TEXT : อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา
คำถาม สำคัญกว่า คำตอบ!
หัวหน้าคนแรกในชีวิตการทำงาน สอนไว้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ตอนนั้นฟังแล้วก็งงไปหลายตลบ ไม่เข้าใจว่าจะสำคัญกว่าได้ยังไง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงค่อยๆ เรียนรู้ว่า “จริง” เพราะ...
คำถามทำให้ต้องคิดมากขึ้น ในขณะที่คำตอบอาจไม่ได้ช่วยกระตุกต่อมความคิดสักเท่าไร
คำถามช่วยให้จดจำได้ยาวนานกว่า อันนี้มีตัวอย่างเลย ผมเคยโค้ชผู้บริหารระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง ท่านอายุสัก 55-56 ปีเห็นจะได้ วันหนึ่งเราคุยกันเรื่องพลังแห่งคำถาม ท่านเล่าให้ฟังว่า สมัยเด็กๆ ตอนอายุสัก 5-6 ขวบ จำได้ว่าคุณแม่เป็นคนขี้บ่น แต่จำไม่ได้ว่าบ่นเรื่องอะไรบ้าง มีอยู่วันหนึ่งกลับจากโรงเรียน เอาแก้วน้ำมานั่งดื่มพร้อมกับทำการบ้านไปด้วย แม่บอกว่าดื่มให้เสร็จก่อนแล้วค่อยไปทำ เดี๋ยวน้ำหก ฟังแล้วก็ผ่านไป คิดว่าแม่ก็บ่นๆ เหมือนเดิมนั่นแหละ แต่ยังไม่ทันขาดคำที่แม่พูด น้ำหกรดสมุดการบ้าน แม่ปรี่เข้ามาทันที
“นั่นไง!” แม่ตวาดเสียงสูง
แล้วท่านก็ถามผมว่า “คิดว่าแม่จะพูดอะไรต่อ”
ผมเดาว่าแม่คงโวยวาย บอกแล้วทำไมไม่เชื่อ ท่านตอบว่าตัวเองก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แต่คราวนั้นมาแปลก คุณแม่ไม่บ่นแต่ตั้งคำถามแทน “ได้เรียนรู้อะไร”
ท่านบอกว่าวินาทีนั้น ไม่คิดว่าต้องคิดเลยเงียบไปสักแพร๊บ แล้วตอบไปว่า “วันหลังแม่พูดต้องเชื่อ”
เรื่องนี้เกิดขึ้นกว่า 50 ปีมาแล้ว ท่านยังจำเหตุการณ์นั้นได้ดีเพราะคำถาม แต่สิ่งที่คุณแม่พูด คุณแม่สอน คุณแม่บ่น กลับจำแทบไม่ได้เลย...แปลกไหม?
นอกจากนั้น คำถามยังทำให้สมองส่วนหน้าทำงานได้มากขึ้นอีกด้วย ตลอดชีวิตเราเรียนรู้มาเสมอว่า สมองมี 2 ฝั่ง คือสมองซีกซ้ายสำหรับตรรกะ และสมองซีกขวาสำหรับจินตนาการ แต่ในความเป็นจริง สมองมี 4 ฝั่งคือ สมองด้านหน้าสำหรับคิดและสมองด้านหลังสำหรับจำอีกด้วย
ปกติสมองฝั่งคิดมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสมองฝั่งจำ ดังนั้นมนุษย์เราจึงใช้สมองด้านหลังเป็นหลักใหญ่ในการดำเนินชีวิต สมองด้านหน้าซึ่งทำหน้าที่คิด จะทำงานมากขึ้นเมื่อได้รับคำถามแต่จะทำงานน้อยลงหากได้รับคำตอบ ดังนั้น ถ้าอยากให้คิดเป็น ต้องหมั่นตั้งคำถามให้สมองส่วนหน้าได้ทำงาน
ในบริบทของการทำงาน ความสามารถในการตั้งคำถามเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นมาก แต่กลับเป็นสิ่งที่ถูกหลงลืมและไม่ได้รับการให้ความสำคัญเท่าที่ควร
ในฐานะหัวหน้างานหรือผู้นำขององค์กร คำถาม 5 ข้อนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ในการช่วยกระตุ้นและกระตุกต่อมความคิดของลูกทีมหรือผู้ที่ทำงานด้วย ให้ใช้สมองส่วนหน้ามากขึ้น
- เดี๋ยว...อะไรนะ?
บ่อยครั้งที่เรามักด่วนสรุปโดยขาดการไตร่ตรองที่รอบคอบหรือขาดข้อมูลที่สำคัญๆ ไป เพียงเพราะมีข้อจำกัดเรื่องเวลา การตัดสินใจนั้นจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อตนเองหรือองค์กรได้
การดึงตัวเองให้ช้าลงด้วยการตั้งคำถามแบบง่ายๆ ว่า “เดี๋ยว...อะไรนะ ช่วยอธิบายช้าๆ แบบกระชับๆ ให้ฟังอีกทีซิ” กับเรื่องสำคัญๆ ที่จำเป็นต้องอาศัยความรอบคอบในการตัดสินใจ นอกจากจะช่วยลดโอกาสความผิดพลาดหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการด่วนสรุปได้แล้ว ยังเป็นการให้โอกาสฝ่ายที่นำเสนอได้ทบทวนและเรียบเรียงคิดให้เป็นระบบอีกครั้งก่อนนำเสนอใหม่
- ทำไม...?
ตลอดชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ในความเห็นของผม “ทำไม” เป็นคำถามที่น่ากลัวแต่มีพลังมากที่สุด เพราะคนถามถามสั้นๆ แต่คนตอบต้องคิดหลายตลบมาก
ทำไม น่าจะเป็นคำถามแรกๆ ที่มนุษย์ทุกคนเรียนรู้ที่จะตั้งคำถาม ลองสังเกตดูเด็กๆ ซิครับ พอเริ่มพูดได้พูดเป็น เจออะไรก็ตั้งคำถามไปซะหมด หลายคำถามคนเป็นพ่อเป็นแม่หรือผู้ใหญ่ยังไม่เคยคิดด้วยซ้ำ บางครั้งพอเจอเด็กถามว่า “ทำไม” เล่นเอางงเป็นไก่ตาแตกเหมือนกัน ไม่รู้จะตอบยังไง เช่น ทำไมน้องเข้าไปอยู่ในท้องแม่ได้ล่ะ ทำไมพ่อบอกว่าโค้กไม่มีประโยชน์แต่พี่คนนั้นเขากินล่ะ เป็นต้น ดังนั้น คำถามสั้นๆ แบบสุภาพๆ ว่า “ทำไมเป็นอย่างนั้นล่ะ” หรือ “ทำไมคิดอย่างนี้ล่ะ” จะช่วยกระตุ้นความคิดได้เป็นอย่างดี
- ถ้า...ล่ะ?
หลายคนไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตหรืออาชีพการงานไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ไม่ใช่เพราะสภาพแวดล้อมไม่ดี ที่ทำงานไม่สนับสนุน แต่เป็นเพราะความเชื่อของตัวเองต่างหากที่คอยสกัดกันความสำเร็จนั้นไว้ ภาษาอังกฤษเรียกอาการแบบนี้ว่า “Limiting Belief” (ความเชื่อที่จำกัดศักยภาพของตัวเอง) เช่น เชื่อว่า งานนี้ยากตัวเองทำไม่ได้ เชื่อว่าตัวเองไม่เก่งพอที่จะรับตำแหน่งใหม่ เป็นต้น
การตั้งคำถามเชิงสมมุติ จะช่วยปลดล็อกความคิดที่คับแคบแบบนี้ออกไปได้บ้าง เช่น ถามว่า “ถ้าชีวิตนี้ไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย เธอคิดจะทำยังไงต่อไป” หรือ “ถ้าเชื่อว่าทำได้ละ ผลลัพธ์ของเรื่องนี้จะเปลี่ยนไปไหม” เป็นต้น บางทีก็ต้องเรียนรู้ที่จะหลอกสมองบ้าง
- ถ้าจะทำให้เป็นไปได้ ต้องทำยังไง?
บ่อยครั้งที่เรามักพบว่าคนทำงาน ชอบมองเห็นปัญหาและอุปสรรค มากกว่าทางออกหรือแนวทางการแก้ไข จนมีคำที่หัวหน้าหลายคนพูดจนติดปากว่า Bring me solution, not problem (เอาคำตอบมา อย่ามีแต่ปัญหา) บางทีการสอนให้ลูกน้องหรือคนทำงานมองในแง่บวก อย่าคิดว่าสิ่งใดๆ ที่ทำเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปได้เสมอ ฟังดูสวยงาม น่าจะทำได้ง่ายๆ แต่ในความเป็นจริงเกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติ แนวทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหานี้คือ การตั้งคำถามว่า “ถ้าจะทำให้เป็นไปได้ ต้องทำยังไง” เพราะเป็นการเปลี่ยนโฟกัสจากการคิดถึงข้อจำกัด ให้ไปนึกถึงแนวทางในการจัดการกับข้อจำกัดที่มีแทน
- ประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อคืออะไร?
เคยฟังใครนำเสนอเรื่องอะไรสักอย่าง ผ่านไปสักครึ่งชั่วโมง ยังจับประเด็นไม่ได้ ไม่รู้ว่าเขาต้องการสื่ออะไร หรือต้องการให้เราทำอะไรกับสิ่งที่เขานำเสนอไหม เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับผมบ่อยๆ โดยเฉพาะเวลาไปฟังการนำเสนอแผนงานประจำปีในระหว่างการประชุมกรรมการบริษัท หรือแม้แต่การโค้ชผู้บริหาร ที่นั่งฟังเสียนานสองนานแต่ยังจับใจความไม่ค่อยได้ คนพูดยิ่งพูดยิ่งติดลม จนบางครั้งหลงประเด็นที่ตนเองต้องการนำเสนอไป วิธีการง่ายๆ ที่จะช่วยให้เขากลับมาอยู่กับร่องกับรอยคือการตั้งคำถามว่า “ประเด็นสำคัญที่ต้องการสื่อคืออะไร” คำถามนี้เป็นการดึงผู้นำเสนอจากการใช้สมองส่วนหลังที่พูดจากความเคยชินและความทรงจำ กลับมาใช้สติและความคิดให้มากขึ้น
ลองดูนะครับ คำถามสำคัญกว่าคำตอบ จริงๆ ผมใช้มาแล้ว รับรองได้ผล!
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี