TEXT : ปองกมล ศรีสืบ
เคยเป็นมั้ยคะ ที่ในแต่ละวันยุ่งวุ่นวายไปหมด
บางวันยุ่งชนิดที่ว่าแทบไม่ได้กินข้าวกินน้ำ แต่พอจบวันมานั่งทบทวนงานที่ทำไปทั้งหมด
กลับพบว่า งานยุ่งมากแต่เหมือนไม่ได้งาน?
ไม่รู้ว่ายุ่งอะไร แต่ Productive ไม่เกิด และแทบไม่เห็นเนื้องาน
ถ้าเคยเป็นแบบนี้ คุณอาจจะต้องมานั่งเขย่าแผนงานออกมากองรวมกัน แล้วเกลี่ยใหม่ โดยให้ความสำคัญกับสิ่งที่ “ควรทำ” ให้มากกว่าสิ่งที่ “ต้องทำ”
พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญ ว่าระหว่างสิ่งที่ควรทำและต้องทำ อันไหนสำคัญกว่ากัน
ในฐานะที่เคยเปิดบริษัทขนาดเล็กซึ่งมีพนักงานไม่กี่คน เข้าใจดีว่าชีวิตผู้ประกอบการขนาดเล็กนั้น วุ่นวายมากแค่ไหน งานบริหารก็ต้องทำ บัญชีก็ต้องดู วางแผน Operation ก็ต้องจัด แล้วเมื่อถึงเวลาก็ต้องลง ไปคุมงานเองอีก
คุณอาจจะอยากมีสิบหน้าสิบแขนแบบทศกัณฑ์ขั้นมาทันที ไหนจะอยากให้วันนึงมีสัก 48 ชั่วโมง อีกต่างหาก ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วคุณรู้สึกเห็นด้วย แสดงว่าคุณมาถูกทางแล้ว เพราะมันเป็นบันได ขั้นแรก ของการ Set Up ธุรกิจที่ต้องผ่านไปให้ได้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจย่อมมีการเปลี่ยนแปลง ทั้งช่วงการก่อตั้ง มีทั้งช่วงการเปลี่ยนผ่าน และมีการเติบโต แล้วก็อาจจะต้องเจอกับวิกฤตการณ์บางอย่าง ซึ่งการเป็นทศกัณฑ์ไม่ได้ช่วยให้คุณผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่จะช่วยคุณได้ก็คือการ Focus
หากแต่การโฟกัสในที่นี้ ไม่ได้เป็นแค่การตั้งเป้าหมาย แล้ววิ่งเข้าชนอย่างเดียว แต่ยังมีบริบทอื่นๆ ที่ต้องคำนึงถึงอีกด้วย
1. อันดับแรก คุณต้องจัด Priority หรือ ลำดับความสำคัญกับงานตรงหน้า แล้วโฟกัสในสิ่งที่มีความ สำคัญมากกว่า แล้วทำมันก่อนเสมอ อย่ามัวแต่เสียเวลาทำเรื่องที่ไม่สำคัญ ยิ่งถ้าคุณเป็นธุรกิจที่ เพิ่งก่อตั้ง คุณจะมีเรื่องวุ่นวายชวนปวดหัวต้องทำมากมาย แต่อย่าลืมสิ่งที่ให้ Productive ก่อนเสมอ
2. ในระหว่างที่ทำเรื่องสำคัญ เมื่อมีเรื่องไม่สำคัญ (และรอได้) เข้ามาแทรก อย่าเพิ่งเปลี่ยนไปทำสิ่งนั้น จำไว้ว่า เรื่องตรงหน้าสำคัญกว่าเสมอ เพราะคุณจัดลำดับความสำคัญไว้แล้ว
3. คุณต้องแยกเรื่องที่ “ต้องทำ” ออกจากเรื่องที่ “ควรทำ” ให้ได้ แล้วไป Focus ในสิ่งที่ “ควรทำ”
4. Focus ไปที่ “จุดขาย” สำคัญของธุรกิจของคุณ แล้วทำมันด้วย Passion อันแรงกล้า คุณต้องเด็ดเดี่ยว หลงไหล และยึดมั่นกับสิ่งนั้นให้สุดทาง ลองดูตัวอย่างเช่น ไก่ทอด KFC ที่มีไก่ทอดเป็นตัวนำในการ ทะลุทะลวงยอดขาย หรือ Google สิ่งที่เป็นเรือธงอย่างเดียวคือ เสิร์ชเอ็นจิ้น ส่วนยอดขายจาก Product ย่อยอื่นๆ เป็นผลพลอยได้ หรือแม้แต่ร้านส้มตำแถวบ้านผู้เขียน ชื่อร้าน ตำ20 จุดขายเดียว คือ ส้มตำจานละ 20 บาท (แล้วไปฟาดกำไรจากเมนูอื่นๆ) เป็นต้น
