บริหารคนเก่งอย่างไร ให้อยู่กับองค์กรได้นาน เพราะคนทำงานดีมักมีงานล้นมือ

TEXT : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา

 

     “คนไม่เก่ง ทำงานไม่ดี มักมีงานน้อยเพราะหัวหน้าไม่ไว้วางใจ คนเก่งๆ ทำงานดีๆ มักเป็นที่โปรดปราน จึงมอบหมายงานให้จนล้นมือ เป็นที่มาของคำพูดที่ว่า อีกแล้วเหรอ...อะไรก็ตู!”

     คำพูดนี้ทำให้นึกถึงคนจำนวนมากที่มักแวะเวียนมาระบายความในใจให้ฟังเชิงกระแหนะกระแหนว่า ตนเองคงเป็นที่รักของเจ้านาย เพราะงานใหม่ งานยาก งานราษฎร์ งานหลวง งานที่ไม่มีคนทำ ฯลฯ หัวหน้าก็มอบหมายให้เป็นประจำอย่างไม่ขาดสาย

     ช่วงแรกๆ พยายามคิดเชิงบวกว่า น่าจะเป็นเรื่องดีเพราะหัวหน้าไว้ใจ ให้โอกาสและได้เรียนรู้ แต่พอนานไปชักไม่ไหว อะไรก็ตู!

     เรื่องทำนองนี้เป็นปัญหาคลาสสิกที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัยในหลายๆ องค์กร หากมองจากมุมของลูกน้องก็เข้าใจได้ว่าคงมีคำถาม ทำไมต้องเป็นฉัน คนอื่นบ้างไม่ได้เหรอ?

     ในทางกลับกัน หากมองจากมุมหัวหน้า ลูกน้องคนไหนใช้งานคล่อง ทำงานดี ก็เป็นที่โปรดปรานเป็นธรรมดา

วิธีบริหารคนเก่งไม่ให้ถอดใจไปก่อน

     พัฒนาอย่างเหมาะสม-ไม่ใช่ว่าพนักงานที่ทำงานดี ทำงานเก่งจะไม่ต้องการการพัฒนา แต่หัวหน้าส่วนใหญ่มักหลงลืมไป เข้าใจว่าคนที่เก่งแล้ว ไม่ต้องพัฒนา ไปให้เวลาพัฒนาคนไม่เก่งให้เก่งขึ้น น่าจะดีกว่า

     แต่...การพัฒนาไม่จำเป็นต้องมาในรูปแบบของการอบรมเพียงอย่างเดียว การหนีบไปไหนมาไหนด้วยเพื่อให้ได้เรียนรู้งาน (Shadowing) การหมุนเวียนงาน (Rotation) การมอบหมายให้รักษาการแทนในช่วงที่ไม่อยู่ (Acting) เป็นต้น ก็ช่วยเสริมสร้างการพัฒนาได้เช่นเดียวกัน

     เริ่มต้นด้วยการสอบถามพนักงานว่า มองเป้าหมายในอนาคตของชีวิตตนเองไว้อย่างไร อยากจะเติบโตไปทางไหน และในฐานะหัวหน้าจะมีส่วนช่วยอย่างไรในการวางแผนเติบโตในอาชีพการงาน (Career Planning) 

     ให้อิสรภาพ-วิธีการหนึ่งที่จะทำให้คนเก่งรู้สึกตื่นเต้นและอยากจะทำงานอย่างสุดความสามารถคือ การให้อิสรภาพในการคิดและทำ หัวหน้าต้องแสดงความเชื่อมั่นและไว้วางใจด้วยการมอบหมายอำนาจ หน้าที่ และความรับผิดชอบให้ จากนั้นปล่อยให้คิดและตัดสินใจด้วยตนเอง โดยไม่เข้าไปจู้จี้จุกจิก หรือบริหารงานแบบหยุมหยิม (Micro Management) มากจนเกินไป

     แต่การให้อิสรภาพต้องดูความรู้ความสามารถที่เหมาะสมประกอบด้วย ลูกน้องที่เก่งอาจเก่งหลายเรื่องแต่ไม่ได้เก่งทุกเรื่อง ในเรื่องที่ยังขาดความรู้ความชำนาญหรืออ่อนด้อยประสบการณ์ หัวหน้าต้องช่วยเหลือ และสนับสนุนอย่างใกล้ชิด การให้อิสรภาพในทุกๆ เรื่องเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

     อย่าเอ่ยคำชมเชยมากเกินไป-คำชมเชยคล้ายน้ำมันหล่อลื่น ใส่น้อยไปเครื่องจักรก็เดินไม่ได้ ใส่มากไปเครื่องก็พัง คนทำงานดีต้องการคำชมเชยเป็นธรรมดา แต่การป้อยอมากจนเกินไป จะกลายเป็นผลร้ายมากกว่าผลดี 

     การชมเชยมีหลายวิธี การกล่าวคำชมด้วยคำพูดเป็นวิธีหนึ่ง การเขียนคำชมเชยในโพสต์-อิท (Post-It) การส่งอีเมลชมเชย การฝากผู้อื่นไปชม การให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ เพื่อชมเชย หรือการชมลูกน้องให้หัวหน้าของเราฟัง ก็เป็นแนวทางในการชมเชยที่ดี เลือกวิธีการให้เหมาะสมและมีความหลากหลาย พนักงานจะได้ไม่รู้สึกว่าจำเจ

     การชมที่ดีควรแยกผลลัพธ์และความพยายามออกจากกัน บางกรณีผลลัพธ์ที่ได้อาจยังไม่เป็นที่พอใจ แต่หากพนักงานได้แสดงให้เห็นถึงความพยายามอย่างสุดความสามารถ การชื่นชมความตั้งใจและความทุ่มเท แม้ผลลัพธ์จะยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็เป็นกำลังใจให้เกิดความพยายามที่มากขึ้นในโอกาสต่อไป

     จัดการปริมาณงานให้เหมาะสม-หนึ่งในหน้าที่ของหัวหน้าคือ การทำให้แน่ใจว่างานต่างๆ ได้ถูกกระจายออกไปอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมกับลูกทีมทุกๆ คน

     แต่ในทางปฏิบัติไม่ค่อยเป็นเช่นนั้น คนไม่เก่ง ทำงานไม่ดี มักมีงานน้อยเพราะหัวหน้าไม่ไว้วางใจ จึงไม่มอบหมายงานให้ ในทางกลับกัน คนเก่งๆ ทำงานดีๆ มักเป็นที่โปรดปราน หัวหน้ารักเป็นพิเศษ จึงมอบหมายงานให้จนล้นมือ เป็นที่มาของคำพูดที่ว่า อีกแล้วเหรอ...อะไรก็ตู!

     เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น หัวหน้าต้องวิเคราะห์ให้ดีว่าคนเก่งของคุณมีงานอยู่เต็มมือหรือยัง และเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ได้รับการมอบหมายในปริมาณที่ใกล้เคียงกันหรือไม่

     อย่ามองข้ามพลังของการทำงานเป็นทีม-การบริหารคนเก่ง ต้องสร้างสมดุลให้ดีระหว่างการแสดงผลงานกับการทำงานเป็นทีม คนเก่งหลายคนมีปัญหาในการทำงานกับเพื่อนร่วมงาน เพราะมักทำตัวเป็นฮีโร่ทำงานแบบโชว์ออฟ (Show Off) ในขณะเดียวกันหากหัวหน้าแสดงความชื่นชอบและมอบหมายงานให้กับคนเก่งเกินหน้าเกินตาเพื่อนฝูง ก็อาจนำมาซึ่งความขัดแย้งได้เช่นกัน

     การทำงานเป็นทีมเป็นเรื่องสำคัญ การส่งเสริมให้คนเก่งเรียนรู้ที่จะช่วยเหลือเพื่อนคนอื่นๆ ในทีมด้วย จะทำให้เขาเป็นคนที่สมบูรณ์แบบ เพราะคำว่าคนประกอบด้วย ค คือความสามารถ กับ น คือความน่ารัก

     คนเก่งที่ไม่น่ารักมีเยอะแยะ แต่เราอยากเห็นพนักงานเก่งที่น่ารักด้วย จริงไหม

     ปล่อยลูกน้องเก่งๆ ให้เติบโต-คนเก่ง ใครก็อยากทำงานด้วย หัวหน้าหลายคนมักหวงลูกน้องคนเก่ง เพราะรู้สึกว่ากว่าจะสร้างกว่าจะสอนให้ทำงานเป็นจนเก่ง เป็นเรื่องยากและใช้เวลา ดังนั้น จึงอยากรักษาลูกน้องคนนั้นเอาไว้ใช้งานนานๆ

     องค์กรหลายแห่งมีนโยบายการหมุนเวียนงาน (Rotation) แต่มักพบว่าหัวหน้าไม่ยอมปล่อยลูกน้องเก่งๆ ไปโตในหน่วยงานอื่น และเพราะความเห็นแก่ตัวของหัวหน้า จึงทำให้องค์กรต้องสูญเสียคนเก่งไปนักต่อนัก เพราะเมื่อพนักงานรู้สึกว่าโตที่นี่ไม่ได้ เขาก็เลือกที่จะไปโตในองค์กรอื่นต่อไป

     คนเก่งหายาก เมื่อได้มา ต้องรักษาไว้ ใช้งานมากไป เครื่องก็ไหม้ ไม่ใช้งานเลย ก็เสียดายศักยภาพที่มี การบริหารจัดการคนเก่ง จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องเรียนรู้และทำให้ดี

www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี

           

RECCOMMEND: MANAGEMENT

เขียนสัญญาเช่ายังไงให้รัดกุม ธุรกิจไม่เสียเปรียบ

สัญญาเช่า เรื่องใกล้ตัวผู้ประกอบการหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่รู้ไหมการมีสัญญาเช่าที่ดีและรัดกุม สามารถป้องกันปัญหาและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้มากมาย

ทำงานให้ได้งาน 4 เทคนิคบริหารเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ทำไมบางคนงานท่วมหัว ทำงานยุ่งอยู่ตลอดเวลา แต่งานกลับไม่หมดซะที แถมยังส่งงานไม่ทันกำหนด เราเลยมีเทคนิค เช่น Eisenhower Matrix, Eat that frog, Pomodoro และ กฎ 80/20  ซึ่งจะช่วยให้บริหารเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพและชีวิตการทำงานไม่เครียดอีกต่อไป

ประชุมยังไงให้ได้งาน เทคนิคจาก 4 คนดังที่ประสบความสำเร็จ 

การประชุมที่มีประสิทธิภาพนำไปสู่ความสำเร็จ มักจะมีปัจจัยหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวข้อง เราจึงมีเคล็ดลับการประชุมที่แตกต่างกันของคนดังที่ประสบความสำเร็จ  พร้อมแนะนำเทคนิคที่จะช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมาฝาก