กำลังเป็นกระแสร้อนแรงในโลกโซเชียลในประเทศจีน ถึงประเด็นที่มีบริษัทแห่งหนึ่งในจีนที่ต้องการตรวจสอบการทำงานของพนักงานในบริษัทว่ามีการเล่นโทรศัพท์มือถือในระหว่างทำงานหรือไม่ ทำให้เกิดการถกเถียงในประเด็นดังกล่าวว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวหรือไม่
ต้นเรื่องคือมีบริษัทแห่งหนึ่งในภาคกลางของจีนได้ออกกฎมาว่าก่อนที่จะกลับบ้านให้พนักงานในบริษัทต้องแคปหน้าจอโทรศัพท์มือถือส่งให้ฝ่ายบริหารตรวจสอบสองประเด็นหลักคือ
1. จำนวนแบตเตอรี่ในวันนั้นเหลือมากน้อยเท่าไหร่
2. ต้องแสดงว่าใช้แบตเตอรี่ไปกับแอปฯ ใดบ้าง
หลังจากที่มีการออกกฎดังกล่าวทำให้พนักงานหลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายนั้น ซึ่งทางบริษัทแจ้งให้เหตุว่า เนื่องจากผลการดำเนินงานลดลง และการตรวจสอบนี้มีขึ้นเพื่อ "สร้างแรงบันดาลใจในการทำงานและจิตวิญญาณของทีม" โดยหัวหน้าต้องการห้ามปรามไม่ให้พนักงานใช้โทรศัพท์เพื่อเล่นเกม ดูวิดีโอ หรือส่งข้อความส่วนตัวในที่ทำงาน
ละเมิดหรือเหมาะสม
เมื่อเรื่องดังกล่าวมีการเผยแพร่ออกไปก็ได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นมากมาย หนึ่งในนั้นคือทนายความจากกวางโจวท่านหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยตัวได้ออกมาบอกกับหนังสือพิมพ์ South China Morning Post ว่าการแคปภาพหน้าจอส่งข้อมูลดังกล่าวไม่ชัดเจนว่าครอบคลุมโดยกฎหมายความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยหรือไม่
“ในขั้นตอนนี้ เราไม่สามารถตัดสินได้ว่าเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพนักงาน” ทนายกล่าว
ในขณะที่เจ้าหน้าที่ที่ให้บริการให้คำปรึกษาด้านกฎหมายท่านหนึ่งก็ได้แสดงความเห็นต่อกรณีนี้ว่า
“เป็นสิทธิตามกฎหมายสำหรับนายจ้างในการดูแลพนักงานด้วยวิธีการต่างๆ ในระหว่างการทำงาน ในกรณีนี้ เมื่อนายจ้างขอให้พนักงานส่งภาพหน้าจอแสดงพลังงานแบตเตอรี่ที่เหลืออยู่ในโทรศัพท์ ก็ถือว่าสมเหตุสมผล หากเกิดขึ้นหลังเลิกงาน ถือเป็นการละเมิดความเป็นส่วนตัวของพนักงาน”
Yang Wenzhan ทนายความจากสำนักงานกฎหมาย Beijing Zhongdun บอกกับ 21st Century Business Herald ว่า “หากบริษัทได้แจ้งให้พนักงานทราบและได้รับความยินยอมจากพวกเขาก็เป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ประเด็นคือเอกสารที่ออกกฏเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ บริษัทสามารถรับประกันได้ว่าพนักงานได้รับทราบเนื้อหาในเอกสารอย่างชัดเจนหรือไม่”
ความคิดเห็นจากโลกออนไลน์
ในขณะที่ในสังคมออนไลน์ของจีนก็ได้มีการแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยเสียงส่วนใหญ่ออกไปในทำนองไม่เห็นด้วยกับกฏดังกล่าว อาทิ
“จากนี้ไป พนักงานแต่ละคนจะมีโทรศัพท์โดยเฉลี่ย 2 เครื่อง” คนหนึ่งเขียนโพสต์บน Weibo
อีกคนกล่าวว่า “บริษัทไม่มีความก้าวหน้าพอที่จะปรับปรุงธุรกิจเมื่อทำได้ไม่ดี แต่กลับเปลี่ยนแรงกดดันไปสู่พนักงาน หัวหน้าทำอะไรอยู่”
ในขณะบางคนได้เล่าย้อนไปถึงว่า นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายจ้างชาวจีนที่แก้ปัญหาโดยเฝ้าติดตามลูกจ้างของตน พร้อมกับยกตัวอย่างว่า ปีที่แล้วมีบริษัทสตาร์ทอัพบริษัทหนึ่งในในเมืองหางโจวในมณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ได้ติดตามการเคลื่อนไหวของพนักงานผ่านเบาะรองนั่งในสำนักงาน ที่ถูกระบะว่าเป็นเบาะอัจฉริยะเพื่อให้ฝ่ายบุคคลสามารถตรวจสอบได้ว่าพนักงานคนใดใช้เวลากับโต๊ะทำงานมากน้อยแค่ไหน
ในปี 2019 บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ JD.com ขอให้พนักงานจัดหาเครือข่ายโซเชียลให้กับบริษัท เช่น ข้อมูลเกี่ยวกับครอบครัว เพื่อนฝูง และแม้แต่เพื่อนร่วมชั้น
ในขณะที่อีกหลายเสียงเห็นไปในทางเดียวกันว่า มันเป็น “การเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานมากเกินไป และอาจละเมิดความเป็นส่วนตัวของพวกเขา”
อย่าง่ไรก็ตามเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการในบ้านเราไม่อาจละเลยต่อประเด็นดังกล่าว เพราะในวันที่ 1 มิถุนายน 2565 เมืองไทยจะมีกฎหมาย PDPA (Personal Data Protection Act) พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ซึ่งก่อนถึงเวลานั้นจริงๆ เอสเอ็มอีมีการเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้กันแค่ไหน เพราะอาจไม่ใช่แค่ข้อมูลพนักงาน แม้แต่ข้อมูลลูกค้าเองต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของเสียก่อน การทำตลาดในยุคออนไลน์จึงอาจไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี