สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง และกินระยะเวลามายาวนานร่วม 3 ปี ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ได้เห็นผู้ประกอบการ SME หลายรายยืนหยัดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ บทเรียนเหล่านั้นนับเป็นองค์ความรู้ ถือเป็น “วัคซีน” สำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจในการปรับตัวได้ ลองไปดูวิธีปรับตัวเหล่านั้นกัน
ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้งร้าน “Penguin Eat Shabu” ร้านชาบูบุฟเฟ่ต์ชื่อดัง ร่วมถ่ายทอดกลยุทธ์ในงานสัมมนาออนไลน์ “Think for Growth : SME ยุควิกฤติโควิด-19...ทำอย่างไรให้รอด” จัดโดยบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ว่า สิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการต้องรู้จัก เพื่อให้รอดภายใต้สถานการณ์วิกฤติ คือ “วิชาตัวเบา” หรือการลีน (Lean) เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เริ่มจากหาจุดคุ้มทุนที่รายได้เท่ากับรายจ่ายต่อเดือน และบริหารกระแสเงินสดให้ดี เช่น ทำบัญชีตรวจสอบกระแสเงินสดเป็นประจำ ผ่อนผันกับซัพพลายเออร์ สร้างรายได้หลายช่องทาง และหาแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม
“การลดค่าใช้จ่ายแบบฉับพลันอย่างการลดเงินเดือนหรือจำนวนคน อาจทำให้พนักงานรู้สึกไม่มั่นคง ส่งผลต่อความแข็งแรงขององค์กรได้ ผู้ประกอบการจึงต้องเปลี่ยนสิ่งที่ไม่เกิดมูลค่า หรือ Waste ให้เป็นมูลค่า หรือ Value โดยอิงหลัก 7 Waste เพื่อปรับกระบวนการการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็น แล้วนำเวลาที่เหลือไปสร้างรายได้ใหม่ และก่อให้เกิดคุณค่าแก่ลูกค้าโดยตรง” ธนพงศ์ ระบุ
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการควรประเมินสถานการณ์จากกระแสเงินสดด้วย โดยเฉพาะธุรกิจที่ยังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ หากมีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการใช้จ่ายได้ 3 เดือน ควรหยุดดำเนินธุรกิจเพื่อรักษากระแสเงินสดที่เหลือ แล้วหาช่องทางเตรียมตัวทำธุรกิจใหม่ แต่หากยังมีกระแสเงินสดเพียงพอถึง 6 เดือน ควรเตรียมแผนสำรอง รองรับความไม่แน่นอน เช่น การปิดร้านจากมาตรการล็อคดาวน์ ซึ่งจะยิ่งทำให้สภาพคล่องลดลง ขณะเดียวกัน ธุรกิจที่ยังสร้างกำไรได้และมีกระแสเงินสดเพียงพออย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ยังต้องปรับกลยุทธ์ต่อเนื่อง ขยายช่องทางขายใหม่ เจาะกลุ่มเป้าหมายใหม่ ออกผลิตภัณฑ์ใหม่ รวมถึงเตรียมแผนสำรองในการทำธุรกิจใหม่ล่วงหน้า
6 หลักสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังยืนหยัดได้แม้เจอวิกฤติ
จากประสบการณ์ดูแลธุรกิจเพนกวินอีทชาบูได้ยึด 6 หลักสำคัญที่ทำให้ธุรกิจยังยืนหยัดได้แม้เจอวิกฤติ ได้แก่
1. อย่ามัวขายในสิ่งที่มี ให้ขาย แต่ขายในสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เช่น จัดแคมเปญขายชาบูแถมหม้อ สามารถรับประทานชาบูที่บ้านได้
2. อยากเป็นที่จดจำต้องอย่าทำเหมือนคนอื่น
3. อยากให้คนไม่ลืม ต้องตะโกนตลอดเวลา มีวินัยในการลงคอนเทนต์เป็นประจำ เพิ่มโอกาสในการรับรู้และซื้อสินค้า
4. อย่าขายท่ามาตรฐานให้ขายแบบมีชั้นเชิง เล่าเรื่องให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย
5. ปรับตัวไม่พอ ต้องปรับให้เร็วกว่าคนอื่น
6. ทำธุรกิจอย่าคิดรอดไปคนเดียว ซึ่งร้านได้ทำ Collaboration Campaign อาทิ ร่วมกับผู้ประกอบการโรงแรมในภูเก็ต จัดโปรโมชั่นแถมแพ็กเกจที่พัก ตลอดจนรวมกลุ่มกับผู้ประกอบการร้านอาหาร ร่วมแบ่งปันองค์ความรู้และจัดงานแฟร์สร้างรายได้ในช่วงล็อคดาวน์
สร้างโอกาสทำสินค้าที่ทุกคนต้องการ
ขณะที่กิตติพงษ์ สุขเคหา กรรมการผู้จัดการ บริษัท แรบบิท เบสท์ ฟู๊ด จำกัด เจ้าของธุรกิจ “บะหมี่ถ้วยร้อน” เปิดเผยว่า หลังธุรกิจเดิมได้รับผลกระทบอย่างหนัก จึงพยายามหาทางออกด้วยการทำสินค้าที่จำเป็นสำหรับทุกคนแม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาด ประกอบกับมาตรการล็อกดาวน์ทำให้ไม่สามารถเข้าร้านอาหารได้ จึงเกิดไอเดียออกผลิตภัณฑ์บะหมี่ถ้วยร้อน และสร้างจุดเด่นให้สินค้าสามารถรับประทานได้ทุกที่ รสชาติอร่อย และตัวถ้วยมีนวัตกรรมทำความร้อนได้ถึง 96 องศาเซลเซียส สร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยให้แก่ผู้บริโภคตอบโจทย์ความต้องการช่วงโควิด-19 ซึ่งก่อนวางจำหน่ายบริษัทได้จดสิทธิบัตรบะหมี่ถ้วยร้อนแล้ว แต่ไม่ได้ปิดกั้นหากผู้ประกอบการอื่นจะออกผลิตภัณฑ์ลักษณะคล้ายกัน
เช่นเดียวกับธวัชชัย สหัสสพาศน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โซดา พริ้นติ้ง จำกัด เจ้าของธุรกิจสิ่งพิมพ์ของขวัญ เล่าเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมางานเทศกาลต่างๆ โดยเฉพาะงานรับปริญญาหายไปตลอดทั้งปี ทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบ จึงยึดหลักปรับ/เปลี่ยน/เร็ว คือ ปรับการทำงานที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น เปลี่ยนวิธีการที่คิดว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์ออก และใช้ความเร็วเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ออกผลิตภัณฑ์ใหม่โดยอาศัยทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเครื่องจักรพิมพ์ และสร้างดีไซน์ที่แตกต่างให้สินค้า เช่น หน้ากากผ้าพิมพ์ลายที่จับคู่เข้ากับชุดได้ เจาะตลาดวัยรุ่นในช่วงหน้ากากอนามัยขาดแคลน และผ้าห่มที่สามารถพิมพ์ชื่อลูกบนผืนผ้าได้ เจาะกลุ่มแม่และเด็ก ร่วมกับการสื่อสารให้สินค้าของโซดา พริ้นติ้งเป็นของขวัญที่มีชิ้นเดียวในโลก
ในวิกฤตมักมีโอกาสอยู่เสมอ
www.smethailandclub.com
ศูนย์รวมข้อมูลธุรกิจเอสเอ็มอี