5. Focus จะทำให้คุณ “ทำน้อยแต่ได้มาก” และรู้ว่าควรจะทุ่มเทไปที่ Product หรือ Service ตัวไหนของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นการทำ Product development หรือการอัดฉีดงบการตลาดก็ตาม
6. Focus ไปที่การ “คิดการใหญ่” อันนี้หมายถึง การคิดเผื่อ คิดให้รอบ และคิดให้ไกลกว่าที่คุณคิดว่า จะทำได้ อย่างน้อยถ้าไปไม่ถึงเป้า ทำได้สักครึ่งทางก็ยังดี
7. คุณต้องคิดการใหญ่แบบเฉพาะเจาจง เคล็ดลับการตั้งเป้าหมายแล้วพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จ ก็คือ การเปลี่ยนเป้าหมายให้กลายเป็นคำถาม เช่น ฉันอยากทำสิ่งนี้ เปลี่ยนเป็น ฉันจะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร คำถามแบบนี้จะพาคุณสู่การลงมือทำ แทนการวาดภาพฝันในใจ
8. Focus ในการทำสิ่งที่สำคัญที่สุด ในช่วงที่คุณมีพลังใจเต็มเปี่ยม แน่นอนว่าการทำธุรกิจ คุณคงไม่ได้มี ไฟแรงตลอดเวลา มันย่อมต้องมีช่วงท้อแท้กันบ้าง แต่คุณถอยไม่ได้ เพราะฉะนั้น รีบดึงตัวเองกลับมา แล้วทำสิ่งสำคัญที่สุดในช่วงที่พลังใจคุณมีเต็มขีด
9. Focus ที่เรื่องของเรา อย่าไปทำตามคนอื่น แม้ว่าเขาทำสิ่งนั้นแล้วจะดี แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณทำ แล้วจะดีเหมือนกัน หันมาโฟกัสในจุดแข็งของเรา แล้วทำมันให้สุด อย่าตามใคร
10. Focus ไปที่ความสำเร็จเท่านั้น อย่ากลัวล้มเหลว แม้ว่ามีธุรกิจจำนวนมากที่ผ่านการคาบเกี่ยวระหว่าง ความปัง กับความพัง คือ ทำแล้วไม่ปังก็อาจจะพังในพริบตา แต่ว่าผลตอบแทนจากความสำเร็จมักจะ หอมหวานเสมอ คุณต้องยืดหยัดและกล้าทำในสิ่งที่คิด การอยู่กับที่รังแต่จะรอวันเสื่อมถอย
11. ข้อสุดท้ายก็คือ Focus ไปที่ “การจัดการพลังงาน” ในตัวคุณ อย่าปล่อยให้ตัวเองทุ่มเทและ ทำงานอย่างบ้าคลั่ง จนทำให้พลังงานในตัวคุณมาถึงจุด “แบตอ่อน” เป็นอันขาด คุณต้องบริหารพลังงาน และสร้างความสมดุลให้กับชีวิตและการทำงานให้ได้ด้วย
อย่าลืม Focus ไปที่การหาความสุขระหว่างทางให้ตัวเองบ้าง
ท่องเที่ยวและเดินทางบ้าง อย่างน้อยปีละครั้ง หางานอดิเรกที่ตัวเองรักทำบ้าง
ถ้าทำได้แบบนี้ คุณจะปรับการเอาแนวคิดเรื่อง Focus ไปปรับใช้ได้ในทุก Moment ของธุรกิจแน่นอน
ปรับ Focus ใหม่ตอนนี้ยังไม่สาย
อย่าลืมบอกรักและให้กำลังใจตัวเองเยอะๆ นะคะ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี