัฒนธรรมมายาวนาน บริษัทได้จัดตั้งโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างสังคมที่ดีขึ้น เช่น การจัดเวิร์กช้อปเกี่ยวกับผู้พิการ การทำโครงการให้คำแนะนำที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรมต่าง ๆ และการฝึกงานแก่เยาวชนกลุ่มเปราะบาง นอกจากนั้น ลอรีอัลยังให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ ดังนั้น ร้อยละ 69 ของพนักงานจึงเป็นผู้หญิงและบริษัทมีส่วนผลักดันให้ผู้หญิงทำงานเหล่านี้ให้ก้าวไปสู่ตำแหน่งบริหารระดับสูง
เลอโนโว ผู้ผลิตคอมพิวเตอร์แบรนด์ดังระดับโลกก่อร่าสร้างธุรกิจภายใต้แนวคิด “แตกต่างคือดีกว่า” จึงกำหนดนโยบายและการปฏิบัติที่ยอมรับทุกความแตกต่างโดยเฉพาะในเรื่องความหลากหลายทางเพศ ในการวัดดัชนีความเสมอภาคองค์กร (Corporate Equality Index) โดย Human Rights Campaign เลอโนโวได้รับคะแนนเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ในปี 2017 และ 2019 ซึ่งการสนับสนุน LGBTQIA (Lesbian Gay Bisexual Transgender Queer Intersex และ Asexual) นี่เองที่เป็นแม่เหล็กดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถให้ต้องการร่วมงานกับเลอโนโว
ที่มา : https://www.businessnewsdaily.com/15970-diverse-inclusive-companies.html
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี